xs
xsm
sm
md
lg

ศาลแพ่งนัดฟังไต่สวน ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน บ่าย 3 พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ)ถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.
ศาลแพ่งนัดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว พรุ่งนี้ บ่าย 3 โมง หลัง “ถาวร-ถวิล” เบิกความ รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมิชอบ และไม่มีเหตุอันควร ชี้หวังจ้องเล่นงานมวลชน กปปส.เป็นหลักตามคำให้สัมภาษณ์ “เฉลิม” ที่จะเข้าสลายการชุมนุมจนอาจเป็นเหตุให้เกิดผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตายได้

จากกรณี นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส.และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในฐานะรอง ผอ.ศรส.เรื่องละเมิด ขอให้เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ห้ามใช้กำลังสลายการชุมนุม และขอให้ศาลเปิดไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ซึ่งศาลได้ประทับรับฟ้องไว้พิจารณาในช่วงสายวันนี้ และนัดเบิกความไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวบ่ายวันนี้ตามที่ได้เสนอข่าวไปก่อนหน้านี้นั้น

ล่าสุดเมื่อเวลา 13.30 น.วันนี้ (30 ม.ค.) ทนายโจทก์ได้นำ นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส.ขึ้นเบิกความว่า นายกรัฐมนตรี จำเลยที่ 1 ได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นการกระทบสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ และการใช้ชีวิตประจำวันถูกจำกัด ทั้งการห้ามเข้าสถานที่ราชการ การห้ามสัญจรบนถนน 20 สาย ห้ามมีการชุมนุมเกินกว่า 5 คนขึ้นไป และที่สำคัญมีการยื่นขอออกหมายจับแกนนำ กปปส.ถึง 3 ครั้ง โดยหลังจากมีการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็เกิดความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเพิกเฉยไม่ดำเนินการจับกุม นอกจากนี้จำเลยยังได้วางแผนสลายการชุมนุมโดยอยู่ในขั้นตอนเตรียมการ มีการเจรจาขอคืนพื้นที่ทั้งที่สถานที่ชุมนุมก็มีด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำอยู่ และการนำกองร้อยปราบจลาจลกว่า 16,000 นาย เตรียมการใช้อาวุธเข้าสลายการชุมนุม ซึ่งข้อเท็จจริงนี้เป็นการให้สัมภาษณ์ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง จำเลยที่ 2 เอง ดังนั้นหากปล่อยให้มีการสลายการชุมนุมจะทำให้เกิดความเสียหายและทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมบาดเจ็บล้มตายได้

นายถวิล เปลี่ยนศรี เบิกความว่า จากการติดตามข่าวสารตลอดเวลา เห็นว่าการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.เป็นการชุมนุมโดยสงบ สันติ ปราศจากความรุนแรง และไม่มีการใช้อาวุธ ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ แม้กลุ่ม กปปส.จะเคลื่อนขบวนปิดล้อมสถานที่ราชการ แต่ก็เป็นไปโดยความสงบเรียบร้อย ไม่เกิดความรุนแรง ไม่เป็นการรบกวนความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ และแตกต่างจากการชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553-2553 โดยสิ้นเชิง จึงเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่มีเหตุรุนแรงพอที่จะประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะสถานการณ์ความรุนแรงที่จะสามารถนำไปสู่การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต้องเป็นสถานการณ์ความรุนแรงในระดับความอยู่รอดของชาติบ้านเมือง อาจเทียบเท่ากับสถานการณ์สู้รบหรือสงคราม นอกจากนี้มาตรการต่างๆ ที่ออกมาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับนี้ มุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ชุมนุมเป็นหลักไม่ได้มุ่งระงับเหตุภายนอก ดังนั้นการกระทำของจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการมุ่งจำกัดหรือควบคุมการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม ไม่ให้แสดงออกเพื่อกดดันรัฐบาล และจำเลยทั้งสาม ยังใช้กลไกของรัฐรวมถึงกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของรัฐบาลมากกว่ามุ่งรักษาความสงบเรียบร้อย

ภายหลังเบิกความเสร็จศาลนัดฟังคำสั่งไต่สวนฉุกเฉิน ในวันที่ 31 ม.ค.2557 (พรุ่งนี้) เวลา 15.00 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น