ดีเอสไอจับมือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมทำ MOU ในงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมสนธิกำลังจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วม เชื่อหาก 2 กรมผสานกำลังกันจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
วันนี้ (24 ต.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายชัยเกษม นิติสิริรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพร้อมด้วยนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามบันทึกความตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งป่าชายเลน (MOU) ระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยนายนพพล ศรีสุข อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยมีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ ร่วมลงนามในบันทึกความตกลงดังกล่าว
นายวิเชษฐ์กล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ จากนายทุนที่บุกรุกพื้นที่ป่า และสร้างความตระหนักแก่สาธารณะชนว่าการตัดไม้ทำลายป่า นอกจากจะถูกดำเนินคดีอาญาแล้วจะต้องถูกดำเนินคดีทางแพ่งอีกด้วย และในวันนี้ทรัพยากรทางทะเลมีความสำคัญ ซึ่งเรามีชายทะเลอยู่ประมาณ 3,148กิโลเมตร เป็นชายทะเลทางอ่าวไทย 2 ใน 3 และเป็นชายทะเลอันดามัน 1 ใน 3 ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีปัญหาในเรื่องคดีการบุกรุกจากประชาชนทั่วไป สำหรับเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งนั้นมีอยู่ 2 กรณี คือ 1. เกิดจากธรรมชาติ และ 2. เกิดจากมนุษย์เขาไปทำลาย ไม่ว่าจะเป็นประมูลชายฝั่งหรือมีอุตสาหกรรมในชายทะเลและใกล้กับทะเล ทั้งนี้ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีทรัพยากรบุคลากรไม่เพียงพอ จึงได้ปรึกษาหารือกันว่าถ้าเราได้ทำงานร่วมกับดีเอสไอแล้วจะทำให้การปราบปรามมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การพัฒนาเทคโนโลยี เช่นอากาศยานไร้คนซึ่งจะไม่ใช้เฉพาะเกี่ยวกับเรื่องชายทะเลและขณะนี้กำลังดำเนินการจะใช้กับพื้นป่าทั่วประเทศทั้งในกรมป่าไม้ และกรมอุทยายแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยการใช้ในลักษณะนี้จะช่วยในการลดความสูญเสียของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่าด้วย นอกจากนี้ยังมีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมตรวจสอบทุกๆ 3 เดือน ทั้งในส่วนของชายทะเลและป่าไม้ ทั้งนี้ ตนได้สั่งให้ติดตั้งกล้องซีซีทีวีเพิ่มในเรื่องของป่าไม้ด้วย อย่างไรก็ตาม ใน 10 ปีที่ผ่านมานั้น ในเรื่องของป่าชายเลยเรามีคดีถึง 990 คดี สูญเสียพื้นที่ไป 6,635 ไร่
รมว.กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมกล่าวอีกว่า เรื่องป่าชายเลนหรือการกัดเซาะชายฝั่งในหนึ่งปีมีความเสียหายในเรื่องดังกล่าวหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งตอนนี้จะทำแผนในการแก้ไขปัญหาทั้งหมดและที่ผ่านมาเราสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งทะเลไแล้ว 113,000 กว่าไร่ มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานในการเฝ้าระวังป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งป่าชายเลน ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพดีเอสไอ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จึงจัดตั้ง “ศูนย์ปฏิบัติการร่วมป้องกันและปราบปรามผู้กระทำความผิดทางทะเลและชายฝั่งรวมทั่งป่าชายเลน” โดยมีที่ทำการอยู่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชั้น 8 ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติอาคาร บี
นายธาริตกล่าวว่า ดีเอสไอจะเข้าสนธิกำลังกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยจะนำเอาความสามารถของทั้ง 2 กรมมาผสานกำลังกัน และนำเอากฎหมายที่แต่ละกรมที่รับผิดชอบมาเชื่อมต่อกัน ซึ่งไม่ใช่การทำงานแบบส่งไม้ต่อหรือต้องเสียเวลาปรึกษาหารือเพราะกว่างานจะเดินก็เป็นแรมเดือนแรมปี