รอง ผบ.ตร.แถลงข่าวชี้แจงกรณีตำรวจไม่เข้าช่วยเหลือนักศึกษารามคำแหงระหว่างมีการปะทะ ยันส่งรองสารวัตรสืบสวน สน.หัวหมาก เข้าไปใน ม.รามฯ พร้อม นศ.ป.โท แต่ถูกแกนนำสั่งห้ามเข้าช่วย นศ.ออกจากม.รามฯ ชี้มีการสร้างสถานการณ์รุนแรงปิดถนนหน้ารามฯ ไม่ให้ตำรวจเข้าพื้นที่โดยเด็กอาชีวะ ด้าน “จรัมพร” ยืนยันโครงกระดูกในรถบัสเป็นหนุ่มวัยรุ่นที่ข้ามาแจมการชุมนุมแต่ไม่ได้เป็น นศ.รามฯ เพื่อนเผยระหว่างปะทะได้เข้าไปหลบในรถด้วยกันก่อนโดนเผาย่างสดเสียชีวิตอนาถ ส่วนเพื่อนโชคดีหนีออกมาได้ทัน ยันปลอกระสุนที่ตรวจพบไม่มีสไนเปอร์
วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่ สน.ประเวศ พล.ต.อ.วรพงศ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.น.4 พ.ต.อ.ณรงค์ฤทธิ์ พรหมสวัสดิ์ ผกก.สน.หัวหมาก ร่วมกันแถลงข่าวกรณีที่มีกระแสข่าวว่าตำรวจไม่เข้าไปช่วยเหลือนักศึกษารามคำแหงที่ติดอยู่ภายในมหาวิทยาลัยในเหตุการณ์ปะทะกันในคืนวันที่ 1 ธ.ค.
พล.ต.อ.วรพงศ์ กล่าวว่า เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 1 ธ.ค. นั้น ตนได้ลงพื้นที่ และสั่งการให้รถตำรวจทั้งจากสายตรวจ สน.หัวหมาก ทางกองปราบปราม จำนวน 30 กว่าคันเตรียมช่วยเหลือนักศึกษา โดยตอนนั้นพบว่าถนนรามคำแหงไม่มีใครมาปิดถนน แต่ในขณะที่กำลังจะเคลื่อนรถออกไปนั้น ก็มีม็อบจำนวน 1,000 คน บุกเข้ามาปิดถนนรามคำแหง พร้อมทั้งมีการเผายาง จุดประทัด และยึดรถตู้ 2 คัน มาขวางการเข้าไปทำงานของตำรวจ ทำให้ไม่สามารถเข้าไปที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ เพราะเสี่ยงต่อการปะทะกัน วันนั้นมี ร.ต.อ.เรวัต ตั้งถึงถิ่น รอง สว.สส.สน.หัวหมาก เป็นหัวหน้าชุดจู่โจมของ สน. พร้อมนายพิเชษฐ์ หนูมาก นศ.ป.โท คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง พร้อมพลเมืองดีจำนวนหนึ่งได้เข้าไปในมหาวิทยาลัย และพาตัวนักศึกษาที่ติดค้างอยู่ 3 พันคน โดยออกมาที่ประตูทางเข้าหน้า ม.รามคำแหง แต่ยังมีผู้ติดค้างอยู่ภายใน ทางตนได้วางแผนคิดว่าหากตำรวจเข้าไปไม่ได้ก็ให้ทหารเข้าไปจะดีกว่า จึงประสานไปทาง ศอ.รส.ให้ประสานทางทหารจากกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ มาช่วยพานักศึกษาออกมา จากการตรวจสอบพบว่า ม็อบที่มาปิดถนนรามคำแหงขัดขวางไม่ให้ตำรวจไปช่วยนักศึกษา เบื้องต้นพบว่าเป็นนักศึกษาอาชีวะ และหากมีความชัดเจนในเรื่องนี้ ตนจะแถลงข่าวอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าการระดมคนมาปิดถนนน่าจะมีการเตรียมการมาก่อน เพราะเมื่อตำรวจเตรียมเข้าไปก็พบว่ามีม็อบมาปิดถนนทันที
ร.ต.อ.เรวัต กล่าวว่า ตอนเวลา 08.00 น. ในวันอาทิตย์ที่ 1 ธ.ค. ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าไปช่วยเหลือนักศึกษาที่ติดค้างให้ออกมาจากมหาวิทยาลัยให้ได้โดยเร็วที่สุด ตนและนายพิเชษฐ์ พร้อมกับพลเมืองดีอีกประมาณ 5 คน ได้เข้าไปใน ม.