xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กกุ้ย” หนุนคำสั่ง คสช.ปรับโครงสร้าง ตร. กะทัดรัดและเป็นธรรมมากขึ้น

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ  (รรท.ผบ.ตร. )
รรท.ผบ.ตร.หนุนประกาศ คสช.ปรับโครงสร้าง ก.ต.ช.-ก.ตร. ชี้เพิ่มตำแหน่งปลัด กห.เพิ่มมิติงานด้านความมั่นคง ให้อำนาจวุฒิสภาแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงวุฒิสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง กต.-กอ. ส่วนให้อำนาจ ผบ.ตร.เสนอชื่อ ผบ.ตร.คนต่อไปเป็นไปตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ม.57 ส่วนการแต่งตั้งระดับรอง ผบก.-ผกก.ก็ต้องเข้า ก.ตร.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมสูงสุด



วันนี้ (15 ก.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 87/2557, 88/2557 และ 89/2557 ที่มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และให้อำนาจ ผบ.ตร.เสนอชื่อ ผบ.ตร.คนต่อไปว่า เรื่องการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการ ก.ต.ช.โดยเปลี่ยนองค์ประกอบ ก.ต.ช.จากเดิมที่มีกรรมการ 11 คน มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ และผบ.ตร. นอกจากนี้มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 4 ด้านอีก 4 คน แต่ในคำสั่ง คสช.ล่าสุดปรับองค์ประกอบของคณะกรรมการ โดยให้มีระดับการเมืองเพียง 2 คจากเดิมที่มีถึง 3 คน คือ เหลือเพียงนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย คาดว่าจะเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลตำรวจและเป็นประธาน ก.ตร. ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งจะเพิ่มปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นเรื่องที่พิจารณาจากภารกิจ เพราะงานของตำรวจเป็นงานด้านความมั่นคง การให้ปลัดกระทรวงกลาโหมเข้ามา เพื่อให้มีมิติด้านความมั่นคงทำให้ ก.ต.ช.มีความครบถ้วน

“ก็ตรงกับที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเสนอให้มีตำรวจกองประจำการ หรือการเกณฑ์ตำรวจ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จะใช้ตำรวจเกณฑ์มาทำงาน อีกท่านคือผู้อำนวยการสำนักงบประมาณจะทำให้งานของ ก.ต.ช.ครบถ้วน เพราะเมื่อมีแผนก็จะมีเรื่องเงินด้วยให้เดินไปได้ ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิมมี 4 ก็เหลือ 2 ท่าน โดยการแต่งตั้งโดยวุฒิสภาสอดคล้องกับกรรมการตุลาการ กรรมการอัยการซึ่งจะมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยวุฒิสภา และเปลี่ยนให้ ผบ.ตร.เป็นกรรมการและเลขานุการ สรุปแล้วบอร์ด ก.ต.ช.ก็จะกะทัดรัดมีกรรมการเพียง 7 คน” รรท.ผบ.ตร.กล่าว

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่สำคัญ คือ การเลือก ผบ.ตร. เดิมที พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ระบุว่านายกรัฐมนตรีจะเสนอรายชื่อนายตำรวจยศพล.ต.อ.ให้ ก.ต.ช.เห็นชอบเลื่อนเป็น ผบ.ตร.เป็นการเมืองเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.แก้ไขว่าการเสนอ ผบ.ตร.คนต่อไป ให้ ผบ.ตร.คนปัจจุบันเป็นคนเสนอ จากเดิมที่ให้นายกรัฐมนตรีเลือกนายตำรวจยศ พล.ต.อ. ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 14 ท่าน คือ จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร.จำนวน 7 นาย ที่ปรึกษา (สบ 10) จำนวน 5 นาย และหัวหน้านายตำรวจราชสำนักประจำ (สบ 10) อีก 1 นาย เสนอ ก.ต.ช.เห็นชอบ เปลี่ยนเป็นให้ ผบ.ตร.เลือก รอง ผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติ จึงเหลือแค่ 8 นาย ขณะที่ปีนี้เมื่อนับคนที่เกษียณก็จะเหลือแคนดิเดตอยู่เพียง 5 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรชาน จเรตำรวจแห่งชาติ โดย ผบ.ตร.ก็จะเลือก 1 ใน 5 เสนอให้ ก.ต.ช.เห็นชอบ

“เมื่อ ผบ.ตรเสนอใครคนใดคนหนึ่งเข้าไปแล้ว ก.ต.ช.ไม่เห็นชอบก็เสนอคนใหม่ เป็นหลักการอยู่แล้ว ซึ่งการจะพิจารณาเสนอชื่อใครนั้น ตามกฎหมายตำรวจเราจะพิจารณาจากคุณวุฒิ ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ รวมทั้งอาวุโสด้วย ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มาตรา 57” พล.ต.อ.วัชรพลระบุ

