xs
xsm
sm
md
lg

“เดอะกิ๊ก” เจ้าของ “ทฤษฎีหน้าต่างแตก” ลดอาชญากรรม

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ผู้ริเริ่มใช้ “ทฤษฎีหน้าต่างแตก”
รายงานพิเศษ “ทฤษฎีหน้าต่างแตก” โดยมาตุภูมิ มุสลิมีน

ปัญหาอาชญากรรมในยุคปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน เชื่อมโยงตั้งแต่ปัญหาที่เป็นจุดเล็กๆ ที่ตำรวจหลายคนมองข้าม เพราะเห็นว่าไม่สลักสำคัญอะไรมากมาย แต่ศึกษาพฤติกรรมของคนร้ายที่ก่อคดีอาชญากรรมสะเทือนขวัญรายสำคัญๆ พบว่าหลายคดีที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่มาจากเรื่องเล็กๆ ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมองข้ามกันไปนั่นเอง

เนื่องด้วยได้ไปศึกษาและคลุกคลีอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจเอฟบีไอ และทำงานประสานแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลกับตำรวจระดับโลกอยู่เป็นประจำทำให้ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ริเริ่มนำทฤษฎีใหม่ๆ หลายทฤษฎีที่เชื่อว่านำไปสู่การลดปัญหาอาชญากรรมอย่างยั่งยืน เช่น “ทฤษฎีหน้าต่างแตก” หรือ “Broken Window” คือ การไม่เพิกเฉยกับความผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวันในสังคมเมืองไทย โดยเฉพาะกับเยาวชนของชาติ ที่ต้องไม่ปล่อยกระทำความผิดลหุโทษได้ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมให้ไม่สามารถไปก่อคดีใหญ่ๆ ได้ต่อไป

จากนั้น พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์จึงได้เริ่มสร้างสถานที่อบรมและเรียนเชิญวิทยากรฝีมือดีทั้งจากในเมืองไทยและต่างประเทศมาอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจในกองบัญชาการสอบสวนกลาง เพื่อสร้างตำรวจรุ่นใหม่เท่าทันตำรวจโลกที่เขาแซงหน้าไปหลายเท่าตัวนัก ต่อมาตำรวจสอบสวนกลางทั้งหมดก็ถูกเรียกเข้ามาศึกษาทฤษฎีหน้าต่างแตก

การที่จะลดปัญหาอาชญากรรมนั้น ไม่ใช่เพียงแต่การไล่ล่าคนร้ายเท่านั้น แต่เป้าหมายสำคัญคือการป้องกันไม่ให้อาชญากรรมเกิดขึ้น ซึ่งวิธีการนี้เป็นศาสตร์ของตำรวจในยุโรป และสหรัฐอเมริกา ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าอาชญากรรมในประเทศต่างๆ ลดลงโดยเฉพาะอาชญากรรมที่เกี่ยวกับทรัพย์ และยาเสพติด” แม่ทัพสอบสวนกลาง กล่าวถึงที่มาที่ไปของทฤษฎีดังกล่าว

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ยกตัวอย่างมาอธิบายให้เห็นภาพของทฤษฎีดังกล่าวด้วยว่า เมื่อตำรวจสังเกตเห็นว่ากระจกหน้าต่างของบ้าน หรืออาคารแห่งใดร้าวแล้วผ่านเลยไป ปล่อยไว้นานกระจกเหล่านั้นก็จะร้าวมากขึ้น อาจจะแตกเอง หรือโดนทำให้แตกเพิ่ม หากยังไม่รีบเข้าไปซ่อมแซม ก็จะเป็นเป้าของคนร้ายที่จะล้วงมือเข้าไปขโมยของจากด้านใน หรือย่องเข้าไปซ่องสุม และเป็นแหล่งเพาะอาชญากรรมได้ ในทางกลับกันหากตำรวจรีบเข้าไปตรวจดู บอกให้เจ้าของบ้านซ่อมแซม อาชญากรก็จะไม่สนใจที่จะเข้าไปสัมผัส เพราะไม่สะดุดตาที่จะเข้าไปทำความผิดในสถานที่นั้นๆ

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์กล่าวถึงทฤษฎีดังกล่าวต่อว่า ตำรวจเรามีหน้าที่รักษาความสงบสุขของสังคม ตั้งแต่ไหนแต่ไรเราเน้นการบังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก คือลุยจับอย่างเดียว ต่อมาเราเริ่มมาคิดว่าถึงแม้จะจับคนร้ายได้มากขึ้นเท่าไหร่แต่ผลของการก่ออาชญากรรมไม่ได้ลดลงเลย ซึ่งตำรวจทั่วโลกก็พยายามหาวิธีการใหม่ๆ แนวทางที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในโลกตำรวจ แนวทางหลักๆ ก็คือ Community Policing กับทฤษฎีหน้าต่างแตก ซึ่งในช่วงแรกได้ให้ตำรวจมาเรียนรู้เกี่ยวกับตำรวจผู้รับใช้ชุมชนไปแล้ว

