xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ยืนยกฟ้อง อดีตโปรแกรมเมอร์คดีหมิ่นเบื้องสูง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกฟ้องอดีตโปรแกรมเมอร์ คดีโพสต์ข้อความหมิ่นหมิ่นเบื้องสูง ระบุหลักฐานยังไม่ชัดเจน จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

ที่ห้องพิจารณา 911 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (26 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีหมิ่นเบื้องสูง หมายเลขดำ อ.4857/2554 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสุรศักดิ์ หรือสุรภักดิ์ ภูไชยแสง หรือภูไชยแสน หรือภูไชแสง อายุ 43 ปี โปรแกรมเมอร์อิสระ ในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ตามประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 3, 14, 17

อัยการโจทก์ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2554 ระบุความผิดว่า จำเลยเป็นเจ้าของอีเมล “dorkao@hotmail.com และ Facebook ชื่อ “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” โดยเมื่อวันที่ 4-16 พ.ค. 2554 จำเลยได้เขียนข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น ใส่ความ แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตเหตุเกิดที่แขวงถนนเพชรบุรี เขตราชเทวี, แขวงและเขตวังทองหลาง กทม.,ทั่วราชอาณาจักรไทยเกี่ยวพันกัน จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดี

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่า การวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์จะต้องพิจารณาถึงความน่าเชื่อถือของวิธีการที่ใช้สร้าง การเก็บรักษา ความครบถ้วน ที่ต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลงของข้อความหรือวิธีการที่ใช้ในการแสดงตัวผู้ส่งข้อมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บรักษาพยานหลักฐานทางคอมพิวเตอร์ที่ต้องพยายามเก็บรักษาข้อมูลต้นฉบับไว้เพราะการเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละครั้ง ย่อมมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ข้อมูลอาจถูกแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย ซึ่งปรากฏว่าหลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวและยึดคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของจำเลยแล้ว กลับมีผู้เปิดใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของกลางในวันที่ 2 ก.ย. 2554 และวันที่ 7 ก.ย. 2554 ซึ่งเป็นวันก่อนที่คอมพิวเตอร์จะถูกส่งไปทำการตรวจพิสูจน์อาจเป็นช่องทางให้เกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ง่าย จึงทำให้ข้อมูลที่ได้จากการตรวจพิสูจน์คอมพิวเตอร์ของกลางมีข้อบกพร่องกระทบต่อความน่าเชื่อถือ

จึงยังไม่อาจรับฟังได้แน่ชัดว่า ข้อมูลการใช้อีเมล dorkao@hotmail.com และ Facebook ชื่อ “เราจะครองแผ่นดินโดยทำรัฐประหาร” เกิดขึ้นจากการใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังมีความสงสัยว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรค 2 พิพากษายกฟ้อง ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในคดีหมิ่นเบื้องสูง ศาลจะต้องใช้ดุลยพินิจอย่างละเอียดรอบคอบเนื่องจากเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ และอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทย อีกทั้งการลงโทษจำเลยในคดีอาญาจะต้องมีพยานหลักฐานแน่นหนาชัดเจน ซึ่งจากการสืบพยานฝ่ายโจทก์และจำเลยปรากฏว่าภายหลังจำเลยถูกจับกุมและถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำแล้ว กลับมีผู้เปิดใช้คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ที่อาจทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงไปได้ ประกอบกับพยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนยี (ปอท.) ไม่ได้เบิกความยืนยันว่าจำเลยมีพฤติการณ์ในการกระทำผิดตามฟ้องอย่างไรบ้าง โดยอ้างเพียงข้อมูลจากสายลับในชั้นสืบสวนและจับกุมจำเลย แต่ก็ไม่ได้นำสายลับดังกล่าวมาเบิกความต่อศาล ซึ่งจำเลยมีสิทธิที่จะโต้แย้งพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ ทั้งนี้แม้จำเลยจะมีความคิดและทัศนคติแตกต่างจากคนทั่วไปหรือกลุ่มการเมืองอื่นๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยจะเป็นผู้กระทำความผิดข้อหาหมิ่นเบื้องสูง พยานหลักฐานของโจทก์ยังมีน้ำหนักไม่เพียงพอ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย ที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืนและให้คืนของกลาง

ภายหลังนายสุรศักดิ์ หรือสุรภักดิ์ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่ศาลอุทธรณ์เมตตาพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากตนถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำนาน 14 เดือน และไม่สามารถประกันตัวได้จนกระทั่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงได้รับอิสรภาพ และหลังจากนี้จะกลับไปทำงานด้านคอมพิวเตอร์ตามเดิม และคงจะไม่ฟ้องกลับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ คาดว่าอัยการโจทก์จะไม่ยื่นฎีกาเช่นกัน คดีน่าจะถึงที่สุดแล้ว ทั้งนี้อยากให้คดีของตนเป็นบรรทัดฐานในการจับกุมดำเนินคดีผู้ต้องหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งควรจะมีพยานหลักฐานให้ชัดเจนกว่านี้ ก่อนจะทำการจับกุมผู้ต้องหา และเห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติควรจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ฉบับนี้ด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น