xs
xsm
sm
md
lg

รอง ผบช.น.ปลื้มมาตรการยกรถ ปชช.ทำผิด กม.จราจรลดลง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น(แฟ้มภาพ)
รอง ผบช.น.เผยมาตรการยกรถทำให้ผู้ขับขี่มีวินัยมากขึ้น ยอดทำผิดกฎหมายจราจรลดลง ด้าน “บก.จร.” ย้ำเตือน 40 เส้นทาง “ยกจริงจับจริง” ไม่เว้นแม้สัปดาห์เปิดเทอม

วันนี้ (4 พ.ย.) ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รอง ผบช.น.รับผิดชอบงานจราจร กล่าวว่า ภาพรวมมาตรการยกรถแทนล็อกล้อโครงการพัฒนาและแก้ปัญหาการจราจร กทม.ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล รวม40 เส้นทางครอบคลุมทั่ว กทม.ช่วงที่ผ่านมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย หลังจากขยายพื้นที่ยกจริงจับจริงอีก 30 เส้นทาง เริ่มวันแรก 1 พ.ย.ในพื้นที่รับผิดชอบ 57 สน.ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ประชาชนเคารพกฎจราจรมากขึ้น มีผู้กระทำความผิดน้อยมากรวม 3 วัน (1-3 พ.ย.) ไม่ถึง 20 ราย แต่ยังมีประปรายบ้างบนถนนพญาไท ถนนพหลโยธิน ถนนสาทร ถนนลาดพร้าว เพราะเป็นเส้นทางยาวซึ่งยอดผู้กระทำความผิดลดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจกับข้อมูลข่าวสารการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนของ บช.น.และ บก.จร.เป็นอย่างดี ส่งผลให้ถนนทั้ง 40 สายจากเดิมที่เริ่มนำร่อง 10 สาย มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย การจราจรคล่องตัวไม่มีรถจอดกีดขวางการจราจรช่วงเช้าเย็นเร่งด่วนจากเดิมที่มักจะเสียช่องจราจรไป 1 ช่องทางตอนนี้รถวิ่งกันได้เต็มที่แล้ว และเป็นเรื่องดีสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนแต่เป็นปัญหาของคนเดินเท้าเพราะ รถขับขึ้นไปจอดบนฟุตบาทกันหมดทำให้ประชาชนไม่มีที่เดินซึ่งจะประสาน กทม.ให้ดำเนินการติดป้ายแจ้งเตือนเพราะบนทางเท้าเป็นพื้นที่รับผิดชอบของ กทม.

รอง ผบช.น.ยอมรับว่า ก่อนหน้าเสนอแนวคิดมาตรการจับจริงยกจริงและการบังคับใช้กฎหมายจริงจังเด็ดขาดใครๆ ก็โวย ว่าบ้าไปแล้วคิดได้อย่างไรไม่มีทางเป็นไปได้แต่มันก็เป็นไปแล้วนับเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางเพราะประชาชนเกรงกลัวไม่กล้าทำผิดและจะเดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการพัฒนาแก้ไขปัญหาจราจรใน กทม.ต่อไป

“ในส่วนของการยกรถนั้นเราใช้รถยกของโรงพักเป็นหลักมีการใช้รถยกของภาคเอกชนน้อยมาก แต่หลังจากเพิ่มเส้นทางเป็น 40 สายแล้ว อาจจะต้องใช้รถเอกชนเข้ามาร่วมด้วยเพราะรถหลวงอย่างเดียวคงไม่พอ แต่หากประชาชนไม่ทำผิดเลยก็ไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ ส่วนมาตรการดำเนินการขั้นตอนไปหลังจากจัดระเบียบผู้ใช้รถใช้ถนนแล้วก็จะลงในรายละเอียดของรถสาธารณะที่มีปัญหาทั้งบริเวณหน้าห้างและจุดจอดรถประจำทางที่มักจะมีรถตู้ รถแท็กซี่ จอดแช่กีดขวางการจราจรซึ่งจะเร่งจัดจุดจอดรถให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและกวดขันบังคับใช้กฎหมายจราจรอย่างจริงจังต่อไป” รอง ผบช.น. กล่าว

