ศาลอาญากรุงเทพใต้ ชี้ช่างภาพอิตาลีถูกยิงเสียชีวิตที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 53 จากอาวุธปืนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ขณะเคลื่อนกำลังมาจากแยกศาลาแดง ด้านครอบครัวผู้ตายพอใจคำสั่งศาลเรียกร้องปลดคนสั่งยิง
ที่ห้องพิจารณาคดี ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง ห้องพิจารณา 602 วันนี้ (29 พ.ค.) ศาลอ่านคำสั่งชันสูตรพลิกศพคดีหมายเลขดำ ช.10/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนชันสูตรพลิกศพการเสียชีวิตของนายฟาบิโอ โปเลงกี (Fabio Polenghi) ช่างภาพชาวอิตาลี ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมกลุ่มเสื้อแดงเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เพื่อมีคำสั่งแสดงว่าผู้ตายคือใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อไหร่ เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเป็นอย่างไร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150
ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ระหว่างวันที่ 12 มี.ค. - 19 พ.ค. 2553 มีการชุมนุมทางการเมืองของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งใช้ชื่อว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. เพื่อเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ขึ้นใหม่ แต่นายอภิสิทธิ์ได้ปฏิเสธคำเรียกร้องของกลุ่ม นปช. จึงได้มีการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่องโดยขยายพื้นที่การชุมนุมไปยังแยกราชประสงค์, ถ.ราชดำเนิน, ถ.เพลินจิต, ถ.พระราม, 1 ถ.พระราม 4, จนกระทั่งเมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2553 รัฐบาลเห็นว่าการชุมนุมทางการเมืองดังกล่าวก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ จึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและอีกหลายพื้นที่ นายอภิสิทธิ์จึงได้ออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเป็น ผอ. และมีข้าราชการทหาร ตำรวจและพลเรือนเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการ โดยมีการแต่งตั้งผู้กำกับปฏิบัติการ หัวหน้าผู้รับผิดชอบ และพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและมีอำนาจเช่นเดียวกับพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ได้มีการออกข้อกำหนดโดยประกาศของ ศอฉ.ห้ามการชุมนุม การยุยงให้เกิดความไม่สงบ ประกาศห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม ห้ามใช้ยานพาหนะ รวมทั้งงดการให้บริการสาธารณูปโภค เพื่อให้เจ้าพนักงานสามารถปฏิบัติหน้าที่แก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. เวลา 05.45 น. ศอฉ. มีคำสั่งให้ทหารกองพันทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี ตั้งแต่แยกศาลาแดง-แยกราชดำริ และใช้รถสายพานลำเลียงในการเข้าทำลายแนวกั้นของผู้ชุมนุม เจ้าพนักงานดังกล่าวมีอาวุธปืนประจำตัว ได้แก่ ปืนเล็กยาวเอ็ม 16, ปืนเล็กยาวแบบ 11 (HK33), ปืนลูกซองและอาวุธปืนพก โดยได้รับคำสั่งให้ใช้กระสุนจริงและกระสุนซ้อมรบกับปืนลูกซอง ส่วนปืนเล็กยาวให้ใช้กระสุนปืนซ้อมรบเพียงอย่างเดียว ระหว่างที่เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่กระชับพื้นที่นั้นได้มีนักข่าวซึ่งรวมผู้ตายเข้าทำข่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่เมื่อมีความรุนแรงมากขึ้น กลุ่มผู้ชุมนุม นักข่าวและผู้ตายได้วิ่งหลบหนีจากแยกราชดำริไปแยกราชประสงค์ เมื่อผู้ตายวิ่งมาบริเวณเกาะกลางถนน หน้าบริษัทสายไฟฟ้าบางกอกเคเบิ้ล ปรากฏว่าผู้ตายถูกยิงล้มลง จากนั้นมีคนนำผู้ตายไปส่ง รพ.ตำรวจและถึงแก่ความตาย
