xs
xsm
sm
md
lg

“กำธร อุ่ยเจริญ” ผู้นำหน่วยกู้บึ้มแห่งยุค

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (อีโอดี)
สัมภาษณ์พิเศษ...โดย ศศิธร ทองพันชั่ง

“ในขณะที่ทุกคนเดินหนี เป็นขณะเดียวกันกับที่เราเดินเข้าไปเพื่อเก็บกู้วัตถุระเบิดที่จะสร้างอันตราย นั่นเป็นความภาคภูมิใจของ...อีโอดี”

“ระเบิด” อาวุธที่เราต่างรู้กันดีว่าอานุภาพของมันนั้นร้ายแรง พร้อมสร้างความเสียให้แก่สิ่งที่อยู่รอบๆ รัศมีการทำลายล้างทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมหาศาล เชื่อว่าหากทุกคนเลือกทางเดินได้คงไม่มีใครอยากเฉียดกายเข้าใกล้ แต่สำหรับ พ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (อีโอดี) หรือ “ผู้กำกับกำธร” เขาพร้อมที่จะเสี่ยงชีวิต เพื่อแลกกับชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์

จากเด็กหนุ่มจังหวัดราชบุรี ที่เปี่ยมด้วยความมุ่งมั่น อยากรู้ อยากทำงาน อยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาวุธและวัตถุระเบิด จึงสมัครสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนจ่าอากาศ เมื่อปี 2528 หลังสำเร็จหลักสูตร ได้ประดับยศทหารอากาศชั้นยศเรืออากาศโท ต่อมา พ.ต.อ.กำธรได้ทำเรื่องขอสับเปลี่ยนมารับราชการเป็นตำรวจในปี 2539 เนื่องจากทางหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของทางสำนักงานตำรวจต้องการคนมาร่วมทำงาน ในครั้งแรกที่ พ.ต.อ.กำธรย้ายมานั้นได้ติดยศร้อยตำรวจโท ตำแหน่งรองสารวัตรงานเก็บกู้วัตถุระเบิด ถือเป็นก้าวแรกในสายงานตำรวจ ก่อนจะเติบโตในสายงานหน่วยเก็บกู้วัตถุระเบิดของกองบัญชาการตำรวจนครบาลมาโดยตลอด จนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดในหน่วยงานในปัจจุบัน คือ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจนครบาล (อีโอดี) ตลอดระยะเวลาการทำงานหลายสิบปีที่ต้องคลุกคลีกับงานระเบิด ทั้งที่ได้รับแจ้งเหตุพบวัตถุต้องสงสัยหรือเป็นระเบิด พ.ต.อ.กำธรก็จะต้องเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมทั้งเข้าไปเก็บกู้วัตถุระเบิดแบบเสี่ยงชีวิตอยู่บ่อยครั้ง

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ผกก.กำธรต้องเจองานพิสูจน์ฝีมือครั้งใหญ่ เมื่อเกิดเหตุระเบิดสะเทือนขวัญที่ซอยลาดปลาเค้า 72 แยก 14 แขวงอนุสาวรีย์ เขตบางเขน กทม. ใครจะคาดคิดว่าจะมีคนพบระเบิดอายุกว่า 70 ปี แล้วนำมาขายให้ร้านขายของเก่าเพียงเพื่อหวังแลกกับเงิน ก่อนระเบิดดังกล่าวถูกตัดด้วยหัวตัดแก๊ส ประกายไฟจากการตัดครั้งนั้นทำให้ระเบิดลูกดังกล่าวทำงาน แรงระเบิดทำให้บ้านเรือนข้างเคียงได้รับความเสียหายหลายหลังคาเรือน มีผู้บาดเจ็บรวม 19 ราย ซ้ำร้ายที่สุดคือมีผู้เสียชีวิตจากเหตุครั้งนี้ถึง 8 ราย และนี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ได้พบกับ พ.ต.อ.กำธร ซึ่งได้เข้าตรวจสอบและเก็บหลักฐานของในเหตุดังกล่าว ท่ามกลางเศษซากความเสียหายและความสูญเสียจากแรงระเบิด