ในช่วงเช้าที่ผ่านมา ผู้ช่วย ผบ.ตร.ได้เยี่ยมชมระบบการทำงานโครงการ Miracle eyes ที่ บก.จร.ถ.วิภาวดีฯ และศูนย์จราจร ที่ สน.ทุ่งสองห้อง ศูนย์ TOT ถนนแจ้งวัฒนะ เชื่อมโยงเครือข่ายระบบการทำงานของทั้ง 3 ศูนย์เรียบร้อยเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมเปิดตัวอย่างเป็นทางการวันที่ 5 พ.ย.นี้ เวลา 15.00 น.โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วย รมว.ไอชีที, ผบ.ตร.คณะรอง ผบ.ตร., ผบช.น., กรรมการผู้จัดการใหญ่ทีโอที จำกัด (มหาชน) ร่วมเปิดโครงการ Miracle eyes ที่สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีรังสิต มีนายตำรวจ และ กต.ตร.กทม.ภาคประชาเข้าร่วมกว่า 1,500 คน

ด้านกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) ย้ำเตือนประชาชนเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด ห้ามจอดกีดขวางการจราจร 40 เส้นทางหลัก ที่บังคับใช้กฎหมายเข้มข้นเด็ดขาด โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วนช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเทอม
1. ถนนประชาราษฎร์สาย 1
2. ถนนสามเสน
3. ถนนรามอินทรา
4. ถนนแจ้งวัฒนะ
5. ถนนงามวงศ์งาน
6. ถนนประชาชื่น
7. ถนนนวมินทร์
8. ถนนร่มเกล้า
9. ถนนลาดกระบัง
10. ถนนประดิษฐ์มนูธรรม
11. ถนนศรีนครินทร์
12. ถนนเสรีไทย
13. ถนนเจริญกรุง
14. ถนนนราธิวาสราชนครินทร์
15. ถนนจักรเพชร
16. ถนนบำรุงเมือง
17. ถนนกรุงเกษม
18. ถนนเยาวราช
19. ถนนสีลม
20. ถนนจรัญสนิทวงศ์
21. ถนนเจริญนคร
22. ถนนรัชดาภิเษก-พระราม 3
23. ถนนรัชดาภิเษก-ตลาดพลู
24. ถนนสมเด็จเจ้าพระยา
25. ถนนกรุงธนบุรี
26. ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน
27. ถนนประชาอุทิศ
28. ถนนเพชรเกษม
29. ถนนพระราม 2
30. ถนนราชพฤกษ์
31. ถนนลาดพร้าว ตั้งแต่แยกลาดพร้าว-แยกแฮปปี้แลนด์
32. ถนนพระราม 4 ตั้งแต่แยกหัวลำโพง-แยกพะราม4
33. ถนนสุขุมวิท ถนนเพลินจิต ถนนพระราม 1 ตั้งแต่แยกบางนา-แยกพงษ์พระราม
34. ถนนรัชดาภิเษก ถนนอโศกดินแดง ถนนอโศกมนตรี ตั้งแต่แยกประชานุกูล-แยกรัชดาพระราม 4
35. ถนนรามคำแหง ถนนพระราม 9 ถนนจตุรทิศ ตั้งแต่แยกคลองเจ๊ก-แยกรามคำแหง-ถนนจตุรทิศ
36. ถนนพหลโยธิน ถนนเกษตรนวมินทร์ ตั้งแต่อนุสาวรีย์ชัยฯ-สะพานใหม่ และแยกเกษตรศาสตร์-แยกนวมินทร์
37. ถนนสาทรเหนือและสาทรใต้ตลอดสาย
38. ถนนราชดำเนิน สะพานพระปิ่นเกล้าฯ ถนนบรมราชชนนี และถนนคู่ขนานลอยฟ้า ตั้งแต่ ลานพระราชวังดุสิต-แยกผ่านพิภพฯ-จนสุดเขต กทม.
39. ถนนเพชรบุรี ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตั้งแต่แยกอุรุพงษ์-แยกคลองตัน
40. ถนนวิภาวดีรังสิต ตลอดเส้นทาง
ผู้ฝ่าฝืนเสียค่าปรับใบสั่ง 500 บาท และค่ายกรถ 4 ล้อ 500 บาท ค่าดูแล 200 บาท/ต่อวัน 6 ล้อ ค่ายก 700 บาท และค่าดูแล 300 บาท/ต่อวัน 10 ล้อขึ้นไป ค่ายกรถ 1,000 บาท และค่าดูแล 500 บาท/ต่อวัน

