ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำคุก 10 ปี กรรมการ บ.อเมริกัน สแตนดาร์ดฯ ให้ร่วมชดใช้หนี้บีบีซีอีก 1.5 พันล้าน ชี้เจตนาประเมินทรัพย์สินในราคาสูง ทำให้บีบีซีได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 2-3 ให้ยกฟ้อง
วันนี้ (6 ธ.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 812 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ 10765/2542 ที่พนักงานอัยการฝ่ายเศรษฐกิจและทรัพยากร1 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) หรือบีบีซี, นายเอกชัย อธิคมนันทะ อดีตผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี, นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารเงิน และวานิชธนกิจ บีบีซี, บริษัทอเมริกัน สแตนดาร์ด แอ๊พเพรซิลวา จำกัด และนายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ กรรมการผู้จัดการบริษัท อเมริกันฯ เป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์และความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535
คดีนี้โจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2537 - 4 มี.ค. 2539 จำเลยร่วมกับนายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 ด้านการให้สินเชื่อ ร่วมกับพวกทุจริต โดยจำเลยที่ 1 ร่วมกับนายราเกซ อนุมัติสินเชื่อจำนวน 1,000 ล้านบาท ให้แก่บริษัท ฟอร์ ฟิฟ ออเรจน์ จำกัด ซึ่งมีทุนจดทะเบียนเพียง 10,000 บาท โดยเอาโฉนดที่ดินจังหวัดสระแก้ว ที่มีเสาไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านใช้ทำประโยชน์อะไรไม่ได้ จำนวน 19 แปลง เนื้อที่ 462 ไร่ โดยจำเลยที่ 4-5 ประเมินราคาที่ดินสูงถึง 832 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าราคาประเมินทั่วไปถึง 10 เท่า โดยการประเมินมีเจตนาที่จะให้บริษัทใช้เป็นหลักทรัพย์ในการขอสินเชื่อ ทำให้บีบีซีได้รับความเสียหาย ซึ่งการจำเลยที่ 1 อนุมัติปล่อยสินเชื่อดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีคำสั่งให้รายงานการปล่อยสินเชื่อให้ ธปท.ทราบ ซึ่งไม่ให้อนุมัติสินเชื่อให้ให้แก่บริษัทที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และไม่มีผลประกอบรายได้ติดต่อกันเกิน 3 ปี ซึ่งกรณีที่อนุมัติสินเชื่อเกิน 30 ล้านบาท ต้องให้มีการผ่านมติกรรมการของบีบีซีก่อน แต่จำเลยที่ 1 กลับฝ่าฝืนทั้งที่ทราบคำสั่ง ธปท.แล้ว ซึ่งจำเลยที่ 1 อนุมัติสินเชื่อโดยใช้บัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อหมายเลข 0109 เจ ปล่อยเงินกู้ไป ทำให้ธนาคารเสียหายรวม 1,567,274,175 บาท
โดยศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2552 พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353, 354 ประกอบมาตรา 83 และ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ ฯ มาตรา 307, 311 และ 313 อันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ มาตรา 313 อันเป็นบทหนักสุด ให้จำคุกจำเลยที่ 1 รวม 13 กระทงๆ ละ 10 ปี จึงจำคุกทั้งสิ้น 130 ปี และปรับ 3,134,548,351.74 บาท แต่ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายมาตรา 91 เมื่อรวมโทษจำคุก ทุกกระทงความผิดในคดีที่มีอัตราโทษไม่เกิน 10 ปีแล้ว ให้จำคุกทั้งสิ้นได้ไม่เกิน 20 ปี จึงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้เป็นเวลา 20 ปี โดยให้รวมโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กับคดีที่ศาลอาญาและศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีพิพากษาไปก่อนหน้านี้ด้วย
ส่วนบริษัท อเมริกัน สแตนดาร์ดฯ จำเลยที่ 4 ให้ลงโทษปรับ 2,000 ล้านบาท และนายไพโรจน์ กก.ผจก.บริษัท อเมริกันสแตนดาร์ดฯ จำเลยที่ 5 ให้จำคุกเป็นเวลา 10 ปี และปรับ 2,000 ล้านบาทเช่นกัน โดยให้จำเลยที่ 1, 4-5 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซี รวม 1,567,274,175 บาท ส่วนนายเอกชัย อดีต ผช.กก.ผจก.ใหญ่บีบีซี จำเลยที่ 2 และนายวันชัย อดีต ผอ.สำนักบริหารเงิน และวานิชกิจธนกิจ บีบีซี จำเลยที่ 3 ศาลเห็นว่าบัตรรายการอนุมัติไม่ได้อยู่ในครอบครองของจำเลยทั้งสองขณะเกิดเหตุ ดังนั้นจึงไม่เป็นความผิด ขณะเดียวกันโจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2-3 ได้รับประโยชน์ใดจากการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าว จึงพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2-3 ต่อมาโจทก์และจำเลยที่ 1, 4 และ 5 ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของทั้งโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ปรับจำเลยที่ 4 จำนวน 2,000 ล้านบาท และจำคุกจำเลยที่ 5 เป็นเวลา 10 ปี และปรับ 2,000 ล้านบาท โดยให้จำเลยที่ 1, 4-5 ร่วมกันชดใช้เงินคืนแก่บีบีซี รวม 1,567,274,175 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3ให้ยกฟ้อง และนายเกริกเกียรติ จำเลยที่ 1 เสียชีวิตแล้ว จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