xs
xsm
sm
md
lg

ศาลชี้ 4 แนวร่วม นปช. ปี 53 ตายด้วยกระสุนปืน แต่ไม่ทราบใครยิง!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลระบุ 4 แนวร่วม นปช. ตายด้วยกระสุนปืนจากเหตุการณ์ทหารสลายการชุมนุมเสื้อแดงก่อการจลาจล ปี 53 แต่ไม่ทราบใครยิง

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง วันนี้ (27 ธ.ค.) ศาลอ่านคำสั่งที่ไต่สวนชันสูตรพลิกศพ เพื่อหาสาเหตุการตายจากเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่การชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี 2553 คดีหมายเลขดำที่ ช.4/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนการตายของ นายสมชาย พระสุพรรณ อายุ 43 ปี อาชีพช่างซ่อมรองเท้า อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ 9 ต.โพธิ์ไทร อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ถูกยิงที่บริเวณเชิงสะพานลอยคนข้าม ใกล้ปั๊มน้ำมัน ถนนพระราม 4 กทม. เสียชีวิตเมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของผู้ร้อง และภรรยาผู้ตายแล้วเห็นว่า พยาน 2 ปากที่ร่วมชุมนุมอยู่บริเวณซอยปลูกจิต ถ.พระราม 4 ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผู้ตายถูกยิงเบิกความว่า ได้ยินเสียงปืนดังมาจากฝั่งของเจ้าพนักงาน แต่ไม่เห็นว่าคนยิงผู้ตาย พยานจึงเชื่อว่าเจ้าพนักงานเป็นผู้ยิงปืน ซึ่งคำเบิกความของพยานทั้ง 2 จะรับฟังได้ต้องมีหลักฐานอื่นประกอบ โดยหลังเกิดเหตุผู้เชี่ยวชาญได้ตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยกระสุนปืนตามสถานที่ต่างๆ ประมาณ 50 รอย โดยเป็นรอยกระสุนปืนขนาด .223 และกระสุนลูกปราย มีแนววิถีกระสุนมาจากด้านสะพานไทย-เบลเยียม และแยกวิทยุยิงไปทางด้านใต้ทางด่วนพระราม 4 และพบรอยกระสุนปืนที่มีวิถีกระสุนมาจากด้านใต้ทางด่วนพระราม 4 บริเวณคลองเตยเช่นเดียวกัน แต่ยืนยันไม่ได้ว่าเป็นรอยกระสุนที่ยิงมาในคราวเดียวกับที่ยิงถูกผู้ตาย นอกจากนี้ พยานผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่สามารถยืนยันได้ว่าวิถีกระสุนปืนที่ยิงถูกผู้ตายมาจากทิศทางใด เนื่องจากไม่ทราบตำแหน่งที่แน่นอนของผู้ตาย

ส่วนที่แพทย์ผู้ตรวจรักษาเบิกความว่า ผู้ตายมีบาดแผลถูกยิงที่ศีรษะกระสุนฝังใน สาเหตุของการตายเนื่องจากกระสุนปืนทำลายสมองรุนแรง แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ตายถูกยิงด้วยกระสุนปืนชนิด และขนาดใด เนื่องจากไม่ได้ผ่าตัดนำกระสุนออกมาตรวจพิสูจน์ นอกจากนี้ เมื่อดูจากบาดแผลแล้วก็ไม่สามารถวิถีกระสุนที่ยิงถูกผู้ตายยิงมาจากทิศทางใด เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะท่าทาง และตำแหน่งที่แน่นอนของผู้ตายขณะถูกยิง คำเบิกความของพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุจึงไม่มีน้ำหนักพอที่จะเชื่อได้ว่า กระสุนปืนยิงมาจากด้านที่เจ้าหน้าที่วางกำลังอยู่ หรือด้านสะพานไทย-เบลเยียม ส่วนที่ภรรยาผู้ตายเบิกความว่า เห็นเจ้าพนักงาน 3-4 คนยืนอยู่บริเวณหน้าสนามมวยลุมพินี หลังจากนั้น ได้ยิงเสียงปืนดังขึ้นก็ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ผู้ตายถูกยิง และแผ่นวิดีทัศน์บันทึกภาพที่ปรากฏก็ไม่อาจยืนยันได้ว่าใครเป็นคนยิงผู้ตาย จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือ นายสมชาย พระสุพรรณ ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลเลิศสิน เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2553 เวลา 09.30 น. เหตุ และพฤติการณ์แห่งการตายเนื่องจากถูกยิงด้วยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด และขนาดที่บริเวณศีรษะ กระสุนปืนทำลายสมองรุนแรง ขณะอยู่ที่ปากซอยปลูกจิต ถ.พระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ

นอกจากนี้ ศาลยังได้อ่านคำสั่งคดีหมายเลขดำที่ ช.1/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนการตายของ นายมานะ แสนประเสริฐศรี อายุ 21 ปี อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง อยู่บ้านเลขที่ 4/31 ถนนเชื้อเพลิง แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กทม. ผู้ตายที่ 1 และนายพรสวรรค์ นาคะไชย อายุ 23 ปี พนักงานโรงแรมแห่งหนึ่ง อยู่บ้านเลขที่ 3 หมู่ 18 ต.รอบเมือง อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ผู้ตายที่ 2 ซึ่งถูกอาวุธปืนยิงเสียชีวิตบริเวณ ถ.พระราม 4 เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553

ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ขณะที่ทหารกองพันทหารม้าที่ 5 รักษาพระองค์ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กำลังผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม นปช. เพื่อขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานลอยไทย-เบลเยียม จนเกิดการปะทะกันซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยิงพลุ และอาวุธปืนใส่ เจ้าพนักงานจึงใช้อาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม 16 หรือเอ็ม 653 และอาวุธปืนลูกซองยิงตอบโต้โดยใช้กระสุนซ้อมรบ และกระสุนยาง ขณะนั้น นายมานพ ผู้ตายที่ 1 ได้ช่วยเหลือนำผู้บาดเจ็บราย และนายพรสวรรค์ ผู้ตายที่ 2 ซึ่งถูกยิงที่ชายโครงขวาทะลุด้านหลังขวา บริเวณซอยงามดูพลี ถ.พระราม4 ไปส่งยัง รพ. ต่อมา ผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาล ระหว่างนั้นผู้ตายที่ 1 ถูกกระสุนปืนยิงที่ศีรษะจนถึงแก่ความตายโดยทันที โดยคำเบิกความของพยานผู้ร้องทุกปากไม่สามารถยืนยันได้ว่า ผู้ตายทั้ง 2 ถูกยิงด้วยปืน และกระสุนปืนชนิด และขนาดใด และใครเป็นผู้ยิง แม้จะมีพยานที่เป็นผู้บันทึกเทปเหตุการณ์ทหาร 2 คน กำลังยิงปืน แต่ก็ไม่ยืนยันว่าคนที่ถูกยิง และล้มลงคือ ผู้ตายที่ 1 หรือผู้ตายที่ 2 และเวลาดังกล่าวเป็นเวลาเดียวกับที่ผู้ตายที่ 1-2 ถูกยิงหรือไม่ แต่เมื่อพิจารณาจากความรุนแรง และความเร็วของหัวกระสุนปืนที่สามารถทะลุผ่านหมวกนิรภัย ประกอบกับบาดแผลที่หัวกระสุนทะลุผ่าน และบาดแผลของผู้ตายทั้ง 2 เชื่อว่า อาวุธปืน และกระสุนที่ใช้ยิงผู้ตายทั้ง 2 เป็นอาวุธ และกระสุนชนิดร้ายแรง มีความเร็วสูง แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นอาวุธชนิดใด ส่วนสาเหตุที่ทหารใช้อาวุธปืนยิงกลุ่มนปช. นั้นได้ความว่า วิถีกระสุนถูกยิงมาจาก ถ.พระราม 4 ด้านคลองเตย เป็นตำแหน่งที่กลุ่ม นปช.ประจำอยู่ มายังสี่แยกวิทยุ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เจ้าพนักงานทหารประจำการอยู่หลายรอยโดยวิถีกระสุนเฉียงลง เป็นลักษณะยิงมาจากที่สูง เชื่อว่ามีคนฝ่ายตรงข้ามกับทหารปะปนอยู่ในกลุ่มนปช. ใช้อาวุธชนิดร้ายแรง และความเร็วสูงยิงมาจากที่สูงเช่นเดียวกับเจ้าพนักงานทหาร

จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายที่ 1 คือ นายมานะ แสนประเสริฐศรี ถึงแก่ความตายที่บริเวณใกล้ปากซอยงามดูพลี ถ.พระราม4 แขวงทุ่มมหาเมฆ เขตสาทร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 เวลา 16.00 น. เหตุและพฤติกรรมแห่งการตาย เนื่องจากบาดแผลกระสุนทำลายสมอง ส่วนผู้ตายที่ 2 คือ นายพรสวรรค์ นาคะไชย ถึงแก่ความตายที่ รพ.เลิศสิน เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2553 เวลา 19.45 น. เหตุและพฤติการณ์แห่งการตายจากบาดแผลกระสุนปืนเข้าช่องท่องตับฉีกขาดเสียเลือดมาก โดยผู้ตายทั้ง 2 ถึงแก่ความตายเพราะถูกยิงด้วยกระสุนปืนชนิดร้ายแรงแ ละมีความเร็วสูง ขณะอยู่บริเวณใกล้ซอยงามดูพลี ถ.พระราม 4 แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร โดยที่ยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำ

วันเดียวกัน ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำสั่งกรณีขอให้ชันสูตรพลิกศพเพื่อหาสาเหตุการตาย จากเหตุการณ์ทหารกระชับพื้นที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช. คดีหมายเลขดำที่ อช.3/2556 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนการตายของ นายถวิล คำมูล อายุ 38 ปี ชาวขอนแก่น อาชีพรับจ้าง ซึ่งถูกอาวุธปืนยิงที่ศีรษะ เสียชีวิตที่บริเวณแยกศาลาแดง ถ.ราชดำริ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 เวลา 10.00 น.

โดยศาลพิเคราะห์คำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งว่า ผู้ตายชื่อ นายถวิล คำมูล ถูกกระสุนปืนลูกโดดความเร็วสูงยิงเข้าที่ศีรษะ ส่งผลให้เนื้อสมองฉีกขาด ทำให้เสียชีวิต โดยวิถีการยิงถูกยิงมาจากแนวของเจ้าหน้าที่ ช่วงแยกศาลาแดง แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำ
กำลังโหลดความคิดเห็น