xs
xsm
sm
md
lg

“ผบ.ตร.” ต้องรับผิดชอบ! ฆ่าโหด นศ.ที่รามคำแหง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สน.พระอาทิตย์ / สามยอด

ความวุ่นวายในบ้านเมืองบานปลายจนนำมาสู่ความแตกแยก ฆ่าฟันกันเอง และท้ายที่สุดความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดก็เกิดขึ้นคืนวันเสาร์ที่ 30 พ.ย.กลายเป็นค่ำคืนแห่งความเศร้าสลด เลือดไทยนองแผ่นดิน!!!


ภาพความวุ่นวายบริเวณถนนรามคำแหงที่มีการปะทะกันระหว่างกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กับกลุ่มคนเสื้อแดงที่รวมตัวอยู่ภายในสนามราชมังคลากีฬาสถาน เพื่อสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านกลุ่มออกมาเรียกร้องขับไล่ระบอบทักษิณตลอดช่วงค่ำคืนวันเสาร์ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกต่อผู้คนในสังคมไทย

เสียงปืน เสียงระเบิดปิงปอง เสียงการทุบทำลายข้าวของ เสียงโห่ร้องดังขึ้นระงวราวกับเกิดสงครามกลางเมืองย่อย เส้นทางถนนรามคำแหงซึ่งเคยเป็นพื้นที่สัญจร มีการค้าขาย มีสถานศึกษา ปรับเปลี่ยนสภาพเป็น “สนามรบ” เป็นพื้นที่อันตรายที่ประกาศห้ามไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปจนเกิดเหตุการณ์ “มิคสัญญี”ขึ้น

มีนักศึกษาประชาชนได้รับบาดเจ็บหลายราย และที่เลวร้ายมากกว่านั้น 1 ในนักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บได้เสียชีวิตลงจากคมกระสุนปืน

ใครยิง???

กลุ่มคนเสื้อแดงตำรวจ มือที่สาม หรือไอ้ฆาตกรที่มีจิตใจเหี้ยมโหดรายไหน

ยังไม่มีความชัดเจนเพราะยังไม่มีพยานหลักฐานที่ขัดเจน ฝ่ายนักศึกษาก็บอกเป็นชายฉกรรจ์ที่แต่งกายคล้ายตำรวจเป็นคนยิง ฝ่ายตำรวจก็บอกคนร้ายเป็นประชานไม่ทราบสีใด กลุ่มไหน เป็นคนลั่นไก

แต่ไม่ว่าใครเป็นคนยิงใครเป็นคนก่อเหตุ ใครเป็นคนจุดชนวนให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรง สิ่งสำคัญเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ และผู้ที่จะต้องรับผิดชอบอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “ตำรวจ”ผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในบ้านเอง

โดยเฉพาะ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รวมทั้งยังสวมหมวกอีกใบเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ในฐานะผู้บังคับบัญชามีอำนาจสูงสุดในการสั่งการต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ต้องยอมรับว่าการปะทะกันระหว่างกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง กับกลุ่มคนเสื้อแดงไม่ใช่เรื่องเกินความคาดหมาย เพราะทั้ง 2 กลุ่มที่มีแนวความคิดต่างกันมาตั้งเวทีอยู่ใกล้กันเพียงแค่รั้วสนามกีฬากันโอกาสเผชิญหน้า และเกิดการปะทะกันย่อมเป็นไปได้สูง แต่หน่วยงานด้านความมั่นคงที่รับผิดชอบอย่าง “ศอ.รส.”กลับไม่ท้วงติง ที่สำคัญการจัดกำลังมาดูแลความสงบเรียบร้อยก็ดูจะน้อยกว่าการจัดกำลังตำรวจมาเฝ้าถ้ำที่นั่งทำงานของ พล.ต.อ.อดุลย์ ในกรมปทุมวันเสียอีก

มิหนำซ้ำ พอเริ่มเกิดสัญญาณความรุนแรงมีการทำร้ายร่างกายนักศึกษารามคำแหง มีการลุกฮือจะเอาเรื่องกัน ปรากฏว่า พล.ต.ต.นัยวัฒน์ ผะเดิมชิต ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 (ผบก.น.4) ซึ่งรับผิดชอบอยู่ในพื้นที่กลับออกมาบอกถึงสถานการณ์การชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงว่ายังเรียบร้อยดี มีการวางกำลังตำรวจเท่าเดิม โดยยังไม่มีการเพิ่มเติมแต่อย่างใด