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวอีกว่า สำหรับกระบวนการในการสรรหา ผบ.ตร.คนต่อไปโดยหลัก คือ ปลายเดือนกรกฎาคม-ต้นเดือนสิงหาคม ก็จะต้องพิจารณาแล้ว เพราะตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง การแต่งตั้งนายพลต้องเสร็จภายในเดือนสิงหาคม ขณะนี้ก็ขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช.ซึ่งทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีว่าท่านมีความประสงค์จะนัดประชุมเลยก็สามารถเรียกประชุมจัดวาระได้ หรือจะรอให้มีคณะรัฐมนตรีมีนายกรัฐมนตรีก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหัวหน้า คสช.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ใครมีอำนาจในการเสนอ ผบ.ตร.คนใหม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ตามกฎหมายขณะนี้ตนเองมีศักดิ์และสิทธิตามกฎหมายทำหน้าที่แทน ผบ.ตร.ได้ทุกประการ หากหัวหน้า คสช.ถอดตนเองออกจาก รรท.ผบ.ตร. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ก็จะกลับมาทำหน้าที่เหมือนเดิม สำหรับชื่อคนที่จะเสนอนั้นตอนนี้ก็อยู่ในใจ ส่วนคุณสมบัติที่จะนำมาพิจารณาก็เป็นไปตามมาตรา 57

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า คำสั่ง คสช.ยังมีการปรับโครงสร้างในส่วนของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. จากเดิมที่ ก.ตร.มีองค์ประกอบ 3 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ก.ตร.โดยตำแหน่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เลขานุการ ก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ รองผบ.ตร. ส่วนที่ 2 ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิมาจากการเลือกตั้งจากอดีตตำรวจยศพล.ต.ท.ขึ้นไป โดยให้ตำรวจยศ พ.ต.อ.ขึ้นไปเลือก จำนวน 5 ท่าน และส่วนที่ 3 ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ โดยให้ ก.ตร.โดยตำแหน่งเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขาต่างๆ รวมมี ก.ตร.จำนวน 22 ท่าน แต่หัวหน้า คสช.อยากให้อำนาจการแต่งตั้งอยู่ในมือผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อที่ให้ผู้บังคับบัญชาสามารถให้คุณกับข้าราชการตำรวจได้ ดังนั้น คณะกรรมการ ก.ตร.ใหม่ตามประกาศ คสช.กำหนดให้นายกรัฐมนตรียังเป็นประธาน แต่ให้ ผบ.ตร.เป็นรองประธาน และให้เลขาธิการ ก.พ. จเรตำรวจแห่งชาติ รอง ผบ.ตร. เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการคัดเลือกของวุฒิสภาอีก 2 ท่าน รวมก.ตร.ชุดใหม่มีเพียง 13 ท่าน อย่างไรก็ตาม คำสั่ง คสช.ในเวลานี้ยังไม่มีผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง ก.ต.ช.และก.ตร. จึงให้กรรมการเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไป ทั้งนี้ เมื่อมีวุฒิสภาแล้วก็จะมีการคัดเลือกและจะมีคณะกรรมการครบถ้วนตามคำสั่ง

รรท.ผบ.ตร.กล่าวว่า สำหรับเรื่องการจัดลำดับอาวุโส เดิมสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มีหลักเกณฑ์การจัดลำดับอาวุโสในการแต่งตั้งมีแต่การจัดลำดับอาวุโสในการรักษาราชการแทนซึ่งเป็นไปตามระเบียบ ก.ตร.ว่าด้วยการกำหนดลำดับอาวุโสของข้าราชการตำรวจในการรักษาราชการแทน พ.ศ. 2550 ซึ่งอาวุโสในการรักษาราชการแทนมีข้อบกพร่องหลายประการทำให้มีการฟ้องในศาลปกครองว่าไม่เป็นธรรมตามที่ พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา (สบ 10) ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง จึงต้องมีการแก้ไข ที่ประชุม ก.ตร.จึงเห็นว่าต้องแก้ไขอาวุโสให้ถูกกต้องตามคำพิพากษาศาลปกครอง แต่การแก้ไขมีข้อจำกัดว่าการแก้ไขกฎ ก.ตร.ต้องใช้เวลา 180 วัน จึงไม่ทันการแต่งตั้งโยกย้ายวาระประจำปีในครั้งนี้ คสช.จึงแก้ปัญหาโดยออกประกาศให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครอง โดยสำนักงานกำลังพลจะไปแก้ไขและออกประกาศใหม่ตามที่ศาลปกครองวินิจฉัยไว้แล้ว จะได้เกิดความเป็นธรรมขึ้น

