ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วันนี้ (5 พ.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล อดีตเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา ได้เขียนบทความแจกจ่ายให้สื่อมวลชนสายกระบวนการยุติธรรม โดยใช้ชื่อหัวข้อว่า “นิรโทษเผด็จการ : นิรโทษประชาธิปไตย” ที่เขียนเป็นบทความเชิงวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบันว่ามีความเเตกต่างกันอย่างไรไว้อย่างน่าสนใจ
นิรโทษเผด็จการ : นิรโทษประชาธิปไตย
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16 ปาฐกถาในงานรำลึก 40 ปี 14 ตุลาฯ เกี่ยวกับความหมายทางการเมืองและเจตนารมณ์ของเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อ 13 ตุลาคม 56 ไว้ตอนหนึ่งว่า “ถ้านับจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งเป็นหมุดหมายแรกแห่งการปักธงประชาธิปไตยของสังคมไทย เวลาก็ผ่านมานานกว่า 80 ปี อย่างไรก็ตาม เวลาที่ผ่านไปไม่ใช่พื้นที่ที่ว่างเปล่า แค่นับเฉพาะ 40 ปีหลัง เราก็จะพบว่ามีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว ในจำนวนนี้เป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 3 ครั้ง คือ ในปี 2519, 2534, 2549 ยังไม่ต้องเอ่ยถึงการใช้กำลังรุนแรงโดยฝ่ายรัฐในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กรณีพฤษภาคม 2535 และกรณีกระชับพื้นที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553”
คำกล่าวนี้สื่อว่า เสกสรรค์มองเหตุการณ์กรณีกระชับพื้นที่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ว่าเป็นการชุมนุมเรียกร้องตามอุดมการณ์ประชาธิปไตยเช่นเดียวกับเหตุการณ์ในอดีตหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา ซึ่งได้ใจคนเสื้อแดงไปไม่น้อย ทั้งที่เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 16, 6 ตุลาฯ 19 และพฤษภาฯ35 กับเหตุการณ์ในเดือนพฤษภาคม ปี 2553 มีองค์ประกอบของเหตุการณ์ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์การใช้เงินทุนมากมายสนับสนุนการชุมนุม
การชูนายทุนเป็นผู้นำด้วยวาทกรรมไพร่อำมาตย์ การใช้อาวุธสงครามสร้างความรุนแรงฆ่าและทำร้ายทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ทหาร ใช้ระเบิดเพื่อวินาศกรรมเสาไฟฟ้าแรงสูง ยิงถังน้ำมันเชื้อเพลิงและวัดพระแก้ว เผาสถานที่ราชการและห้างสรรพสินค้า ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เรียกร้องเอาคืนอำนาจรัฐ แกนนำเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองหลังการชุมนุม และในท้ายที่สุดยังมีความพยายามดำเนินการใช้รัฐสภาตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ฝ่ายผู้ชุมนุมเสียเอง แต่ฝ่ายผู้ใช้อำนาจรัฐในขณะนั้นกลับไม่เรียกร้องให้มีการนิรโทษ ทั้งยังยอมรับที่จะให้มีการแสวงหาข้อเท็จจริงและพิสูจน์ความผิดตามกระบวนการยุติธรรม
เมื่อกล่าวถึงการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองต่างๆ ในอดีตที่ผ่านมาปรากฏข้อมูล ดังนี้
16 ตุลาฯ 16 จอมพลถนอม กิตติขจร ลี้ภัยออกไปนอกประเทศ รัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการร่วมชุมนุมเดินขบวนระหว่างวันที่ 8-15 ตุลาฯ 16 แต่ไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมโดยเฉพาะทหาร/ตำรวจที่เข้าปราบปรามนักศึกษา/ประชาชน
24 ธันวาฯ 19 นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ซึ่งเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการเสนอชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาฯ 19 โดยไม่นิรโทษกรรมให้แก่นักศึกษา/ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐ/ผู้ต่อต้านฯที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม จนกระทั่ง พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการเสนอชื่อของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ในปี 2521 จึงออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่าง 4-6 ตุลาฯ 19 ทั้งหมด
2 พฤษภาฯ 34 นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีจากการเสนอชื่อของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดและควบคุมอำนาจการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับข้อกล่าวหาฉ้อราษฎร์บังหลวงของรัฐบาลชาติชาย ชุณหะวัณ