ด้าน พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผช.ผบ.ตร.พร้อมด้วย พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผบช.น.(รับผิดชอบงานจราจร) พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผบก.จร.ลงพื้นที่ตรวจการจัดระบบการจราจรจอดรถส่งบุตรหลานช่วงเปิดเทอมวันแรกหน้าโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล และโรงเรียนเอกชนชื่อดังขนาดใหญ่รวม 7 แห่ง ในพื้นที่ กทม.ถนนสายหลักสำคัญต่างๆ พบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจจราจรจุดต่างๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมนำปัญหาที่พบจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลร่วมประชุมวางแนวทางแก้ไขที่ศูนย์ควบคุมสั่งการจราจร

พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ กล่าวว่า ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเน้นการออกนโยบายเพื่อจัดการจราจรด้านหน้าสถานศึกษา ทั่วกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งหมด 987 โรงเรียน ในถนนสายหลัก 3 สาย ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนบนถนนสามเสน กลุ่มโรงเรียนบนถนนสาทร และกลุ่มโรงเรียนบนถนนสุขุมวิทและเพชรบุรี ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มมักจะมีปัญหาการจราจรติดขัดต่อเนื่องในถนนสายอื่นโดยจะนำภาพรวมทั้งหมดมาศึกษาวิเคราะห์แก้ไขให้เป็นรูปธรรมอีกครั้ง

ส่วน พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวว่า การจัดการจราจรรับมือเปิดเทอมบริเวณพื้นที่สามเสน ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนถึง 8 แห่ง ได้สั่งการให้ ผกก.และ รอง ผกก.ทุก สน.รวมถึงสารวัตรจราจร ดำเนินการจัดระบบ “หยุด-ส่ง-ลง-จร” โดยเป็นขั้นตอนเบ็ดเสร็จภายใน2 นาที คือจอดรถส่งบุตรหลานโดยหยุดในที่ให้หยุดนิ่งจนบุตรหลานก้าวลงจากรถและเคลื่อนตัวไปข้างหน้าขณะที่ลูกหลานเดินเท้า (จร) เข้าโรงเรียนไปอย่างเป็นระบบให้เริ่มดำเนินการพร้อมกัน 88 สน.ส่วนช่วงเย็นให้ดำเนินการระบบเดียวกัน ซึ่งเฉลี่ยแล้วรถจอดส่งบุตรหลานจะใช้เวลาคันละประมาณ 1-2 นาทีเท่านั้น

พล.ต.ต.อดุลย์ ยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ได้ใช้การแก้ปัญหาโดยการเหลื่อมเวลาเข้าเรียน ในกลุ่มโรงเรียนพื้นที่สามเสน ชั้นเด็กโต ตั้งแต่เวลา 06.00-07.30 น.ส่วนชั้นเด็กเล็กให้เหลื่อมเวลา ตั้งแต่ 07.30-08.30 น.เพื่อลดปัญหาการรับส่งพร้อมๆ กันบริเวณหน้าโรงเรียน และจะนำปฏิบัติต่อในโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป เพื่อลดปัญหาการจราจรในช่วงเปิดเทอม
กำลังโหลดความคิดเห็น