xs
xsm
sm
md
lg

สื่อนอกตีแผ่ “เสียงนกหวีด” ดับฝัน “แม้ว” กลับไทย-ถึงขั้นเสียอำนาจทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอพี - สื่อต่างประเทศการชุมนุมเป่านกหวีดบนท้องถนนในกรุงเทพฯ นานกว่า 2 สัปดาห์ เป็นการส่งสารที่ชัดเจนว่าโอกาสกลับถิ่นเกิดของ “ทักษิณ” คงไม่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ อ้างนักวิเคราะห์ชี้ย่างก้าวที่ผิดพลาดของ “ยิ่งลักษณ์” และรัฐบาล อาจทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีรายนี้ถึงขั้นสูญเสียอำนาจทางการเมือง

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ทักษิณ ชินวัตร ผู้หลบหนีอยู่ในต่างแดน ต้องเฝ้ารอมานานกว่า 5 ปี ในการกลับบ้านเกิด โดยในนั้น 2 ปีหลังสุดเป็นยุคสมัยที่น้องสาวของตนเองอยู่ในอำนาจ อย่างไรก็ตาม แรงประท้วงอย่างกว้างขวางต่อข้อเสนอในการกลับประเทศ ด้วย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ครอบคลุมถึงฐานความผิดคอรัปชัน บ่งชี้ว่าการรอคอยของเขายังคงห่างไกลจากจุดสิ้นสุด

เอพีอ้างความเห็นของนักวิเคราะห์ระบุว่า ย่างก้าวที่ผิดพลาดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ชี้ให้เห็นว่า ทักษิณ นักการเมืองทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศ บางทีอาจกำลังสูญเสียอำนาจในการเมืองไทยก็เป็นได้

“ผมคิดว่าบางทีมันอาจหมายถึง ทักษิณ สูญเสียความสามารถในการคาดคะเนหรือพยากรณ์ภูมิทัศน์ทางการเมืองไทย” วีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระให้ความเห็นกับเอพี ขณะเดียวกันสำนักข่าวแห่งนี้ก็อ้างคำสัมภาษณ์ของนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเสริมว่า “นี่คือปัญหาของทักษิณ เขาใจร้อนเกินไปและจากนั้นก็ทำผิดพลาด”

รายงานข่าวของเอพีระบุต่อเป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ถึงผิดหวังอย่างยิ่ง เพราะแม้พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนเขาจะคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย 2 สมัยในปี 2007 และ 2011 ให้เงินอุดหนุนคนเสื้อแดง รวมถึงอาจมีข้อตกลงใต้โต๊ะที่ต้องใช้เงินจำนวนหลายล้านดอลลาร์ แต่ทุกอย่างล้วนล้มเหลวในความพยายามปลดเปลื้องตนเองจากภัยคุกคามของช่วงเวลาที่ต้องไปใช้ชีวิตในคุก

ในรายงานของเอพีเท้าความกลับไปในอดีต ระบุทักษิณถูกขับไล่ในปี 2006 หลังจากการประท้วงของชนชั้นกลางที่กล่าวหาเขาคอร์รัปชัน ละเมิดสิทธิมนุษยชนและขาดความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เปิดทางให้กองทัพทำรัฐประหาร ปฏิบัติการที่กระทบทั้งเกียรติภูมิและกระเป๋าเงินของเขา เหตุถูกยึดทรัพย์สินเป็นจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์

รัฐประหารคราวนั้นจุดชนวนการประท้วงรุนแรงระหว่างฝ่ายสนับสนุนทักษิณและฝ่ายต่อต่อต้านในบางครั้ง โดยสถานการณ์ดำดิ่งถึงจุดเลวร้ายสุดในปี 2010 เมื่อกองทัพปราบปรามผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนทักษิณ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 90 คน

สำนักข่าวเอพีรายงานต่อว่า ทักษิณถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานละเมิดกฎหมายผลประโยชน์ขัดแย้งในปี 2008 และตัดสินใจหลบหนีหลังถูกลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี ดังนั้นการเปิดทางให้เขากลับบ้านจึงเป็นเป้าหมายอย่างลับๆของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์

เอพีขยายความว่า หลังสานสัมพันธ์อันราบรื่นกับทหาร เมื่อเดือนที่แล้วรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เคลื่อนไหวนำร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเข้าสู่สภา โดยฉบับต้นร่างเป็นแค่การยกโทษให้แก่ประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมืองของทุกสีทุกเหล่าเท่านั้น ไม่รวมถึงระดับแกนนำและผู้สั่งการ อย่างไรก็ตามหลังสภาผู้แทนราษฎรฯ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้มีการปรับแก้ในขั้นกรรมาธิการให้ครอบคลุมถึงเหล่านักการเมืองคนสำคัญ ในนั้นรวมถึงทักษิณด้วย

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ากลยุทธ์ล่อเหยื่อนี้พลิกคว่ำไม่เป็นท่า มันจุดชนวนความโกรธกริ้วและผิดหวังทั้งในหมู่ฝ่ายต่อต้านหรือแม้แต่ฝ่ายสนับสนุนทักษิณเอง ในนั้นรวมถึงคนเสื้อแดงซึ่งไม่พอใจที่ พ.ร.บ.นี้ไม่ยกโทษให้แก่คนที่ถูกกล่าวหาละเมิดกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ เช่นเดียวกับคนเสื้อแดงที่สูญเสียเพื่อนและญาติๆในปฏิบัติการปราบปรามของทหารปี 2010 ที่บอกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน อดีตนายกรัฐมนตรี ณ ขณะนั้น ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านซึ่งไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ก็ต่างต่อต้าน พ.ร.บ.ที่คุ้มครองเจ้าหน้าที่จากการถูกลงโทษฉบับนี้

ถ้อยแถลงของทักษิณ ที่เผยแพร่ผ่านทนายความคร่ำครวญว่าวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.ถูกบิดเบือน และโดนใส่ร้ายว่าล้างผิดให้คนคนเดียว ทั้งๆ ที่จุดประสงค์ที่แท้จริงคือ การก้าวข้ามความขัดแย้งและคืนความเป็นธรรมให้เหยื่อรัฐประหารปี 2006 กระนั้นด้วยความโกรธเคืองที่หนักหน่วงขึ้นและอาจกัดเซาะฐานทางการเมือง รัฐบาลของยิ่งลักษณ์ ก็ส่งสัญญาณปล่อยให้ พ.ร.บ.นี้ตกไป จากนั้นวุฒิสภาก็ลงมติไม่รับร่างในวันจันทร์ (11) ทั้งนี้แม้ว่าจะสามารถฟื้นร่างฯ นี้ขึ้นมาใหม่ได้หลังผ่านไป 180 วัน แต่ยิ่งลักษณ์ ก็ให้คำรับประกันว่าจะไม่ทำแบบนั้น

“พรรคเพื่อไทยควรตระหนักถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากความพยายามบังคับประชาชนให้ยอมรับการกระทำของพวกเขา” นายปริญญาให้สัมภาษณ์กับเอพี พร้อมมองคล้ายกับนักสังเกตการณ์ทางการเมืองคนอื่นๆ ที่บอกว่าการปฏิเสธ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คือตัวกัดเซาะความหวังของทักษิณที่จะกลับบ้านในเร็ววัน “ณ ตอนนี้ ทักษิณ ควรเก็บตัวอยู่เงียบๆ” "ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโตกล่าว อย่างไรก็ตามเขาเชื่อว่า ทักษิณ ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเมืองไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น