xs
xsm
sm
md
lg

เหตุใดคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่ร้อนแรง และประเด็นความเห็นต่างเกี่ยวกับการเลือกตั้งในขณะนี้นั้น ศาลถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมไทย และประเทศชาติตามบทบัญญัติของกฎหมาย อันเป็นไปตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ที่จะต้องมีการถ่วงดุลและตรวจสอบซึ่งกันและกัน

สำหรับประเด็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งนั้น ได้มีการนำคดีขึ้นสู่ศาลปกครองและศาลก็ได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา เนื่องจากไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง รวมทั้งกรณีล่าสุดที่ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.พรรคเพื่อไทย จำนวน 29 ราย นำโดยนายชัยณรงค์ ช่างเรือ ได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อศาลปกครองสูงสุดว่า การที่ กกต.ไม่ดำเนินการให้มีการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งของผู้ฟ้องคดี ถือเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ กกต.ดำเนินการปฏิบัติหน้าที่โดยการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใน 29 เขตดังกล่าวโดยเร่งด่วน หรือมีคำสั่งคุ้มครองสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้ง 29 ราย ว่าการที่ผู้ฟ้องคดีได้ไปใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งแล้วแต่ไม่สามารถสมัครได้ เนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเข้าทำการปิดล้อมควบคุมพื้นที่การรับสมัคร ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันตามคำแนะนำของ กกต. แล้วนั้น ให้ถือว่าผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยถูกต้องตามกฎหมาย

คดีนี้ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (ฟ.1/2557) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ด้วยเหตุว่าไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง หากแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรมคือศาลฎีกา ซึ่งกรณีทำนองนี้ได้เคยมีการนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองและศาลก็ได้วางหลักในเรื่องเขตอำนาจศาลดังกล่าวไว้แล้ว

มาดูกันครับว่า เหตุใด ? ทำไมข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทั้งที่มีลักษณะของการใช้อำนาจทางปกครองหรือเป็นการดำเนินกิจการทางปกครอง

ลำดับแรกมาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกันก่อนครับ

โดยที่ มาตรา 219 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติให้ “ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น”
ประกอบกับบทบัญญัติในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ซึ่งกำหนดให้ การฟ้องคดีเกี่ยวกับการใช้อำนาจทางปกครอง หรือการดำเนินกิจการทางปกครองของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และมิใช่การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นการใช้อำนาจโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ ให้ฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด

และมาตรา 11(3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 บัญญัติให้ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจในการพิจารณา“คดีที่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในอำนาจศาลปกครองสูงสุด”

รวมทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ซึ่งได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับสิทธิผู้สมัครและอำนาจหน้าที่ในการรับสมัครเลือกตั้งของ กกต.ไว้

จากบทบัญญัติของกฎหมายข้างต้นจะเห็นได้ว่า มาตรา 219 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นบทบัญญัติสูงสุดของกฎหมายนั้น ได้กำหนดให้ ศาลฎีกามีอำนาจพิจารณาและวินิจฉัย “คดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง” ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

เมื่อข้อเท็จจริงในคดีนี้ ประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินการของ กกต.ในการรับใบสมัครของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งแม้การดำเนินการดังกล่าวจะมีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมก็ตาม แต่ก็เป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง จึงเป็นอำนาจของศาลฎีกาในการที่จะพิจารณาและวินิจฉัย ตามมาตรา 219 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดนั่นเอง ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา

ต่อไปเป็นตัวอย่างคดีพิพาทที่เกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กรณีผู้ฟ้องคดี 17 ราย ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดว่า พวกตนได้ถูกขีดฆ่ารายชื่อออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด เนื่องจากเป็นผู้ไม่มีตัวตนอยู่ในพื้นที่เลือกตั้ง โดยผู้ฟ้องคดีทั้งหมดอ้างว่าตนได้ทำงานเพื่อส่วนรวม และได้เคยใช้สิทธิเลือกตั้งที่หมู่บ้านนี้มาโดยตลอด คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลการเลือกตั้ง ได้ละเลยไม่ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้นายทะเบียนอำเภอทำการถอนชื่อผู้ฟ้องคดีออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 รายได้รับความเสียหาย จึงนำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าพาหนะเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งและค่าเสียโอกาสในการประกอบอาชีพ

ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่มาตรา 219 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่า ให้คดีพิพาทดังกล่าวอยู่ในอำนาจพิจารณาและวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ คดีนี้จึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง (คำสั่งที่ ร.151/2553)

สำหรับคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 เช่น คดีพิพาทเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล อาทิ กรณี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้มีคำสั่งซึ่งออกโดยเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานโดยได้รับบำเหน็จ อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง และเป็นคำสั่งที่ออกตามมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาการดำเนินการทางวินัยที่ทำการแทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3) และเป็นคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามมาตรา 32 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550

การที่ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งเรื่องการสอบสวน คำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาการดำเนินการทางวินัย และการลงโทษให้ผู้ฟ้องคดีออกจากงานว่าเป็นการใช้ดุลยพินิจไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 9 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ดำเนินการตามมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการใช้อำนาจทางปกครอง จึงเป็นกรณีตามที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 22 บัญญัติให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ตามมาตรา 11(3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง (ฟ.28/2553) (แต่ทั้งนี้ก่อนนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ผู้ฟ้องคดีจะต้องดำเนินการตามขั้นตอน หรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อน เช่น กรณีนี้ผู้ฟ้องคดีจะต้องร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง)

คดีที่ครองธรรมได้หยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันนี้ ถือเป็นประโยชน์สำหรับผู้เสียหายในการเป็นข้อมูลประกอบการใช้สิทธิทางศาลเพื่อปกป้องรักษาสิทธิของตนเองได้อย่างถูกต้อง

ท้ายที่สุดนี้...ขอให้สถานการณ์การเมืองไทยของเราคลี่คลาย และกลับคืนเป็นปกติโดยเร็ว ที่สำคัญขอให้สามารถพบทางออกในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในทางที่จะเกิดประโยชน์แก่ประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ผมเชื่อว่า... “เราจะพบแสงสว่างได้ แม้จะอยู่ที่ปลายอุโมงค์ครับ !”
 
ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น