พ.ต.อ.กำธรกล่าวถึงเหตุระเบิดในครั้งนี้ว่า เหตุครั้งนี้ที่มีความเสียหายรุนแรงเนื่องจากระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดอากาศ ชนิดทำลายอเนกประสงค์ มีน้ำหนัก 500 ปอนด์ ถูกใช้ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกทิ้งตามเส้นทางคมนาคมและสะพานต่างๆ เพื่อทำลายเส้นทางการเดินทางของทหารญี่ปุ่น โดยระเบิดอากาศมีส่วนประกอบ 3 ส่วน คือ ตัวลูกระเบิด ชนวนส่วนหัว และชนวนส่วนท้ายซึ่งจะมีหางส่วนท้ายที่ใช้ในการทรงตัว เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดลงมากระทบพื้นก็จะเกิดระเบิดขึ้น แต่ระเบิดดังกล่าวคาดว่าอาจจะตกลงบนดินที่อ่อนตัวทำให้ระเบิดไม่ทำงานหรือที่เรียกกันว่าระเบิดด้าน เมื่อระยะเวลาผ่านไประเบิดอาจถูกดินทับถมลึกลงไปใต้ดิน ส่วนหัวเรือนชนวนถูกกัดกร่อนหรือถูกทำลายไปตามสภาพของภูมิประเทศ โดยขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ในการทำระเบิด ทั้งนี้เหตุระเบิดครั้งนี้น่าจะเกิดจากการใช้หัวตัดแก๊สตัดระเบิดดังกล่าว ทำให้ประกายไฟทำปฏิกิริยากับดินระเบิดจนเกิดระเบิดขึ้น

ผกก.กำธร ยังฝากการปฏิบัติเชิงรุก โดยการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้ช่วยก่อนสอดส่องดูแล

“อยากจะฝากหลักในการสังเกตวัตถุต้องสงสัย ไว้ 4 ข้อ คือ 1. ไม่เคยเห็น อะไรที่ไม่เคยเห็นให้สงสัยไว้ก่อน 2. ไม่เป็นของใคร ของทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีเจ้าของ เช่น กระเป๋าถือต้องมีคนถือ หากไม่มีเจ้าแสดงตัวให้สงสัยไว้ก่อน 3. ไม่ใช่ที่อยู่ ของทุกสิ่งต้องมีที่อยู่ เช่น ถังแก๊สหรือดับเพลิง ต้องมีที่วางเฉพาะเจาะจง หากมาวางอยู่ริมถนน หรือที่อื่นที่ไม่ใช่ที่ของมันให้สงสัยไว้ก่อน 4. ดูไม่เรียบร้อย หากพบวัตถุที่มีสายไฟยื่นออกมา มีคราบน้ำมัน มีเทปพันไว้ ดูไม่เรียบร้อยให้สงสัยไว้ก่อน อย่าแตะต้องหยิบยกเคลื่อนย้าย และเมื่อพบควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาตรวจสอบ” พ.ต.อ.กำธรกล่าว

การทำงานที่ต้องเสี่ยงชีวิตตลอดเวลา “ทุกนาทีคือชีวิต” ไม่ใช่เพียงชีวิตของผู้เก็บกู้วัตถุระเบิดเองเท่านั้น ยังมีชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนบริเวณใกล้เคียงที่ต้องเสี่ยงไปด้วย นั่นถือเป็นสิ่งสำคัญในการเก็บกู้วัตถุระเบิด พ.ต.อ.กำธรได้อธิบายถึงปรัชญาของนักเก็บกู้ระเบิดไว้ให้ได้ทราบกัน 4 ข้อ คือ

1. ชีวิต คือต้องปลอดภัยทั้งชีวิตของผู้เก็บกู้ และประชาชนทั่วไป 2. ทรัพย์สินของทุกคนต้องปลอดภัย ไม่เสียหาย 3. ต้องมีวัตถุพยานเพื่อนำไปประกอบการดำเนินคดี โดยต้องเก็บรวบรวมให้ครบถ้วน 4. การดำเนินชีวิตของประชาชน ต้องเป็นไปตามปกติสุข การเก็บกู้ต้องไม่ทำให้เกิดความแตกตื่น ตื่นตระหนกตกใจ