รามฯ ผ่านทางซอยรามคำแหง 24 เข้าทางโรงเรียนสาธิตรามคำแหง และเข้าไปพยายามช่วยนักศึกษาออกมา เมื่อเข้าไปพบว่าสภาพนักศึกษาไม่มีอาหาร น้ำ ยาอยู่เลย อีกทั้งนักศึกษาผู้หญิงบางคนก็ไม่มีแม้แต่ผ้าอนามัย ตนได้ประสานทางผู้บังคับบัญชาเอาข้าวของส่งให้นักศึกษา จากนั้นถัดมาอีกประมาณ 2 ชั่วโมง ตนจึงได้พานักศึกษาออกมาที่ประตูทางเข้าหน้ามหาวิทยาลัยเพื่อพาออกจากพื้นที่ แต่ทางแกนนำที่ปลุกระดมนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยไม่ให้นักศึกษาออก อ้างว่า ที่หน้ามหาวิทยาลัยมีการปะทะกันอย่างหนัก และทางแกนนำได้จับข้อมือตนไม่ให้พานักศึกษาออก ตนได้สะบัดมือ และเป็นคนแรกที่เดินออกไป เมื่อคนอื่นๆ เห็นว่าไม่มีอันตราย จึงเดินตามตนมา ระหว่างนั้นก็มีการคุ้มกันดูแลนักศึกษาตลอด ทั้งนี้ มีนักศึกษาติดค้างในวันนั้นทั้งหมด 3 พันคน ตนพาออกมาได้ 2 พันคน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นทางนักศึกษารามคำแหงได้นำกระเช้าดอกไม้เป็นตัวแทนมอบให้แก่ ร.ต.อ.เรวัต เพื่อแสดงความขอบคุณที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือนักศึกษาที่ติดค้างออกมาโดยปลอดภัย
อีกด้านหนึ่งที่ สน.วังทองหลาง พล.ต.อ.เอก อังศนานนท์ รอง ผบ.ตร. พร้อมด้วย พล.ต.อ.จรัมพร สุระมณี ที่ปรึกษา (สบ 10 ) สตช. พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผบก.น.4 แพทย์นิติเวช รพ.ตร. เจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน (พฐ.) ได้ร่วมกันประชุมติดตามความคืบหน้าจากเหตุการณ์กลุ่มนปช.ปะทะกับกลุ่ม นศ.รามคำแหง และกรณีการวางเพลิงเผารถตู้ และรถบัสจนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต โดยใช้เวลาประชุมนานร่วม 1 ชั่วโมง
พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.กำชับให้เร่งรัดทำคดีด้วยความตรงไปตรงมาละเอียดรอบคอบ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย โดยได้มอบหมายให้ พล.ต.อ.เอก เข้ามาดูการสืบสวนสอบสวนคดี ตอนนี้ยังไม่มีอะไรคืบหน้ามาก เนื่องจากอยู่ระหว่างการทำงานของฝ่ายสอบสวน และฝ่ายสืบสวนในการเก็บข้อมูลหลักฐานพยานวัตถุพยานบุคคล ควบคู่ไปกับการตรวจสอบด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งแต่ล่ะขั้นตอนนั้นต้องใช้เวลา
พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวอีกว่า ตอนนี้ยืนยันได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 5 ราย ประกอบด้วย 1.นายสิริศักดิ์ โพธิ์แก้ว นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง 2.นายวิษณุ เภาพู่ ผู้ชุมนุม 3.นายวิโรจน์ เข็มนาค ผู้ชุมนุม 4.พลทหารสนิท เวียงคำ และ 5.นายสุรเดช คำแปงใจ ซึ่งถูกเผาในรถบัส ทะเบียน 30-0170 กำแพงเพชร สำหรับนายสุรเดช ศพที่ 5 ที่มีการยืนยันนี้เนื่องจากทางกายภาพที่ถูกไฟเผาเหลือแต่โครงกระดูก แพทย์นิติเวชได้ตรวจยืนยันแล้วเป็นกระดูกของมนุษย์ที่มีอายุไม่มากนัก ซึ่งสอดคล้องกับทางญาติที่มาให้ข้อมูลบอกเป็นลูกชายวัย 19 ปี นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานที่เป็นหัวเข็มขัด และแหวนที่ญาติยืนยัน ประกอบกับการให้ปากคำของเพื่อนที่บอกว่าในวันเกิดเหตุได้ออกจากบ้านย่านเอกมัยเพื่อมาหาซื้อข้าวกิน แต่มาพบมีการชุมนุม จึงไปขอผ้ามาโพกศีรษะเพื่อร่วมชุมนุม แต่ไม่ได้เป็นนักศึกษารามคำแหง เมื่อมีการปะทะจึงเข้าไปหลบในรถบัส โดยผู้ตายวิ่งขึ้นชั้น 2 ส่วนเพื่อนที่รอดอยู่ชั้นล่าง จากนั้นรถบัสได้เกิดไฟลุกไหม้ซึ่งเป็นการลุกไหม้ลามจากด้านหน้าไปด้านหลัง ประตูที่ออกได้มีเพียงประตูหน้า เพื่อนที่อยู่ชั้นล่างหนีรอดออกมาได้ ส่วนผู้ตายสันนิษฐานว่าน่าจะวิ่งลงมาจากชั้น 2 ของรถเพื่อออกประตูตรงกลางแต่ออกไม่ได้ จึงพยายามหลบอยู่ที่บันไดทางขึ้น จนสำลักควันหมดสติ และถูกไฟคลอกเผาเหลือแต่กระดูกดังกล่าว