“ขณะนี้ผมจึงเริ่มให้ลูกน้องในสังกัดกลับมาเรียนเกี่ยวกับทฤษฎีหน้าต่างแตก เพราะมันก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เอามาใช้แล้วได้ผล เพราะถูกนำเสนอในวงการตำรวจโลกมา 30-40 ปี แต่เมืองไทยไม่เคยนำมาใช้ แม้แต่ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ไม่มีการสอน ตำรวจไทยคิดอย่างเดียวว่าเป็นพระต้องสวดเป็นตำรวจต้องจับ แต่ไม่ได้คิดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุร้ายเลย” พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์กล่าว

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ยกตัวอย่างด้วยว่า เมื่อคนซ้อนจักรยานยนต์ 3 คนผ่านหน้าตำรวจไป หากตำรวจปล่อยไปไม่เรียกตรวจสอบก็อาจจะไปกระทำความผิดอย่างอื่น เพราะเห็นว่าสามารถกระทำความผิดได้ง่ายๆ แล้วตำรวจก็ไม่จับ เพราะฉะนั้นตำรวจจะต้องทำอะไรสักอย่าง เช่น เริ่มจากการตักเตือน เป็นต้น อย่าให้ความผิดเล็กๆ น้อยๆ ผ่านเลยไป สังคมก็เกิดความไร้ระเบียบ

ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นของการเผยแพร่ความรู้ไปยังตำรวจ และชาวบ้าน ในส่วนของตำรวจนั้นต้องสอนให้รู้ “การเตือน” ด้วย “ความเป็นห่วง” ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปเตือนคนที่กระทำความผิดเล็กๆ น้อยๆ เราจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเตือน เมื่อเรียนรู้แล้วจะทำให้ตำรวจเข้าใจอะไรมากขึ้น และพูดจานิ่มนวลมากขึ้น เบื้องต้นตำรวจที่เข้าเรียนรุ่นแรกมีอยู่ 40-50 คน เป็นระดับรองสารวัตรถึงรองผู้บังคับการ ก่อนที่จะเอาไปถ่ายทอดต่อให้กับผู้ใต้บังคับบัญชา ขั้นตอนต่อไปก็จะเริ่มรณรงค์และประชาสัมพันธ์ให้ตำรวจและชาวบ้านรู้ว่าวันนี้คุณได้แสดงความห่วงใยต่อประชาชนด้วยการทำอะไรบางอย่างหรือยัง

“เชื่อว่าจะลดอาชญากรรมได้แน่นอน และนอกจากลดอาชญากรรมยังลดอุบัติเหตุด้วย ทำให้คนเคารพกติกามากขึ้น เขาจะทำด้วยความสมัครใจมากขึ้น ถ้าการไปจับ ล้างบาง ชาวบ้านเขาจะต่อต้าน” ผบช.ก.กล่าว

ด้าน พ.ต.อ.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้กำกับการ 6 กองปราบปราม นายตำรวจฝีมือดีหนึ่งในทีมงานฝ่ายสืบสวนที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ดึงมาช่วยเป็นวิทยากร กล่าวว่า กำลังนำทฤษฎีเหล่านี้ขยายไปให้กับตำรวจต่างจังหวัดได้เรียนรู้ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งในเดือน พ.ค.ที่จะถึงนี้ จะจัดการอบรมขึ้นในพื้นที่ จ.ตรัง โดยมีตำรวจในพื้นที่ภูธรภาค 9 และในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม ทั้งหมดนอกจากจะเรียนรู้เกี่ยวกับทฤษฎีหน้าต่างแตกแล้ว ยังต้องเรียนรู้เกี่ยวกับความปลอดภัยในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย ตนเชื่อว่าวิธีการนี้จะนำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

“เราเรียนรู้กันแบบพี่สอนน้องให้รู้ถึงเทคนิคใหม่ๆของการสืบสวนที่ไม่ได้เน้นไปที่การจับกุมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเรียนรู้ศาสตร์ใหม่ๆ ของตำรวจโลกด้วย ทุกวันนี้ตำรวจขาดนักสืบที่ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งนี้ผมเชื่อว่าการอบรมครั้งนี้จะสามารถทำให้ตำรวจเด็กๆที่ผมเรียกว่า “แก๊งลูกเจี๊ยบ” จะ กลายเป็น “ไก่ชน” พันธุ์ดีในอนาคตแน่นอน” พ.ต.อ.ธีรเดชกล่าว

บช.ก.จึงถือเป็นหน่วยงานแรกของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการทำงานแทนที่จะตั้งรับให้อาชญากรรมเกิดขึ้นมาก่อนแล้วค่อยตาลีตาเหลือกตามไล่จับคนร้าย มาเป็นการป้องกันเหตุอาชญากรรมแต่เนิ่นๆ ทั้งนี้เชื่อว่าเมื่อทฤษฎีหน้าต่างแตก ที่ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางนำมาอบรมอยู่ในขณะนี้ ได้เผยแพร่และถูกนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมจากตำรวจรุ่นถัดไปแล้ว อาชญากรรมในเมืองไทยคงจะลดลงเหมือนเช่นอารยประเทศที่เขานำทฤษฎีดังกล่าวมาใช้ก่อนบ้านเราถึง 30-40 ปีมาแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น