“จรัมพร” ควง ผบก.น.4 แถลงสรุปข้อเท็จจริงเหตุรุนแรงหน้า ม.รามฯ ระบุมีผู้เสียชีวิต 5 ราย ผลชันสูตรไม่มีใครถูกยิงด้วยสไนเปอร์ เพราะวิถีการยิงแนวระนาบ และเป็นปืนสั้น
เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 7 ธ.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะหัวหน้าที่ตรวจพิสูจน์หลักฐาน พร้อมด้วย พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.น.4 แถลงสรุปผลการตรวจพิสูจน์หลักฐานจากสถานการณ์ความรุนแรงหน้า ม.รามคำแหง เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา โดย พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ได้สรุปลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้ ช่วงคืนวันที่ 30 พ.ย.ต่อเนื่องวันที่ 1 ธ.ค. กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ทยอยเข้าพื้นที่ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 30 พ.ย. และต่อมาในช่วงเที่ยงเริ่มมีนักศึกษาเกาะกลุ่มชุมนุมด้านหน้า ม.รามคำแหง ซึ่งตำรวจได้มีการลดการเผชิญหน้าโดยการให้กลุ่ม นปช.เข้าพื้นที่สนามราชมังคลากีฬาสถาน โดยใช้ประตู 3, 4 และ 5 ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังของสนามกีฬา ต่อมาช่วงเวลา 16.00 น. ตำรวจได้มีการประชุมร่วมกัน อธิการบดี ม.รามคำแหง ผกก.สน.หัวหมาก ผกก.สน.วังทองหลาง เพื่อเข้าไปรับหนังสือตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง จากนั้นได้เดินทางไปรับหนังสือจากกลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณหน้าเวที ระหว่างนั้น ได้มีแท็กซี่ที่มีกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ขับเข้ามา กลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้เข้าปิดล้อมแท็กซี่ ก่อนที่จะไปปิดถนนรามคำแหงทั้งสองฝั่่ง และรวมตัวกันที่ซอยรามคำแหง 53 ต่อมาเวลา 17.00 น.มีรถโดยสาร ขสมก.สีครีม-แดง ซึ่งมีกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.โดยสารขับผ่านเข้ามา ก็มีผู้ชุมนุมเข้าปิดล้อมเช่นกัน
เมื่อเวลา 19.30 น. มีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มมาปิดถนนที่ซอยรามคำแหง 24 ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกับกลุ่ม นปช.ที่เดินทางเข้ามาโดยไม่รู้ว่ามีการปิดถนน กระทั่งเวลา 20.45 น.เกิดเหตุยิงกันเป็นเหตุให้นายทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว ถูกยิงเสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ ทำให้สถานการณ์เริ่มตึงเครียด จึงได้ประสานชุดเคลื่อนที่เร็วทั้งของ บก.น.4 และสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาระงับเหตุ ซึ่งขณะนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายจุด
เมื่อเวลา 22.00 น. ตำรวจได้ระดมกำลังเตรียมเข้าพื้นที่ ปะทะเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ แต่โดนผู้ชุมนุมต่อต้าน สกัดกั้น จึงไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ และมีรถตำรวจ 191 พยายามเข้าพื้นที่ถูกทุบทำลายเสียหาย ในเวลาใกล้เคียงกันมีรถบัสโดยสารของกลุ่ม นปช.ฝ่าเข้ามา หลังส่งผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ ได้จอดไว้หน้า ม.รามฯ จนกระทั่งถูกเผาทำลายโดยที่ตัวรถมีร่องรอยการถูกยิงด้วย ทั้งนี้ ตำรวจพิจารณาแล้วว่าเหตุการณ์มีความรุนแรงเกิดขึ้นโดยรอบ หากมีการนำผู้ชุมนุมออกมาจากพื้นที่ในขณะนั้นซึ่งเป็นเวลาดึกอาจจะมีอันตราย และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสีย จึงให้ผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่จำกัดของตนเอง ขณะเดียวกันให้ชุดเคลื่อนที่เร็วระงับเหตุภายนอก และมีการตรึงกำลังไว้
ต่อมาเมื่อเวลา 02.00 น.วันที่ 1 ธ.ค. พลทหาร ธนสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช.ได้เดินเท้ามาภายในซอยรามคำแหง 24 แยก 14 และถูกยิงเสียชีวิต ถัดมาเวลา 04.00 น. นายวิโรจน์ ผู้ชุมนุม นปช.ยืนอยู่นอกสนามราชมังคลากีฬาสถาน ด้านหน้า กกท.ถูกยิงเสียชีวิต ในช่วงเช้านายวิษณุ ซึ่งเป็นกลุ่ม นปช.ซึ่งตำรวจได้ทยอยให้ออกประตู 3 เลี้ยวขวาออกแยกลำสาลี แต่นายวิษณุอยากดูเหตุการณ์ได้เดินไปหน้าประตู 1 จึงถูกยิงเสียชีวิต