“ล่าสุด ในส่วนของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่รวมตัวด้านหน้ามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งยังสามารถควบคุมได้ ขณะเดียวกัน ตำรวจได้พยายามกันพื้นที่ของกลุ่มที่มีความคิดเห็นแตกต่างเพื่อหลีกเหลี่ยงการปะทะกันของทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย”

สุดท้ายสิ่งที่ตำรวจประเมินไว้ก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่ตรงกันข้ามหมด

น่าจะถึงเวลาหรือยังที่ควรจะต้องทบทวนบทบาท “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว”บนเก้าอี้ “หัวหน้าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์” เพราะความบกพร่องความผิดพลาดหลายๆ เรื่องที่เกิดขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมส่วนตัวที่ขัดแย้งกับการทำหน้าที่ต้นธารกระบวนการยุติธรรมซึ่งต้องใช้ความเป็นกลางในการทำหน้าที่ ถูกตั้งคำถามจากสังคมเรื่อยมา

ยิ่งในสถานการณ์บ้านเมืองตึงเครียด มีความขัดแย้งทางความคิดมีการแบ่งฝัก แบ่งฝ่าย สังคมส่วนรวมกำลังต้องการ “กรรมการ”มาควบคุมความเป็นกลางเพื่อตัดสินความถูกผิด แต่ดูเหมือน พล.ต.อ.อดุลย์ จะเลือกยืนอยู่ใต้เงาบางคนบางกลุ่ม ไม่เลือกยืนอยู่ใต้เงาแห่งความยุติธรรม

เห็นได้ชัดจากกรณีมีตำรวจตัดต่อข้อความด่าทอกลุ่มผู้ชุมนุมที่ออกมาต่อต้านระบอบทักษิณจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมารับเองว่าเป็นฝีมือลูกน้อง แต่กลับไม่มีดำเนินการใดๆ แม้ผู้เสียหายไม่ติดใจเอาความตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ในฐานะผู้รักษากฎหมายเมื่อทำผิดกฎหมายเองก็ต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อสังคม ไม่ใช่เจ้าทุกข์ไม่เอาความเงียบๆ แล้วก็จบๆ กันไป เหมือนไม่ได้ทำผิดกฎหมายแต่ทำในสิ่งที่กฎหมายห้ามว่างั้น

ตรงกันข้ามกับการกระทำของกลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณ ที่ยกขบวนมาชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วเปิดปฏิบัติการตัดน้ำ ตัดไฟ “โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”รีบชิงออกมาป่าวประกาศใส่ความกลุ่มผู้ชุมนุมทันทีด้วยการจับคนไข้โรงพยาบาลตำรวจเป็นตัวประกัน ย้ำเสียงดุดันบอกการตัดไฟของกลุ่มผู้ชุมนุมครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อคนไข้โรงพยาบาลตำรวจหลายร้ายคน

ทั้งที่จริงๆ แล้วหม้อแปลงไฟฟ้าของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กับโรงพยาบาลตำรวจ คนละส่วนกัน และยิ่งตอกย้ำการจับคนไข้เป็นตัวประกันจากฝีมือตำรวจก็นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ออกมายืนยันเองว่า โรงพยาบาลยังมีกระแสไฟใช้เป็นหม้อแปลงเป็นคนละตัว กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ได้มาตัดไฟโรงพยาบาล แล้วสิ่งที่โฆษกตำรวจพูดคืออะไร

เช่นเดียวกับสภาพสังคมปัจจุบัน คดีลักวิ่งชิงปล้น เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้าเหตุความรุนแรงหลายๆครั้ง ตำรวจไม่สามารถจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดี โจรออกปล้นธนาคาร ปล้นร้านทอง ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่ง พล.ต.อ.อดุลย์ เคยคคลุกคลีทำงานอยู่หลายปี ก็ไม่กระเตื้องเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่หลายคนตั้งความหวังว่าเมื่อคนที่เคยอยู่ในพื้นที่มาเป็นผู้นำหน่วยสถานการณ์ต่างๆ จะต้องดีขึ้นแต่ทุกอย่างก็ตรงกันข้าม

ชัดเจนแดงแจ๋ขนาดนี้ก็น่าจะถึงเวลาที่ต้องทบทวนบทบาทหน้าที่ “ผู้นำสีกากี”ของพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ตำแหน่งหน้าที่ที่ต้องการคนที่เป็นกลาง เป็นต้นธารกระบวนการยุติธรรมให้แก่สังคมอย่างแท้จริง

ขีดเส้นความชอบธรรมของ“อดุลย์ แสงสิงแก้ว”ได้หมดลงแล้ว ตั้งแต่คืนที่เลือดนองที่รามคำแหง
(แฟ้มภาพ) พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.
กำลังโหลดความคิดเห็น