สน.พระอาทิตย์/สามยอด
กลายเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในเมืองกรุงเพียงแค่ข้ามคืน “หน้อย”พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(รองผบช.น.) นรต.รุ่น34 นับตั้งแต่เริ่มต้นปีงบประมาณใหม่ 1ตุลา.เป็นต้นมา ชื่อ”รองฯอดุลย์”ก็ติดหูติดตาชาวบ้านจนต้องบอกว่ายามนี้หากเอ่ยชื่อ”อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์”น้อยคนที่ไม่รู้จัก
เพราะนอกจาการผุดไอเดียจำกัดอายุรถยนต์ 7-10 ปีเป็นต้นไป ห้ามวิ่งในกรุงเทพมหานคร หากจะวิ่งก็ต้องเสียภาษีเหมือนรถใหม่เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัดแสนสาหัสของกรุงเทพหานคร ในฐานะที่คุมหน้างานการจราจรนครบาลจนเกิดเสียงด่าทั่วเมือง กลายเป็นประเด็น “ทอล์กออฟเดอะทาวน์”
กระทั่ง พล.ต.ต.อดุลย์ ต้องถอยกรูดแก้ต่างว่าโครงการรถ 10 ปีนี้ยังไม่ได้อยู่ในโครงการนำร่องเร่งด่วนเป็นนโยบายที่ต้องนำมาพิจารณา เชิญผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคขนส่ง และสื่อมวลชน มาร่วมสัมมนาพูดคุยกันเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ก่อนที่จะเสนอโครงการให้รัฐบาลพิจารณา
อีกมุมหนึ่ง พล.ต.ต.อดุลย์ ก็ยังสวมบท “ทูต”เป็นตัวแทนกองบัญชาการตำรวจนครบาลไปเจรจากับแกนนำกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย(คปท.)ที่ชุมนุมอยู่บริเวณแยกอุรุพงษ์
แม้การเจรจาจะยังไม่ประสบความสำเร็จยังไม่สามารถเกลี่ยกลม คปท. ขยับจากแยกอุรุพงษ์ได้แต่ชื่อพล.ต.ต.อดุลย์ก็เริ่มเป็นที่คุ้นเคยมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเข้ามามีบทบาทเกือบทุกๆเรื่อง
จนในแวดวงสีกากีต่างจับตาและมองกันว่าหลังจาก พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.)เกษียณอายุราชการปีหน้า เก้าอี้”ผบช.น.”อาจมีชื่อ”พล.ต.ต.อดุลย์”เป็นเต็งจ๋าในแคนดิเดตอีก 1 ราย เพราะตอนนี้บทบาท พล.ต.ต.อดุลย์ดูจะมีมากกว่า พล.ต.ท.คำรณวิทย์เสียด้วยซ้ำ
หากถอดรหัสความเป็นมาเป็นไปของ “พล.ต.ต.อดุลย์”ก็ต้องยอมรับว่า การจะก้าวขึ้นสู่เก้าอี้สำคัญๆในกรมปทุมวันยุคที่มีรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำรัฐบาลถือว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะนอกจากดีกรี “ดอกเตอร์”ด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นดอกเตอร์สำเร็จวิทยายุทธ์เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.และเลขาฯ ป.ป.ส. และ นช.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอดีตนายกรัฐมนตรีแล้ว
ที่สำคัญยังอยู่ในเครือข่าย “มงฟอร์ตคอนเน็คชั่น"เนื่องจากเป็นรุ่นน้องโรงเรียนเก่าแก่ชื่อดังโรงเรียนมงฟอร์ต จ.เชียงใหม่กับนช.ทักษิณอีกด้วย
ที่สำคัญอีกด้าน สายสัมพันธ์ทางการเมืองก็ไม่ธรรมดาเพราะ พล.ต.ต.อดุลย์ เคยเป็นอดีต ผกก.สภ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อปี 2544-2547 จึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรีสมัยพ.ต.ท.ทักษิณและเป็นแกนนำคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย ถึงขนาดปี2551ช่วงที่ พล.ต.ต.อดุลย์ออกจากพื้นที่ภาคเหนือ มาขึ้นเป็น รองผู้บังคับการสถาบันส่งเสริมงานสอบสวน (รองผบก.สบส.) แต่เมื่อ พล.ต.ต.ทรงธรรม อัลภาชน์ (นรต.33) ผบก.ภ.จ.เชียงรายถูกคำสั่งย้ายเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถูกออร์เดอร์ตรงให้ขึ้นเหนืออีกครั้งมานั่งเก้าอี้รักษาการ ผบก.ภ.จ.เชียงราย