นอกจากนี้ยังมีการแจ้งพบวัตถุต้องสงสัยหรือแม้แต่เหตุระเบิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกันแบบรายวัน ทำให้ พ.ต.อ.กำธร และทีมงานเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิดต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตลอด 24 ชั่วโมง ยิ่งทุกวันนี้เกิดความขัดแย้งรุนแรงหลายครั้งในสังคมทั้งเรื่องส่วนตัวหรือเรื่องการเมืองซึ่งระเบิดมักจะถูกนำมาใช้งานอยู่บ่อยครั้ง เมื่อระเบิดมีมากขึ้นก็หมายถึงว่าเจ้าหน้าที่เก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดก็มีงานให้ทำไม่ขาดมือเช่นกัน โดยเมื่อได้รับแจ้งหรือประสานเข้ามา พ.ต.อ.กำธร และทีมงานเก็บกู้และตรวจสอบวัตถุระเบิดก็พร้อมจะเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุทันที เราจึงสอบถามถึงสิ่งที่ต้องเตรียมเพื่อให้พร้อมรับสำหรับการเก็บกู้วัตถุระเบิด “สิ่งที่ต้องเตรียมให้พร้อมคือ อุปกรณ์ต่างๆ ทั้งบอมบ์สูท เครื่องยิงความดันสูง อุปกรณ์ที่มีอยู่ต้องพร้อมใช้งานตลอดเวลา โดยต้องมีการวางแผน และการกั้นพื้นที่เพื่อรองรับความเสียหายกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการเก็บกู้ระเบิด นั่นคือ “หัวใจ” หัวใจต้องพร้อม ต้องมีสติในการวางแผน และรับข้อมูลให้ได้มากที่สุด ต้องทราบชนิดระเบิด ถ้าหากเป็นแบบมาตรฐานก็ง่ายหน่อย เพราะเรียนรู้กันมาแล้ว แต่หากเป็นแสวงเครื่องที่คนประดิษฐ์ขึ้นมาแล้วนำมาวางไว้ เรายิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น” พ.ต.อ.กำธรกล่าวทิ้งท้าย

ผกก.อารมณ์ดียังได้เปิดใจหลังเสร็จสิ้นภารกิจอันตึงเครียด

โดยส่วนตัวหลังเสร็จภารกิจ

“หากผมเครียดหรือกดดันจากการทำงาน สิ่งที่ผมจะทำก็คือการฟังเพลง ผมเป็นคนชอบฟังเพลง ฟังได้ทุกยุคทุกแนว” โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หากเป็นวันหยุดหรือเวลาว่างซึ่งมีไม่มากนัก ผมมักจะชอบเล่นวิทยุบังคับ เครื่องบินบังคับ ชอบเปิดดูระบบและวงจรต่างๆ ที่เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ก็คงหนีไม่พ้นเพราะผมชอบทางนี้” พ.ต.อ.กำธรกล่าวพร้อมหัวเราะ “แต่บางครั้งก็มักจะไปเดินตามห้างพันธุ์ทิพย์ ตลาดบ้านหม้อ ก็ไปเดินดูเพื่อศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ และที่ผ่านมาก็เคยร่วมทำงานวิจัยกับหลายสถาบัน เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ทำการวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจใต้ท้องรถ”

ภูมิใจกับภารกิจเก็บกู้อย่างไร

“ถือเป็นหน้าที่ ไม่ได้เปรียบตนเองเหมือนเป็นวีรบุรุษหรือฮีโร่ เพราะงานที่ทำอยู่เป็นการช่วยเหลือผู้คนให้ปลอดภัยจากเหตุระเบิดที่จะนำพามาซึ่งความสูญเสีย ในขณะที่ทุกคนเดินหนี เป็นขณะเดียวกันกับที่เราเดินเข้าไป เพื่อเก็บกู้วัตถุระเบิดที่จะสร้างอันตราย มันเป็นความภาคภูมิใจของ...อีโอดี”

หากภารกิจพลาด นั่นหมายถึงชีวิต

“ต้องยอมรับเลยว่างานเก็บกู้วัตถุระเบิดนั้น นอกจากจะเป็นงานที่มีความเสี่ยงอย่างมากแล้ว เจ้าหน้าที่ทุกนายต้องเผชิญหน้ากับอันตรายที่พลาดไม่ได้แม้แต่ครั้งเดียว หากผิดพลาดนั่นคือความสูญเสียไม่ใช่เพียงอวัยวะ มือ เท้า แขน ขา แต่นั่นอาจหมายถึงชีวิตของเจ้าหน้าที่เองด้วย”

และนี่คือประวัติและภารกิจของเด็กหนุ่มจากราชบุรี ที่ผันตัวเองมารับราชการทั้งทหารและตำรวจ กับภารกิจเก็บกู้วัตถุระเบิดในตำแหน่ง ผกก.อีโอดี ต้องมีทั้งสติและความมุ่งมั่น เพราะหากพลาดนั่นหมายถึงความสูญเสีย แต่เขาพร้อมที่เลือกเส้นทางอันตรายด้วยการใช้ชีวิตเป็นเดิมพันเพื่อความปลอดภัยของประชาชนผู้บริสุทธิ์
กำลังโหลดความคิดเห็น