ศาลพิเคราะห์แล้วมีเหตุที่ต้องวินิจฉัยว่า เหตุและพฤติการณ์ของผู้ตายเป็นอย่างไร เห็นว่า ผู้ต้องมีพยานเป็นนักข่าวในประเทศและต่างประเทศเป็นพยานยืนยันว่าเห็นผู้ตายถูกยิงล้มลงขณะที่วิ่งหลบหนีไปทางแยกราชประสงค์ระหว่างที่เจ้าพนักงานกำลังเคลื่อนมาแยกศาลาแดง พยานทั้งสองเป็นคนกลางไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับฝ่ายใดเชื่อว่าเบิกความตามความจริง เมื่อประกอบความเห็นของพยานผู้เชี่ยวชาญเชื่อได้ว่าวิถีกระสุนปืนยิงมาจากแยกศาลาแดง ซึ่งเป็นทิศทางที่เจ้าพนักงานกำลังเคลื่อนเข้ามาควบคุมพื้นที่จนถึงแยกราชดำริ อีกทั้งแพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายและผู้แปลผลการชันสูตร เบิกความสอดคล้องกัน โดยสรุปว่าบาดแผลของผู้ตายน่าจะเป็นบาดแผลที่เกิดจากกระสุนปืนที่ยิงออกมาจากอาวุธปืนที่มีความเร็วสูง เมื่อไม่ปรากฏจากการไต่สวนว่าไม่มีบุคคลอื่นเข้ามาก่อเหตุใดๆ ทั้งกระสุนปืนที่เจ้าพนักงานใช้ในการควบคุมพื้นที่บริเวณเกิดเหตุเป็นกระสุนปืนขนาด .223 ที่ใช้กับอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม16 และปืนเล็กยาว 11 (HK33) ที่มีประสิทธิภาพการยิงวิถีไกลและมีความเร็วสูง และได้ความจากนักข่าวต่างประเทศ พยานมารดาของผู้ตาย ว่าในขณะเกิดเหตุพยานได้วิ่งไปในทิศทางเดียวกับผู้ตายและถูกยิงด้วยกระสุนปืนในบริเวณใกล้เคียงกับผู้ตายที่บริเวณด้านหลังข้างขวาและกระสุนฝังใน ต่อมาแพทย์ได้ผ่าหัวกระสุนออก พบว่าเป็นหัวกระสุนปืนจากอาวุธปืนเล็กยาวเอ็ม16 ซึ่งสอดคล้องกับอาวุธปืนที่เจ้าพนักงานใช้ประจำตายในวันเกิดเหตุ พฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่ากระสุนปืนที่ยิงผู้ตายมาจากเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนเข้ามาพื้นที่จากแยกศาลาแดงมุ่งหน้าแยกราชดำเนินโดยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นคนกระทำ
จึงมีคำสั่งว่า ผู้ตายคือนายฟาบิโอ โปเลงกี ถึงแก่ความตายที่ รพ.ตำรวจ แขวงและเขตปทุมวัน กทม. เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 เวลา 11.30 น. เหตุและพฤตการณ์แห่งความตายสืบเนื่องมาจากการถูกยิงด้วยกระสุนปืน เป็นเหตุให้เกิดบาดแผลกระสุนปืนทุลุหัวใจ ปอด ตับ เสียโลหิตปริมาณมาก โดยวิถีกระสุนปืนยิงมาจากด้านเจ้าพนักงานที่กำลังเคลื่อนที่มาควบคุมพื้นที่จากทางแยกศาลาแดง มุ่งหน้าแยกราชดำริ โดยยังไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ
ภายหลังนายคารม พลพรกลาง ทนายความของญาตินายฟาบิโอ ผู้ตาย กล่าวว่า ได้ขอคัดคำสั่งฉบับเต็มจากศาล ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 5 วัน หลังจากนี้จะนำคำสั่งดังกล่าวไปเป็นเอกสารประกอบการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อให้ดำเนินคดีกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ที่ได้ออกคำสั่งให้เคลื่อนย้ายกำลังพล ในวันที่ 19 พ.ค. 2553 เพื่อพิสูจน์ความผิดด้วย ซึ่งนายสุเทพจะปฏิเสธความรับผิดชอบจากการออกคำสั่งไม่ได้ ส่วนมารดาของนายฟาบิโอ และทีมทนายความรู้สึกพอใจกับคำสั่งของศาลดังกล่าว ซึ่งศาลได้พิจารณาจากพยานหลักฐานที่ฝ่ายญาติได้นำสืบไว้ด้วย อย่างไรก็ดีกรณีของนายฟาบิโอ ก็มีหลายฝ่ายที่สนใจต่อการนำคดีไปสู่ศาลอิตาลีด้วย แต่ทั้งนี้ก็ต้องหารือและตรวจสอบข้อกฎหมายกันอีกครั้งว่าจะเป็นไปได้หรือไม่
ด้าน น.ส.เอลิซาเบตตา โปเลงกี น้องสาวของนายฟาบิโอ ให้สัมภาษณ์ผ่านล่ามว่า รู้สึกพอใจ ส่วนขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร ก็ต้องปรึกษาทนายความอีกครั้ง ขณะที่เรื่องนี้ก็อยากให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรับผิดชอบโดยการถูกปลดออกจากตำแหน่ง เพื่อไม่ให้สามารถออกคำสั่งที่จะไปส่งผลให้ใครเสียชีวิตอีก และวันนี้ (29 พ.ค.) เวลา 19.00 น. ก็จะมีการเปิดตัวหนังสือภาพถ่ายของนายฟาบิโอด้วยที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) ซึ่งตนและทนายความจะได้แถลงถึงความชัดเจนเกี่ยวกับคดีของนายฟาบิโออีกครั้งด้วย ส่วนการที่จะนำคดีไปสู่ศาลในยุโรปนั้นตนก็มีความสนใจอยู่ แต่ก็ต้องหารือถึงข้อกฎหมายที่ถูกต้องและความเป็นไปได้กับทนายความเสียก่อน