23 พ.ค. 2535 พล.อ.สุจินดา คราประยูร ออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมให้แก่ผู้ชุมนุม/เจ้าหน้าที่รัฐจากเหตุการณ์การชุมนุมทางเมือง ระหว่างวันที่ 17-21 พฤษภาฯ 35 และประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันรุ่งขึ้น สร้างความกังขาให้กับหลายฝ่ายที่มองว่ากฎหมายนิรโทษกรรมนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้แก่การสังหารผู้ชุมนุม แม้ต่อมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ประจำปี 2535 ครั้งที่ 4 เมื่อ 7 ตุลาฯ 35 ที่ประชุมได้ลงมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าวทำให้ พ.ร.ก.นิรโทษกรรมตกไป ก็ไม่เป็นผลให้การนิรโทษกรรมต้องถูกยกเลิก เป็นเหตุให้บรรดาญาติวีรชนจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬไม่สามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดได้อีก
กรณีอาจกล่าวได้ว่าการนิรโทษกรรมในเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาดังกล่าว เป็นการกระทำโดยผู้มีอำนาจรัฐซึ่งมีที่มาเกี่ยวเนื่องจากการปฏิวัติรัฐประหารที่กล่าวกันว่าเป็นเผด็จการหรือไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งสิ้น โดยเฉพาะไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการเรียกร้องจากผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมให้มีการนิรโทษกรรมแต่อย่างใด
สำหรับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในเหตุการณ์กระชับพื้นที่เมื่อเดือนพฤษภาฯ 53 ซึ่งเพิ่งผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยไปในขณะนี้ กลับมีการเริ่มต้นเสนอกฎหมายโดย ส.ส.ฝ่ายที่มาจากผู้ร่วมชุมนุมที่ประกาศตัวว่าเป็นการใช้สิทธิการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 63 และได้รับการพิจารณาจากผู้มีอำนาจรัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ชุมนุมที่กล่าวว่าเป็นประชาธิปไตยเสียเอง และกำลังกระทำการดำเนินรอยตามผู้มีอำนาจรัฐที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการ โดยเฉพาะการนิรโทษกรรมในครั้งนี้ไม่เพียงแต่นิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมในการชุมนุม และผู้มีอำนาจรัฐในขณะที่มีการชุมนุมเท่านั้น แต่ยังมีการนิรโทษกรรมให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาทุจริตคอร์รัปชัน โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส.ด้วย
โดยให้เหตุผลว่า คตส.เป็นองค์กรหรือคณะบุคคลที่แต่งตั้งโดยคณะปฏิวัติที่ไม่มีความชอบธรรมและไม่เป็นที่ยอมรับในทางสากล ซึ่งคดีเหล่านั้นได้แก่ คดีที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า คดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท ของอดีตนายกรัฐมนตรี หรือคดีทุจริตจัดซื้อรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกและยึดทรัพย์ไปแล้ว
เมื่อย้อนประสบการณ์ในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน หรือ คตส.โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ( รสช.) เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 เพื่อยึดทรัพย์นักการเมืองสมัยรัฐบาลของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ รสช.ได้ออกคำสั่งให้อำนาจแก่ คตส. ทั้งการไต่สวนตรวจสอบชี้มูลความผิด ตลอดจนให้มีอำนาจออกคำสั่งยึดทรัพย์นักการเมืองที่ร่ำรวยผิดปกติได้โดยไม่ต้องมีการส่งฟ้องต่อศาล จนกระทั่งมีการเรียกร้องว่าเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม และรัฐสภาได้มีการออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ให้นักการเมืองที่ถูก คตส.ยึดทรัพย์สามารถนำคดีมาสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลได้
และศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่ตามคำสั่งศาลฎีกาที่ 912/2536 , 921/2536, 1131/2536 ฯลฯ ได้มีคำสั่งให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินที่เกี่ยวกับผู้ร้อง (นายมนตรี พงษ์พานิช นายสุบิน ปิ่นขยัน และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) ซึ่งคำสั่งของศาลฎีกาดังกล่าวนับได้ว่าเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่มีใครออกมาเรียกร้องให้มีการยกเลิกกระบวนการพิจารณาและผลการตัดสินของศาลฎีกาแต่อย่างใด จะเห็นได้ว่า เมื่อมีการออกแบบกระบวนการตรวจสอบนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชันโดย คตส.ที่แต่งตั้งจากคณะปฏิวัติมาเชื่อมต่อกับกระบวนการยุติธรรมตามระบบปกติแล้ว การดำเนินการก็ได้รับความยอมรับจากทุกฝ่าย ไม่มีการกล่าวหาว่าไม่ชอบธรรมหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมอีกต่อไป
