xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดฯ กก.แจ้งจับขบวนการตุ๋นจิวเวลรีปลอมนักท่องเที่ยว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

คณะปลัดฯท่องเที่ยวและกีฬา ร้องดีเอสไอ
ปลัดท่องเที่ยวและกีฬา ร้องดีเอสไอเอาผิดขบวนการหลอกขายจิวเวลรีปลอมให้นักท่องเที่ยว เบื้องต้นเสียหายกว่าแสนล้าน เผยพื้นที่ กทม.ถูกหลอกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ จ่อผุดศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามการหลอกลวงนักท่องเที่ยวสัปดาห์หน้า



วันนี้ (21 พ.ย.) เมื่อเวลา 11.30 น. ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) พร้อมด้วยนายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อขอให้ตรวจสอบร้านจิวเวลรีในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ภายหลังจากที่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติร้องเรียนว่าถูกผู้ประกอบการค้าจิวเวลรีหลอกขายอัญมณีปลอมให้

นายสุวัตรกล่าวว่า ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีทรัพยากรและคนดีๆ อยู่มาก แต่ก็มีสิ่งชั่วร้ายแฝงอยู่ บอกตรงๆ ว่าเราไม่สามารถขจัดสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปได้ คือ โสเภณี แก๊งหลอกลวง และยาเสพติด ซึ่งทำได้เพียงแก้ปัญหาให้ลดลงน้อยที่สุด แต่จะทำให้เป็นศูนย์คงทำไม่ได้ เพราะตราบใดที่ยังมีพวกเห็นแก่ได้ไม่เห็นแก่ประเทศชาติ ทั้งนี้กรณีดังกล่าวสร้างความเสียหายเป็นมูลค่า 2-3 แสนล้านบาทต่อปี และผู้ที่มีอำนาจในการซื้อที่ตกเป็นเหยื่อเมื่อถูกหลอกแล้วกลับไปยังประเทศเขา เขาก็ไปบอกกันปากต่อปาก หรือเผยแพร่ในทางโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้ประเทศเยหาย และที่ผ่านมานักท่องเที่ยวได้มีการร้องเรียนที่สถานทูตประจำประเทศ ล่าสุดมีนักท่องเที่ยวชาวโปรตุเกตร้องเรียนที่สถานทูตว่าถูกหลอกลวงให้ซื้ออัญมณีปลอมจากร้านค้าจิวเวลรีในกรุงเทพฯ

ปลัดท่องเที่ยวและกีฬากล่าวอีกว่า ขบวนการหลอกลวงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ซื้ออัญมณีปลอมนั้น เริ่มจากคนขับรถตุ๊กตุ๊ก ทั้งนี้เราจะส่งสัญญาณไปยังคนที่อยู่ในขบวนการเหล่านี้ว่าภาครัฐได้ร้องขอความร่วมมือแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ดังนั้นต่อไปนี้จะต้องมียาแรง ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จึงต้องเดินทางมาร้องดีเอสไอในวันนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ก่อนที่จะมาร้องเรียนที่ดีเอสไอ มีนักท่องเที่ยวที่เป็นเหยื่อมาร้องเรียนแล้วกี่ราย นายสุวัตรกล่าวว่า ก่อนหน้าที่มีนักท่องเที่ยวร้องเรียนผ่านทำเนียบรัฐบาลแล้วประมาณ 30 ราย ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวหลังจากถูกหลอกแล้วก็ต้องรีบเดินทางกลับประเทศ แต่เมื่อมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมกันของ 2 กระทรวงก็จะสามารถดำเนินการจัดการกับผู้ที่หลอกลวงนักท่องเที่ยวให้เสร็จโดยเร็วภายใน 2-3 วัน

เมื่อถามว่า มีข้อสังเกตอย่างไรบ้างว่าร้านค้าอัญมณีร้านใดที่น่าเชื่อถือได้ ปลัดฯท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า ข้อสังเกตเบื้องต้นร้านค้าจิวเวลรีที่น่าเชื่อถือได้จะมีสัญลักษณ์ตราช้างชูงวงของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และเครื่องหมายการค้าจิวเวลรี เฟช คลับ ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือกันแก้ปัญหาระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวฯ กับผู้ค้าอัญมณีที่สุจริต โดยจัดตั้งชมรมจิวเวลรี เฟช คลับ อย่างไรก็ตาม การหลอกลวงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯเป็นส่วนใหญ่มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระบวนกาค้าอัญมณีปลอมในพื้นที่กรุงเทพฯ กับภูเก็ตไม่ได้มีความเชื่อมโยงกัน