พล.ต.อ.จรัมพร กล่าวต่อว่า ถึงแม้ญาติจะยืนยันว่าศพที่เหลือแต่โครงกระดูกเป็นลูก แต่ต้องผ่านการพิสูจน์ตามหลักนิติวิทยาศาสตร์ โดยจะเทียบเคียงดีเอ็นเอ ซึ่งต้องรอผลประมาณ 1 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ได้เร่งรัดให้ส่งผลตรวจมาเร็วที่สุด และแพทย์ที่ตรวจพิสูจน์ก็รับปากจะได้ผลในวันศุกร์ที่ 6 ธ.ค.นี้ ถ้าผลตรวจดีเอ็นเอตรงกับญาติที่แจ้งไว้ก็จะอนุญาตให้นำออกจากโรงพยาบาลไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณี ระหว่างนี้ต้องรอไปก่อน สำหรับที่มีการพูดกันแพร่หลายวิจารณ์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่ามีการใช้สไนเปอร์นั้น จากผลการตรวจชันสูตรพบหัวกระสุนในร่างผู้เสียชีวิต และหลักฐานที่เป็นหัวกระสุนในที่เกิดเหตุแล้วยืนยันว่าไม่ใช่สไนเปอร์ เป็นการยิงในแนวราบขนานกับพื้นในระยะประชิด นอกจากนี้ เราได้ทำหนังสือขออนุญาตไปยัง ม.รามฯ เพื่อเข้าไปตรวจสอบความเสียหายจากการยิงปืนที่อาคารภายใน ม.รามฯ แต่ยังไม่มีการตอบรับ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นได้แบ่งการทำคดีออกเป็น 6 คดี แบ่งให้แต่ละโรงพักในพื้นที่ บก.น.4 รับผิดชอบ เป็นคดีที่มีการยิงจนเสียชีวิต 4 คดี คดีวางเพลิงเผาทำลายทรัพย์สิน 2 คดี ซึ่งมีการเผารถตู้ 2 คัน และรถบัส 1 คัน โดยศพที่พบในการเผารถบัสก็จะรวมเข้าเป็นคดีเดียวกัน คือ วางเพลิงเผาทรัพย์สินเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต และเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่ตรวจ 5 จุดทั้งใน และนอกพื้นที่ ม.รามคำแหง พบปลอกกระสุนทั้งหมด 34 ปลอก แบ่งเป็นกระสุน 7 ชนิด คือ ขนาด .45 มม. ขนาด .380 มม. ขนาด.38 มม. ขนาด 9 มม. ขนาด .32 มม. ขนาด .25 มม. และขนาด .22 มม. นอกจากนี้ ยังพบหัวกระสุนที่เป็นโลหะตกอยู่อีก 12 หัว รวมทั้งกระสุนที่ยังไม่ได้ยิง หรือเป็นกระสุนด้านอีก 2 นัด ซึ่งหลักฐานเหล่านี้ทางกองพิสูจน์หลักฐานจะได้นำไปตรวจสอบเทียบเคียงว่ากระสุนทั้งหมดถูกยิงจากปืนกี่กระบอก และผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า ระหว่างที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเรียกประชุมคดีดังกล่าวที่ สน.วังทองหลาง ก็ได้มีกลุ่มนักศึกษา ม.รามคำแหง กว่า 50 คน ระบุเป็นนักศึกษาชุดแรกที่ถูกช่วยเหลือออกมาจากพื้นที่ปะทะ เดินทางมาที่ สน.วังทองหลาง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าได้เชิญนักศึกษากลุ่มนี้มาให้ปากคำในฐานะพยานที่อยู่ในเหตุการณ์ จากนั้นได้เรียกระดมพนักงานสอบสวนทุก สน.ในพื้นที่ บก.น.4 มาแบ่งงานทำหน้าที่สอบสวน โดยได้จัดให้ สน.ประเวศ เป็นที่สำหรับสอบสวนพยานที่เป็นนักศึกษา ม.รามคำแหงทั้งหมด บางส่วนก็ขับรถไปเอง บางส่วนก็ไปกับรถเมล์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจัดมาไว้บริการ