บทเรียนดังกล่าวทำให้ผู้ออกแบบกระบวนการตรวจสอบนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่นภายหลังการปฏิวัติโดยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช.19 กันยายน 2549 ออกแบบกระบวนการตรวจสอบโดยกำหนดให้ คตส.มีอำนาจหน้าที่เพียงแค่ไต่สวนตรวจสอบและชี้มูลความผิดของนักการเมืองในรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชันเช่นเดียวกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.เท่านั้น โดยให้มีการเชื่อมต่อกับกระบวนการยุติธรรมปกติผ่านอัยการสูงสุด และเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่ว่าจะเป็นคดีที่ดินรัชดา คดียึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท และคดีทุจริตจัดซื้อเรือและรถดับเพลิงของกรุงเทพมหานคร หรือคดีอื่นๆ อีกหลายคดี
นักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตคอร์รัปชั่นทุกคนรวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้ใช้โอกาสในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่แล้ว ทั้งศาลฎีกาฯ ก็ได้ตรวจสอบกระบวนการไต่สวนของ คตส.ตามหลักกฎหมายทุกประการ แต่เมื่อศาลตัดสินว่าเขาเหล่านั้นมีความผิด กลับมีการกล่าวหาว่ากระบวนการดำเนินคดีไม่ชอบเพราะ คตส.มาจากคณะปฏิวัติทำให้เขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นผลไม้พิษจากต้นไม้พิษ โดยไม่มีผู้ใดไม่เว้นแม้แต่นักวิชาการฝ่ายที่ต่อต้านการปฏิวัติ ออกมาโต้แย้งคัดค้านในเนื้อหาสาระของคดีว่านักการเมืองที่ถูกศาลฎีกาฯตัดสินไม่ได้กระทำความผิดทุจริตคอร์รัปชันแต่อย่างใด
วันนี้กำลังมีความพยายามอย่างเต็มที่ที่จะใช้รัฐสภาที่ว่าเป็นระบอบประชาธิปไตยมาจากการเลือกตั้งของประชาชนออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมมาเพื่อลบล้างการกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าว โดยไม่ใช่ลบล้างแต่เฉพาะกระบวนการในการไต่สวนตรวจสอบชี้มูลของ คตส.ที่กล่าวหาว่ามีที่มาไม่ชอบธรรม
ดังนั้น ในฐานะอดีตเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา จึงขอตั้งคำถามกลับไปยังผู้ที่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ว่า กระบวนการฟ้องร้องของอัยการสูงสุดและการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งพิพากษาลงโทษนักการเมืองที่ถูกปฏิวัติในปี 2549 นั้น มีความแตกต่างจากกระบวนการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาในการตัดสินคดียึดทรัพย์ของนักการเมืองที่ถูกปฏิวัติในปี 2534 ซึ่งได้รับความยอมรับจากทุกฝ่ายแล้วอย่างไร และคงต้องเรียกร้องขอให้รัฐสภาพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ประเทศชาติ และประชาชนผู้เสียภาษี ตลอดจนบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมที่ร่วมกันตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ในคดีเหล่านี้เพื่อแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันด้วยความสุจริต เป็นกลาง และทุ่มเทเสียสละอย่างอยากลำบากเป็นอย่างยิ่งด้วย
การนิรโทษกรรมโดยเผด็จการก็เพียงยกโทษให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้เข้าร่วมการชุมนุมในทางการเมือง แต่การนิรโทษกรรมโดยประชาธิปไตยนอกจากจะยกโทษแก่ผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ยังยกโทษและลบล้างความผิดในคดีทุจริตคอร์รัปชันทั้งหมดของนักการเมืองที่ผ่านการตรวจสอบโดยอำนาจตุลาการแล้วไปด้วย จึงน่าเป็นห่วงว่าผลสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังการบังคับใช้ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในเหตุการณ์กระชับพื้นที่เมื่อเดือนพฤษภาฯ 53 อาจไม่เพียงลบล้างความผิดของทุกฝ่ายอย่างสุดซอย แต่อาจลบล้างหลักการแบ่งแยกการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และทำลายวัฒนธรรมความซื่อสัตย์ที่ดีงามของสังคมไทยลงอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย หรือนี้คือความหมายที่แท้จริงของคำว่า “Set Zero”
บทความ : อนุรักษ์ สง่าอารีย์กูล อดีตเลขานุการแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา/เขียน