นายวัชระกล่าวว่า เราต้องการให้มีบทลงโทษขบวนการหลอกลวงนักท่องเที่ยวให้ซื้ออัญมณีปลอม หรือด้อยคุณภาพ โดยให้นำมาตราทางการเงินและภาษีมาบังคับใช้ รวมไปถึงนำกฎหมายการฟอกเงินมาจัดการ เพื่อต้องการให้มีการยึดทรัพย์หรือดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับคนเหล่านี้ เพราะที่ผ่านมาจากการติดตามพฤติกรรมของขบวนการนี้ พบว่าตั้งใจทำความผิดโดยใช้วิธีการเปลี่ยนชื่อร้าน เจ้าของร้าน และหุ้นส่วนร้านไปเรื่อยๆ แต่ยังร้านยังคงอยู่ที่เดิม และจากการได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการที่สุจริตทราบว่า โดยธรรมชาติของการตั้งกำไลค้าอัญมณีนั้น แต่ละชิ้นจะได้กำไล 100-200 เปอร์เซ็นต์ต่อชิ้น

ด้านนายธาริตกล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้ได้เกิดความเสียหายเป็นอย่างมากต่อประเทศ และโดยเฉพาะกำลังจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซัน ดังนั้น ดีเอสไอจะรีบดำเนินการ โดยจะส่งเจ้าหน้าที่แฝงตัวไปทำการล่อซื้อ เบื้องต้นมีเป้าหมายอยู่ในกรุงเทพฯ และรอบปริมณฑลประมาณ 20 แห่ง นอกจากนี้ ในพื้นที่หัวเมืองภูเก็ต เกาะสมุย และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายถัดไป เพราะส่งผลกระทบเสียหายต่อการท่องเที่ยว ทั้งนี้จะมีการทำงานแบบสนธิกำลังในระดับข้าราชการระหว่างตนและปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขณะที่ฝ่ายบริหารนั้น นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และนายชัยเกษม นิติสิริ รมว.กระทรวงยุติธรรม ได้พูดคุยกันแล้วว่าจะให้การสนับสนุนการทำงาน

ทั้งนี้ หากใครมีเบาะแส หรือทราบเรื่องก็ให้บอกต่อกับนักท่องเที่ยวว่าถ้าพบการขายอัญมณีปลอมและด้วยคุณภาพให้แจ้งกับทางดีเอสไอหรือหน่วยงานของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ซึ่งได้มีการจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าวแบบขุดรากถอนโคน

อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ขบวนการหลอกลวงค้าอัญมณีปลอมมาซ้ำเติมปัญหาให้ประเทศเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นจะต้องมีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมกันของ 2 กระทรวงเพื่อแก้ปัญหา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เกิดความมั่นใจอย่างเต็มที่ ทั้งนี้เราจะดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดนี้โดยจะดำเนินการเอาผิดในเรื่องฉ้อโกงประชาชน และฟอกเงินเพราะกลุ่มคนดังกล่าวมีพฤติกรรมที่ชัดเจนเจตนาในการทำความผิด และจะนำมาตรการทางภาษีมาจัดการกับขบวนการนี้ เพราะมีพฤติกรรมที่จดทะเบียน 1-2 ปีและเลิกกิจการไป หรือใช้ชื่อลูกจ้างมาจดชื่อเป็นเจ้าของร้าน ใช้นอมินีจดชื่อแทน ซึ่งผู้บงการจริงๆ จะไม่ปรากฏ ดังนั้นจะดำเนินการเพื่อนำไปสู่การยึดทรัพย์ โดยจะเริ่มปฏิบัติตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป และศูนย์ปฏิบัติการปราบปรามการหลอกลวงนักท่องเที่ยว จะเริ่มดำเนินการจากกรณีดังกล่าวเป็นอันดับแรก ทั้งนี้จะมีการจัดตั้งวอลรูมศูนย์ดังกล่าวที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อย่างไรก็ตาม ศูนย์ฯ จะเปิดเป็นทางการได้ ภายในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้ตนขอเตือนคนขับรถแท็กซี่ ตุ๊กตุ๊ก และมัคคุเทศก์ ซื้อเป็นผู้ที่ได้ค่าตอบแทนเป็นเปอร์เซ็นต์จากขบวนการนี้ หรือที่เรียกกันว่า “ค่าน้ำ” นั้นว่าถือว่าเข้าข่ายสนับสนุนการกระทำความผิด ให้รีบกลับตัวกลับใจ สำหรับมูลค่าที่นักท่องเที่ยวถูกหลอกให้ซื้อมูลค่ารวมประมาณพันกว่าล้าน แต่ผลกระทบที่สร้างความเสียหายต่อประเทศที่จะได้รายได้จากการท่องเที่ยวประมาณการไม่ได้ เบื้องต้นมากกว่าแสนล้านบาท
นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (แฟ้มภาพ)
นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น