ผ่านพ้นไปแล้วสำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับ “รองผู้บังคับการ-สารวัตร” ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นปกติธรรมดาของนักสู้สีกากี ทั้งนักวิ่งอิงแอบแนบชิดกับนักการเมืองและผู้ที่เอาหยาดเหงื่อผลงานเข้าแลกมาก็ต้องมีทั้งผู้ที่สมหวังและผิดหวัง
ในส่วนของกองปราบปรามนั้น ผู้ที่สมหวังคว้าดาวเงินมาเพิ่มบนบ่าส่วนใหญ่คือผู้ที่ปฏิบัติงานตาม “โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุม” หรือ Community Policing ซึ่งจะขอยกรายชื่อมาพอสังเขปสัก 3 นาย
เริ่มจาก พ.ต.ท.วรวุฒิ คุณะเกษม รอง ผกก.5 บก.ป.ที่ถือเป็นหัวใจหลักบุกเบิกบากบั่นเคียงข้าง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) ตั้งแต่ปี 2553 ได้ขยับขึ้นเป็น ผกก.3 บก.ป.คุมภาคอีสาน โดย พ.ต.ท.วรวุฒินั้นเป็นผู้ดูแลโครงการ อีกทั้งเป็นมือประสานสิบทิศกับชุมชนทั่วประเทศ
รายต่อมา พ.ต.ท.ภูการวิก โชติกเสถียร รอง ผกก.ปพ.บก.ป.รับผิดชอบโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนวัดสวัสดิวารีศรีมาราม เลื่อนขึ้นเป็น ผกก.ฝอ.1 บก.อก.บช.ก.คุมกำลังพลทั้งหมดของ บช.ก. นอกจากผลงานดังกล่าวแล้ว เขาได้เปิดโครงการการฝึกยุทธวิธีในการปฏิบัติงานการเข้าจับกุมคนร้ายของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปราม หรือคอนแท็กต์แอนด์คัฟเวอร์ เสริมเขี้ยวเล็บเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามให้มีความเชี่ยวชาญในการเข้าจับกุมเหล่าร้าย ลดการสูญเสียของเจ้าหน้าที่ กระทั่งไปเข้าตากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ประสานให้ช่วยฝึกอบรมตำรวจในสังกัดอีกด้วย
สุดท้าย ร.ต.อ.เจษฎา โสมนัส รอง สว.กก.ปพ.บก.ป.ได้เลื่อนเป็น สว.กก.1 บก.ป.นอกจากร่วมทำงานโครงการดังกล่าวแล้วยังโดดเด่นด้วยผลงานป้องกันปราบปรามดีเด่นอันดับต้นๆ ของ บช.ก.
ทั้งนี้ ในส่วนของการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา นอกจากผลงานด้านการสืบสวนจับกุมแล้ว ทาง พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ได้ให้ความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดที่เข้าร่วมโครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชน เนื่องจากเขาได้ริเริ่มด้วยตัวเองหลังได้ไปเห็นและเรียนรู้ทฤษฎีดังกล่าวจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นทฤษฎีที่พลิกโฉมหน้าวงการตำรวจโลก โดยให้ตำรวจปรับเปลี่ยนทิศทางการทำงานเสียใหม่ จากการเป็นผู้ใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายกับประชาชน เป็นการหันหน้าเข้าหาประชาชน ทำหน้าที่ปกป้องและให้บริการด้วยความจริงใจ เมื่อประชาชนไว้วางใจก็จะให้ข้อมูล ให้ข่าว บอกปัญหาและความต้องการให้ทราบ จากนั้นตำรวจกับประชาชนก็จะร่วมมือกันแก้ปัญหา ซึ่งหลายประเทศเช่นญี่ปุ่น สิงคโปร์ แคนาดา ได้ลองนำไปใช้ปรากฏว่าสามารถลดอาชญากรรมและยาเสพติดในชุมชนได้
ต่อมา พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ได้นำทฤษฎีดังกล่าวมาปรับใช้ในหลายชุมชนของประเทศไทย โดยให้ตำรวจกองปราบปรามเป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน ท่ามกลางเสียงเย้ยหยันของเพื่อนตำรวจหน่วยอื่นและผู้ใต้บังคับบัญชาบางคนที่ยังไม่เข้าใจถึงทฤษฎีตำรวจสมัยใหม่ แต่ ผบช.ก.ก็ไม่ย่อท้อ ผลักดันโครงการดังกล่าวกระทั่งสัมฤทธิผลในหลายพื้นที่ เช่นชุมชนวัดเซิงหวาย เตาปูน ชุมชนริมคลองมหาสวัสดิ์ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม และ ชุมชนวัดสวัสดิวารีศรีมาราม ฯลฯ โดยเฉพาะที่ชุมชนบ้านหัวทาง ต.พิมาน อ.เมือง จ.สตูล หรือที่เรียกกันติดปากว่า “สตูลโมเดล” ต้นแบบดับไฟใต้อันลือลั่น กระทั่งตำรวจมาเลเซียถึงกับมาขอลงพื้นที่ดูงานเพื่อนำไปใช้ในประเทศตัวเอง
นอกจากนี้โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนก็เดินทางมาใกล้ถึงฝั่งที่ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ฝันไว้ เมื่อ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เล็งเห็นความสำคัญนำมาใช้เป็นยุทธศาสตร์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่ปี 2555-2564 โดยให้ตำรวจทุกโรงพักทั่วประเทศนำทฤษฎีตำรวจผู้รับใช้ชุมชนไปปฏิบัติ เพื่อลดอาชญากรรมยาเสพติด และลดความหวาดระแวงระหว่างตำรวจกับประชาชน
ตำรวจทั้งสามนายที่กล่าวยกมานั้นต่างได้ดิบได้ดีก็จากการทุ่มเทกำลังกาย-ใจ ทำงานเคียงข้าง ผบช.ก.มาตั้งแต่โครงการตำรวจผู้รับใช้ชุมชนเพิ่งตั้งไข่ ควรที่จะภาคภูมิใจกับดอกผลแห่งความอดทน โดยที่ไม่ต้องลดเกียรติของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ไปเดินตามก้นนักการเมืองเพื่อขอตำแหน่งอย่างไร้ศักดิ์ศรี