กระทั่งช่วงเช้าเมื่อเวลา 07.00 น.วันที่ 1 ธ.ค. พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร.ได้เรียกประชุม นำรถสายตรวจกว่า 30 คัน และรถประจำทางกว่า 10 คัน เพื่อเตรียมเข้าไปรับตัวนักศึกษา ม.รามฯ โดยได้มีการประสานงานกับอธิการบดี ม.รามฯ โดยตลอด ระหว่างนั้นตำรวจได้ทยอยนำตัวกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ที่อยู่ในสนามราชมังคลากีฬาสถานออกทางประตู 3 และประตู 4
ขณะที่เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.วรพงษ์ได้เรียกระดมกำลังเพื่อเตรียมเข้าไปภายในม.รามฯ แต่ได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมได้นำรถตู้มาขวางกั้น ตำรวจเกรงจะเกิดการปะทะจึงยังไม่ได้เข้าไป แต่ได้สั่งการให้ตำรวจนอกเครื่องแบบของ สน.หัวหมาก ปีนรั้วเข้าพื้นที่ ม.รามฯ เพื่อช่วยเหลือนักศึกษา ม.รามฯ ที่ติดค้างอยู่ภายในออกมาได้โดยทุกคนอยู่ในสภาพอิดโรย ขาดน้ำ ขาดอาหาร จึงได้พาทั้งหมดไปรวมไว้ในจุดที่ปลอดภัย เพื่อรอรถเข้ามารับตัว นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาอีกเป็นจำนวนมาก ที่ติดค้างอยู่ใน ม.รามฯ กระทั่งมีกำลังทหารเข้าสมทบกำลังตำรวจ และเข้าไปนำนักศึกษาทั้งหมดออกมาพักวัดพระราม 9
ขณะที่ในเวลา 15.30 น.วันที่ 1 ธ.ค. เกิดเหตุเพลิงไหม้รถบัสซึ่งเป็นของกลุ่ม นปช.ที่จอดอยู่บริเวณหน้า กกท. เป็นเหตุให้นายสุรเดช คำแปงใจ อายุ 19 ปี เสียชีวิตอยู่ภายในรถคันดังกล่าว
ด้าน พล.ต.อ.จรัมพรกล่าวว่า สำหรับผลการผ่าชันสูตรศพผู้เสียชีวิต (1. นายทวีศักดิ์ โพธิ์แก้ว อายุ 21 ปี นักศึกษารามคำแหง ถูกยิงด้วยกระสุนปืนขนาด .45 เข้าที่เหนือราวนมซ้าย กระสุนฝังใน เป็นการยิงจากซ้ายไปขวา วิถีกระสุนมาในแนวระนาบ เหตุเกิดริมรั้วด้านนอก ม.รามฯ ภายในซอยรามคำแหง 24 (2. พลทหารธนสิทธิ์ เวียงคำ อายุ 23 ปี ถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด .22 เข้าที่ศีรษะ ทะลุ หมวกกันน็อก วิถีกระสุน ยิงมาในแนวระนาบ เสียชีวิตตรงข้ามประตู 8 (3. นายวิโรจน์ เข็มนาค เป็นผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช. ถูกยิงที่หน้าอก กระสุนเข้าที่บริเวณด้านหน้า วิถีมุมกดเล็กน้อย เหตุเกิดด้านหน้าสนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน โซนเอ็น ขณะที่ผู้ตายออกมายืนปัสสาวะ (4. นายวิษณุ เภาภู่ เป็นผู้ชุมนุมกลุ่ม นปช.ถูกยิงในช่วงเช้า บริเวณหน้าเชิงสะพานลอยคนข้าม หน้า ม.รามฯ ถูกยิงเข้าที่หน้าอก วิถีกระสุนแนวราบ และ (5. นายสุรเดช คำแปงใจ อายุ 19 ปี ซึ่งถูกพบเหลือเพียงโครงกระดูกบนรถบัสของกลุ่ม นปช. ที่ถูกเพลิงไหม้ขณะจอดไว้บริเวณหน้าม.รามคำแหง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.ที่ผ่านมา ว่าผลการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอของผู้เสียชีวิตตรงกับ นางนฤมล คำพยัคฆ์ ซึ่งเป็นผู้ที่เข้าแจ้งความว่าโครงกระดูกดังกล่าวเป็นของนายสุบุตรชายของตัวเอง จากการสอบสวนผู้ตายเป็นเยาวชนย่านเอกมัย ในวันเกิดเหตุมาซื้อยาแก้ไอและยาแก้ปวดที่หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งไม่ใช่ผู้ชุมนุมของกลุ่มใดและไม่ไดัศึกษาที่ ม.รามคำแหง แต่เมื่อถึงพื้นที่ชุมนุมได้แสดงตัวว่าอยากเข้าร่วมเป็นการ์ดอาสาของกลุ่มผู้ชุมนุม และได้รับผ้าพันคอสัญลักษณ์ของผู้ชุมนุม จากนั้นก็ได้ขึ้นไปบนรถทัวร์ที่ชั้น 2 ระหว่างนั้นได้เกิดเพลิงไหม้ ซึ่งเพื่อนได้ตะโกนเรียกให้ออกมาจากรถ แต่ไม่ทันการณ์ทำให้นายสุรเดชสำลักควันเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
พล.ต.อ.จรัมพรกล่าวด้วยว่า จากผลการชันสูตรศพยืนยันว่าเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นไม่มีพลซุ่มยิงหรือสไนเปอร์แต่อย่างใด เพราะจากการตรวจวิถีกระสุนพบว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดถูกยิงในแนวระนาบ และเสียชีวิตจากอาวุธปืนสั้นทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุได้มีการลงพื้นที่รวบรวมพยานหลักฐานพบปลอกกระสุนในที่เกิดเหตุ 34 ปลอกจากอาวุธปืน 7 ชนิด เช่น 9 มม., .22, .25,. 38, .32, .45, .380 ยังพบหัวกระสุน 12 หัว และลูกกระสุน ขณะเดียวกันได้มีการยึดอาวุธปืนขนาด .22 จากทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งทั้งหมดจะนำไปขยายผลหาความเชื่อมโยงต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ตำรวจจะทำการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุในข้อหาร่วมกันวางเพลิง ฆ่าคนตาย และทำให้เสียทรัพย์ เหตุการณ์ทั้งหมดมีความสัมพันธ์กันเชื่อมโยงกันทั้งหมด เพื่อให้เกิดความรุนแรง