“ขอบคุณหัวหน้า คสช.ที่แก้ไขให้ผู้บังคับบัญชาใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถให้คุณให้โทษผู้ใต้บังคับบัญชาได้ การปรับให้ ก.ตร.ให้มีกรรมการที่กะทัดรัด เป็นผู้บังคับบัญชาโดยส่วนใหญ่มีอำนาจในการแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งระดับนายพล-ระดับ ผกก. ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ต้องมาดำเนินการว่ามีกระบวนการอะไรที่ผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับ สามารถให้ข้อคิดเห็นหรือเสนอแนะเสนอขึ้นมาตามขั้นตอนเพราะตามประกาศ คสช.การแต่งตั้งระดับรอง ผบก.-ผกก.ก็ต้องเข้า ก.ตร.ซึ่งผู้บังคับบัญชาต้องกลั่นกรองขึ้นมาก่อน ขณะเดียวกัน ผบ.ตร.ต้องรับผิดชอบกับสังคมในการแต่งตั้ง” รรท.ผบ.ตร.กล่าว

พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวอีกว่า การลดฝ่ายการเมืองลงในการเป็นคณะกรรมการ ก.ต.ช.และให้ ผบ.ตร.มีอำนาจเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนต่อไป ถือเป็นเรื่องที่ดีตามนโยบายของหัวหน้า คสช.ที่ต้องการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความเข้มแข็ง ทำให้เราได้พิจารณาผลงานของคนของเราเอง รวมทั้ง ก.ตร.ด้วย ทำให้ผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำงาน เอาผลงานของผู้ใต้บังคับบัญชามาดูใครจะเหมาะสมอย่างไร ซึ่งคำสั่ง คสช.ไม่ได้ยกเลิกกฎ ก.ตร.ว่าด้วยการแต่งตั้ง ยกเลิกประเด็นเดียวเรื่องอายุราชการรวม กรณีที่มีคนไปฟ้องว่าการกำหนดเงื่อนไขอายุราชการรวมไม่มีความเป็นธรรมซึ่งศาลได้ชี้แล้ว อายุราชการรวมก็เกี่ยวข้องกับข้าราชการตำรวจไม่มาก ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับตำแหน่งเลื่อนไหลเช่นตำแหน่งอาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ

ด้าน พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า คำสั่ง คสช.ที่ให้ ผบ.ตร.เป็นคนเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนต่อไปนั้น ในหลักการตนเองเห็นด้วยเป็นเรื่องที่ดี การให้ ผบ.ตร.เสนอชื่อ ผบ.ตร.คนต่อไปเพราะ ผบ.ตร.เป็นผู้ที่มีความใกล้ชิดรู้ว่าผู้ใต้บังคับบัญชาแต่ละคนทำงานอย่างไร และเป็นการป้องกันฝ่ายการเมืองเข้ามามีอิทธิพล ตราบใดที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อ ผบ.ตร. สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็จะไม่พัฒนา ถือว่าหัวหน้า คสช.มีวิสัยทัศน์กล้าหาญให้ ผบ.ตร.เป็นคนเสนอ มั่นใจว่าองค์กรจะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น มั่นใจว่าการปฏิรูปตำรวจจะประสบความสำเร็จ ตำรวจมีความสำคัญในการดูแลความสงบเรียบร้อยการดูแลทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตำรวจถูกแทรกแซงจากอำนาจทางการเมือง คำสั่งนี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาแต่งตั้ง และพิจารณาหลักอาวุโสอย่างชัดเจนเป็นการเริ่มต้นในการปรับปรุงพัฒนาเพื่อเป็นตำรวจของประชาชน ดูแล ทุกข์สุขของประชาชน

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่มีปลัดกลาโหมเข้ามาเป็นกรรมการ ก.ต.ช.คิดเห็นอย่างไร พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า งานหลักตำรวจดุแลเรื่องอาชญากรรมก็ตามแต่งานด้านความมั่นคงก็มีความสำคัญ เรามีการชุมนุม มีการต่อสู้ทางการเมือง ใช้อำนาจตำรวจอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ สุดท้ายก็ต้องทหารมาดู เรื่องความมั่นคงเป็นเรื่องละเอียดอ่อนการมีปลัดกลาโหมเข้ามาอยู่ใน ก.ต.ช.ก็จะมีบทบาทในการกำหนดนโยบายด้านความมั่นคงให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น