xs
xsm
sm
md
lg

สางคดียิงนศ.รามฯ...ตำรวจอย่า “จับแพะ”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สน.พระอาทิตย์

ยิ่งคลางแคลงใจ ก็ยิ่งทำให้ไม่น่าไว้วางใจ การคลี่คลายคดีการเสียชีวิต 4 ศพ จากเหตุปะทะกันระหว่างนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กับ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ(นปช.)หรือคนเสื้อแดง ช่วงคืนวันที่ 30 พฤศจิกายน ต่อเนื่องวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เริ่มมีอาการแปลกๆ

แม้ศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(ศอ.รส.) จะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลคดีนี้ โดยมอบหมายให้พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. เป็นหัวหน้าชุด พร้อมพล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา(สบ.10) เป็นผู้ปฎิบัติการให้ข้อมูลข่าวสาร ด้านการข่าวและสารสนเทศ

แต่ดูเหมือนผ่านมา 1 สัปดาห์นับตั้งแต่เกิดเหตุ คดีไม่มีความคืบหน้าให้เห็นเป็นรูปธรรม มีเพียงการสอบปากคำนักศึกษาไปแล้วกว่า 50 คน รวมทั้งผลพิสูจน์ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ และเสียชีวิตจากภายในรถบัสที่เกิดไฟไหม้

ว่าเป็นใคร เสียชีวิตสาเหตุใด อย่างไรเท่านั้น

แต่ใครหรือกลุ่มใดเป็นฝ่ายกระทำผิด เป็นฆาตกรสังหารทั้ง 4 ศพ ยังไม่มีความชัดเจนอะไรอออกมา

มิหนำซ้ำ ยังมีความพยายามเชื่อมโยงคดีการเผารถยนต์ของตำรวจ รถกระบะ และรถกทม.ที่สะพานอรทัย ซึ่งตำรวจจับกุมนักเรียนอาชีวะ 9 คน บริเวณวัดโสมนัส และยึดอาวุธปืนได้จำนวนหนึ่ง ว่าอาจมีส่วนเชื่อมโยงกับเหตุยิงกันจนมีผู้เสียชีวิตที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“ขณะนี้ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุเผารถยนต์ของตำรวจ รถ กทม. และรถกระบะที่สะพานอรทัย เมื่อคืนวานนี้ได้แล้ว โดยสามารถจับกุมได้ทั้งหมด 9 คน เบื้องต้นเป็นนักเรียนอาชีวะที่มากับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยสามารถยึดอาวุธปืนจำนวนมาก ซึ่งจับกุมได้บริเวณวัดโสมนัส ทั้งหมดที่จับได้ให้การว่ามากับกลุ่มผู้ชุมนุมสะพานชมัยมรุเชฐ และเตรียมอาวุธมาก่อเหตุโดยเฉพาะ ซึ่งทั้งหมดนี้ตำรวจยังคาดว่าอาจจะเชื่อมโยงกับเหตตุวุ่นวายยิงกันจนมีผู้เสียชีวิตที่มมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ 3 วันก่อนด้วย โดยตำรวจจะนำตัวทั้งหมดไปแถลงข่าวอีกครั้งที่ บช.น.ในวันนี้”

เนื้อหาคำสัมภาษณ์ของพล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร.และรองผอ.ศอ.รส. เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2556 กับสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น

ทว่าหลังจากนั้นข่าวนี้ก็เงียบหายไป ไม่มีการแถลงข่าวหรือนำมาขยายผลว่าเกี่ยวข้องเชื่อมโยงอย่างไรกับเหตุการณ์ความวุ่นวายหน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหงตามที่พล.ต.อ.วรพงษ์ระบุไว้ หรือมีใครเป็นผู้ต้องหาก่อเหตุยิงนักศึกษารามคำแห่งหรือไม่

เพราะอะไรพล.ต.อ.วรพงษ์ถึงคาดการณ์ว่านักเรียนอาชีวะกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับเหตุที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเหตุใดคำพูดที่ดูมีน้ำหนัก และน่าจะเป็นกุนแจสำคัญในการคลี่คลายคดี 4 ศพ 5 ศพ ต่อเหตุความวุ่นวายหน้ารามคำแหงจะได้รับความชัดเจนถึงหายเงียบเข้ากลีบเมฆไป

