xs
xsm
sm
md
lg

ล้อมคอกวางมาตรการเข้มป้องกันโจรสกิมเมอร์บัตร ATM

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)
ตำรวจร่วมผู้ประกอบการธนาคารและอินเทอร์เน็ต วางมาตรการเข้มการสกิมเมอร์บัตรเอทีเอ็ม

วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ประชุมร่วมผู้แทนสมาคมพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย ผู้แทนธนาคารพาณิชย์ ผู้แทนหน่วยงานผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้อง เช่น บก.ป., บก.ปอท., บก.ปอศ., สตม., ตท. เพื่อหามาตรการป้องกันขบวนการคัดลอกข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือแก๊งสกิมเมอร์เอทีเอ็ม ที่ระบาดในพื้นที่ต่างๆ โดยใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

พล.ต.อ.เอกกล่าวว่า วันนี้เป็นการร่วมกันหารือแนวทางการปฏิบัติกรณีเมื่อเกิดคดีเกี่ยวกับการคัดลอกข้อมูลบัตร ว่าคดีที่เกิดขึ้นมีแผยปทุษกรรมอย่างไร เพื่อนำมาวางแผนหามาตรการในการป้องกันปราบปราม ที่ผ่านมาจากสถิติตำรวจสามารถจับกุมแก๊งเหล่านี้ได้มาก ทั้งพื้นที่ สตม., บก.ป., บก.ปอศ.เป็นผู้จับกุม โดยเบื้องต้นได้กำหนดแนวทางหากมีคดีเกิดขึ้นให้ บก.ปอศ.เป็นเจ้าภาพหลังจากนี้ ตำรวจจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

พล.ต.อ.เอกกล่าวอีกว่า จากข้อมูลเดิมฐานการกระทำผิดมาจากต่างชาติคัดลอกข้อมูลมาจากต่างประเทศแล้วนำมาใช้ มากดเงินในประเทศไทยโดยมีคนไทยร่วมกระทำความผิด แนวโน้มตอนนี้คนไทยเริ่มเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีทำให้มากระทำผิดเสียเอง ในส่วนที่เกี่ยวกับต่างชาตินั้นทางกองการต่างประเทศจะเร่งจัดทำฐานข้อมูลแก๊งชาวต่างชาติให้รวมศูนย์การปฏิบัตินำข้อมูลที่กระจัดกระจายมารวบรวมได้ โดยเฉพาะชาวรัสเซีย ยูเครน และมาเลเซีย เพราะมีข้อมูลการเข้ามากระทำผิดในประเทศไทยด้วยการนำข้อมูลบัตรอิเล็กทรอนิกส์เข้ามารูดซื้อสินค้าในไทยจำนวนมาก รวมทั้งเฝ้าระวังและสกัดกั้นการซื้อขายเครื่องสกิมเมอร์จากต่างประเทศ

ด้านนายธวัชชัย ยงกิตติกุล เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีความชัดเจนมากขึ้นว่าความผิดใดใครรับผิดชอบ หลังจากก่อนหน้านี้ยังเกิดความสับสนว่าเกิดเหตุแล้วจะแจ้งหน่วยไหน เนื่องจากตำรวจมีหลายหน่วยงาน สรุปได้ว่าหากเป็นความผิดเกี่ยวกับการใช้บัตร ให้แจ้งที่ บก.ปอศ. ที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ ไม่เกี่ยวกับบัตรแจ้งที่ บก.ปอท. ส่วนกรณีชาวต่างชาติที่ก่อนหน้านี้สามารถเปิดบัญชีได้โดยใช่พาสปอร์ตก็ตรวจสอบไม่ได้ว่าพาสปอร์ตจริงหรือปลอม สามารถตรวจสอบได้ง่ายขึ้นจากระบบของกองการต่างประเทศ

นายธวัชชัยกล่าวอีกว่า แต่ละธนาคารมีมาตรการป้องกันและตรวจจับความผิดปกติจากการถูกลักลอบคัดลอกข้อมูลบัตรเอทีเอ็ม หาจุดที่บัตรถูกคัดลอกข้อมูลและจะสามารถอายัดข้อมูลบัตรได้ทันทีภายใน 1-2 ชั่วโมง รวมถึงจะอายัดบัตรที่ใช้บริเวณโดยรอบด้วย หากตรวจพบความผิดปกติ ขณะเดียวกันจะเร่งติดตั้งเครื่องป้องกันการสกิมเมอร์ให้ครบทุกตู้เอทีเอ็มภายใน 2 เดือน

ส่วนการเปลี่ยนบัตรเอทีเอ็มแบบแถบแม่เหล็กเป็นแบบฝังชิปเพื่อป้องกันการคัดลอกข้อมูลบัตรนั้น ตอนนี้ทุกธนาคารเริ่มมีการเปลี่ยนแล้ว และจะเปลี่ยนได้ทั้งหมดภายในวันที่ 1 มกราคม 2559 หลังวันนี้ทุกธนาคารต้องออกบัตรที่ฝังชิปเท่านั้น จากข้อมูลตอนนี้ยังไม่มีระบบหรือเครื่องมือที่สามารถคัดลอกข้อมูลจากชิปได้ และขอให้ลูกค้าบัตรสบายใจหากลูกค้าถูกคัดลอกข้อมูลไปใช้ ทางธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเสียหายทั้งหมด


(แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น