ศูนย์ข่าวภูเก็ต - ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ จัดประชุมเชิงปฏิบัติการแนวคิดการพัฒนาและบริการสุขภาพแนวใหม่ “เวชนคร” (Medicopolis) ระดมความเห็นจากทุกภาคส่วนรองรับเมืองท่องเที่ยว และบริการเชิงสุขภาพอย่างครบวงจร
เมื่อเวลา 09.40 น. วันนี้ (20 ส.ค.) ที่ห้องโรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการแนวคิดการพัฒนาและบริการสุขภาพแนวใหม่ “เวชนคร Medicopolis” โดยมี ศ.เกียรติคุณ ดร.มนตรี จุฬาวัฒนทล ที่ปรึกษาศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ดร.กาญจนา ปานุราช ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หน่วยงานกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ตลอดจนผู้ประกอบการเข้าร่วม
ดร.กาญจนา ปานุราช ผู้อำนวยการฝ่ายยุทธศาสตร์ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กล่าวถึงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว ว่า สุขภาพของประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 11 พ.ศ.2555-2559 จึงมุ่งสร้างบริการสุขภาพถ้วนหน้าอย่างมีคุณภาพ แต่มีจุดอ่อนสำคัญที่ต้องพึ่งยา เวชภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์สุขภาพและเครื่องมือแพทย์จากต่างประเทศสูงถึงกว่า 89,000 ล้านต่อปี ในขณะที่การพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของประเทศสู่การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และการบริการสุขภาพยังได้รับการสนับสนุนน้อย และดำเนินไปอย่างล้าช้า และขาดความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาสุขภาพแหง่ชาติ
ด้าน นายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ในส่วนผลการวิเคราะห์แผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งประกอบด้วย ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และตรัง พ.ศ.2557-2560 แนวโน้มทิศทางการพัฒนา และผลกระทบที่อาจเกิดต่อกลุ่มอันดามันในอนาคต เปรียบเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่จะนำไปสู่การพัฒนาแผนงาน และโครงการที่มีประสิทธิภาพ พร้อมได้นำเสนอศักยภาพของกลุ่มจังหวัดในฝั่งอันดามันมีอยู่ 3 ประเด็น ที่จะสอดคล้องในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.ความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลชั้นนำของโลก และเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจบริการต่อการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เนื่องจากมีความพร้อมด้านกิจกรรมบริการนักท่องเที่ยว 2.ความเหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่งเที่ยวเชิงนิเวศ โดยเฉพาะนิเวศป่าชายเลน รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และสปา 3.ความเหมาะสมในการพัฒนาศูนย์บริการด้านการรักษาและบริการทางการแพทย์ เนื่องจากมีสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียง และมีนักท่องเที่ยวใช้บริการจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มคนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ความต้องการด้านบริการสุขภาพโดยเฉพาะวิถีธรรมชาติยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
นายไมตรี กล่าวอีกว่า ศักยภาพ และความเหมาะสมดังกล่าวข้างต้น ทำให้มองเห็นความได้เปรียบของพื้นที่อันดามัน หากได้รับการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ดังนั้น จึงนับเป็นนิมิตหมายที่ดีที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ ได้ริเริ่มแนวคิดการพัฒนาเทคโนโลยีโดยนำองค์ความรู้ และวิทยาการด้านชีววิทยาศาสตร์ มาเป็นฐานในการพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เป็นเขตบริการสุขภาพแบบองค์รวม ซึ่งตรงกับแนวทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ที่ต้องการพัฒนาให้เป็นเมืองท่องเที่ยว และบริการเชิงสุขภาพอย่างครบวงจร และยั่งยืน เพื่อยกระดับให้เป็นที่ศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค โดยเฉพาะรายได้จากบริการนักท่องเที่ยวซึ่งมีจำนวนมากในแต่ละปี อีกทั้งทางกลุ่มอันดามันยังมองหาตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ เช่น อินเดีย จีน และตะวันออกลางต่อไป