เป็นคำถามที่สังคมรับรู้ รับทราบข่าวนี้ย่อมต้องเกิดความสงสัย ทั้งข้อมูลที่ออกมาและตัวตำรวจผู้ให้ข่าวเอง

ต้องยอมรับว่าทุกย่างก้าวการคลี่คลายคดีการเสียชีวิตของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และคนเสื้อแดง รวมทั้งทหารอีกหนึ่งนาย ที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาแยกแยะให้สังคมรับทราบ เป็นที่จับตาการดำเนินคดีอย่างมาก เพราะในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ตำรวจก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ตกเป็น “ผู้ต้องสงสัย”ต่อความวุ่นวายครั้งนี้

หลังจากพฤติกรรมในช่วงที่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างนักศึกษากับเสื้อแดงค่ำคืนนั้น ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เข้าไประงับเหตุ จนทำให้สถานการณ์บานปลายตรึงเครียด จนมีเสียงลือสะพัดกันในหมู่นักศึกษาว่านอกจากตำรวจจะไม่เข้ามาช่วยเหลือห้ามปรามแล้ว ยังมีบางส่วนสนับสนุนอีกฝ่ายหนึ่งด้วย

แม้พล.ต.อ.วรพงษ์จะออกมาแก้ต่างว่า ได้ส่งตำรวจเข้าไปในพื้นที่ แต่ขณะกำลังเคลื่อนรถอออกไปก็มีม็อบกว่า 1 พันคนบุกมาปิดถนน พร้อมทั้งเผายาง จุดประทัด และยึดรถตู้ 2 คันมาขวางการเข้าไป ทำให้ไม่สามารถเข้าไปที่มหาวิททยาลัยรามคำแหงได้ เพราะเสี่ยงต่อการปะทะ

“ทางผมได้วางแผนคิดว่าหากตำรวจเข้าไปไม่ได้ก็ให้ทหารเข้าไปจะดีกว่า จึงประสานไปทางศอ.รส.ให้ประสานทางทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์มาช่วยพานักศึกษาออกมา”

ทุกคำพูดของตำรวจระดับนายพลผู้นี้ ดูจะสร้างความข้องใจคนในสังคมอย่างมาก เพราะต่างรับรู้ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าอะไรเป็นอะไร

ขนาด “ผศ. วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ยังออกมาแสดงความเสียใจต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และขอบคุณทหารที่เข้ามาช่วยเหลือ

“เหตุการณ์การปิดล้อมและทำร้ายนักศึกษา ม.รามฯ คืนวันที่ 30 พ.ย.ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 1 ธ.ค.ว่า เหตุการณ์ ดังกล่าวส่งผลให้มีนักศึกษาเสียชีวิตทั้งสิ้น 3 ราย และบาดเจ็บกว่า 60 คน ซึ่งขณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้ตนโทรศัพท์ประสานกับทางสำนักงานตำรวจ แห่งชาติตลอดเวลา แต่กลับถูกปฏิเสธการเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ก็มีนายทหารคนสนิทพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอขา ผบ.ทบ.โทรศัพท์เข้ามาว่าจะให้ช่วยเหลืออะไรบ้างหรือไม่ จึงบอกขอให้ทหารมาช่วยนำนักศึกษาอออกไป ไม่ใช่ตำรวจประสานทหารมาช่วยเหมือน ออกข่าว”

เสียงสะท้อนที่ออกมา แสดงให้เห็นถึงความหวาดระแวงของผู้คนในสังคมต่อการทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในช่วงการชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้อย่างมาก เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าพฤติกรรมตำรวจหลายๆเรื่องก็ทำตัวเอง ไม่ให้เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคม

และนี่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญในการคลี่คลายคดีนี้อย่างมาก นอกจากเป็นคดีความวุ่ยวายที่เกิดหลายจุด รวมทั้งเกิดในเวลาค่ำคืน ซึ่งยากต่อการหาพยานหลักฐานมายืนยันผู้กระทำผิดแล้ว ความไว้วางใจจากสังคมต่อตัวตำรวจในการคลี่คลายคดีก็เป็นปัญหาใหญ่ ที่ตำรวจต้องพิสูจน์ศักดิ์ศรีอีกครั้ง

ด้วยการจับกุมคนผิดมาดำเนินคดีให้ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปกับกาลเวลา โดยเฉพาะที่สำคัญที่สุดก็คือ

อย่าจับแพะ!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น