จากนั้นก็ขยับติดยศนายพล มานั่งเป็น ผบก.สบส.ก่อนที่จะเติบโตบนเส้นทางสีกากีขึ้นเป็น รองผบช.น.ตั้งแต่ปี 2554 และเริ่มบ่มเพาะความเชี่ยวในเมืองกรุงและมีข่าวลือมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ก่อนจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายนายพลสีกากีโผที่ผ่านมาด้วยซ้ำว่า
หลังจากการแต่งตั้งเสร็จสิ้นในการจะแบ่งงานระดับรอง ผบช.น. มีใบสั่งจากต่างแดนจองหน้างานจราจรให้กับพล.ต.ต.อดุลย์ตั้งแต่ไก่โห่เพื่อเข้ามาสร้างผลงานแก้ไขปัญหาการจราจรปูทางขึ้นสู่เก้าอี้สำคัญในอนาคต
เช่นเดียวกับอีกหนึ่งมงฟอร์ตคอนเน็คชั่น ที่โดดเด่นต้องจับตาในแวดวงสีกากี “พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย”รองผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล(สกพ.) และโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นรต.รุ่น38 เป็นอีกหนึ่งดาวรุ่งที่ต้องจับตาบทบาทในวงการสีกากีในอนาคต
เพราะนอกจากมีดีกรี “ดอกเตอร์”เช่นเดียวกับ พล.ต.ต.อดุลย์ บทบาทในการทำงานก็โดดเด่นไม่ต่างกัน
พล.ต.ต.ปิยะ ขยับจาก ผบก.อก.บช.น. มาเป็น ผบก.สท.ตามคำสั่งของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร.(สมัยนั้น)รวมทั้งมอบหมายให้ทำหน้าที่ “โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” เพื่อเป็นกระบอกเสียงประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสาร ในกิจการของตำรวจให้กับทุกภาคส่วนได้รับรู้และเข้าใจตั้งแต่ปลายปี 2554
จากนั้นพอ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ก้าวขึ้นมาเป็น ผบ.ตร. ต่อจาก พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ก็ยังคงไว้วางใจใช้บริการ พล.ต.ต.ปิยะในการทำหน้าที่กระบอกเสียงกรมปทุมวัน เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าอดุลย์รู้มือปิยะสมัยอยู่นครบาลมาด้วยกัน
และตลอดเวลาการทำหน้าที่กระบอกเสียงข้างกาย ผบ.ตร.พล.ต.ต.ปิยะ สร้างความไว้วางใจอย่างมาก จนอดุลย์รวมทั้งเครือข่าย “มงฟอร์ตคอนเน็กชั่น” พยายามผลักดัน พล.ต.ต.ปิยะลงชิงเก้าอี้ “ผบช.รร.นรต.”
ตอนแรกเหมือนทุกอย่างดูจะราบรื่น เพราะสภาโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่มี พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิต อดีตรองนายกฯ ที่มีความสนิทสนมกับ พ.ต.ท.ทักษิณปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ข้อกำหนดต่างชนิดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าล็อคสเปคให้ พล.ต.ต.ปิยะเต็มๆ แต่สุดท้ายก็ถูกแรงต่อต้านจาก ก.ตร.บางส่วน รวมทั้งอดีตนายตำรวจเก่าอย่างหนัก
สุดท้าย พล.ต.ต.ปิยะ ก็โชว์สปริตรยอมสละสิทธิ์ถอนตัวออกจากการสมัครชิงตำแหน่ง ผบช.รร.นรต.และปล่อยให้มีการพิจารณาผู้ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โรงเรียนนายร้อยตำรวจใหม่ได้ พล.ต.ท.ศักดิ์ดา เตชะเกรียงไกร มาเป็น ผบช.รร.นรต.
แม้ พล.ต.ต.ปิยะ จะยังไม่สามารถขยับขึ้นลิฟท์ติดยศ “พล.ต.ท.”ตามเป้าประสงค์แต่เชื่อว่าในอีกไม่นานเก้าอี้ “ผบช.”คงต้องแปะชื่อ “พล.ต.ต.ปิยะ”ไว้อย่างแน่นอน เช่นเดียวกับ “พล.ต.ต.อดุลย์ ณรงค์ศักดิ์” รุ่นพี่รุ่นน้องโรงเรียนมงฟอร์ต จากจังหวัดเชียงใหม่
“ทักษิณ”น่าจะดันให้ผงาดเป็นกำลังสำคัญค้ำอำนาจในเร็วๆนี้ถ้าไม่พลาดท่าเจ๋งไปเสียก่อนจากเหตุปมปัญหาการเมืองหลายด้าน ที่รุมเร้าเข้ามาในช่วงนี้