xs
xsm
sm
md
lg

สตช.เผยสถิติตำรวจฆ่าตัวตายพุ่งเฉลี่ย 30 นายต่อปี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.(แฟ้มภาพ)
สตช.เผยสถิติข้าราชการการตำรวจ มีแนวโน้มฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ชี้มีอัตราเสี่ยงสูงกว่าอาชีพอื่น 2 เท่าเหตุปัญหาครอบครัว-หนี้สิน ยอมรับสภาพจากทำหน้าที่อาจเพิ่มความเครียด สั่งผู้บังคับบัญชาดูแลลูกน้องในสังกัด หากพบใครมีความเสี่ยงให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูจิตใจ

วันนี้ (16 ต.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ด้วยปรากฏข่าวมีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2551-2556 มีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย โดยเฉลี่ย 29.17 นายต่อปี ขณะที่ปี 2556 มีข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตายจำนวน 31 นาย และเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรไทย ข้าราชการตำรวจมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรทั่วไป 2.32 เท่า ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ในเบื้องต้น ปัจจัยที่ทำให้ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย ได้แก่ ปัญหาครอบครัว ปัญหาสุขภาพ ปัญหาส่วนตัว ปัญหาหนี้สิน ปัญหาที่เกี่ยวกับหน้าที่การงาน ซึ่งอาจมีหลายปัจจัยประกอบกัน รวมทั้งสภาพจิตใจของข้าราชการตำรวจเอง นอกจากนี้ จากสภาพการปฏิบัติหน้าที่ที่ทำให้เกิดความตึงเครียดและกดดันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย ซึ่งกรณีที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันมีค่าที่ไม่อาจประเมินได้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. มีความห่วงใยในสวัสดิภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของข้าราชการตำรวจ จึงกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาข้าราชการตำรวจฆ่าตัวตาย โดยให้ผู้บังคับบัญชาสำรวจข้อมูลผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อจะได้ทราบว่าใครมีความเสี่ยง โดยมีพฤติกรรมที่ส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรง อาทิ มีปัญหาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน ปัญหาส่วนตัวและครอบครัว ปัญหาทางบุคลิกลักษณะหรือสุขภาพจิต ปัญหาสุขภาพหรือมีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตาย

โฆษก ตร.กล่าวว่า นอกจากนี้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นจะต้องเอาใจใส่ดูแลการปฏิบัติงานและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว สร้างขวัญและกำลังใจ เสริมสร้างทัศนคติพัฒนาจิตใจของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว เช่น การดูแลทุกข์สุข ความเป็นอยู่ สุขภาพกายใจ และจัดกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีในหน่วยงาน นอกจากนี้ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับทักษะการจัดการชีวิต พัฒนาจิตใจ โดยจัดเป็นหลักสูตรการฝึกอบรม หรือเปิดช่องทางให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพจิต โดยประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ในส่วนมาตรการเฝ้าระวัง ต้องสังเกตสัญญาณเตือนก่อนการฆ่าตัวตาย เช่น พูดหรือเขียนถึงความตายหรือการฆ่าตัวตาย หรือบ่นว่าอยากตาย มีประวัติเคยพยายามฆ่าตัวตาย ป่วยเป็นโรคจิต ติดสุรา หรือยาเสพติด จนเลิกไม่ได้ ครอบครัวและชุมชนไม่ยอมรับ มีโรคประจำตัวร้ายแรง โรคเรื้อรังและรักษาไม่หาย และถูกเร่งรัดหนี้สินจนหาทางออกไม่ได้ สิ้นเนื้อประดาตัว เป็นต้น หากพบพฤติกรรมดังกล่าวให้ดูแลและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ให้ผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานดูแล เข้าไปพูดคุยเพื่อสอบถามปัญหา แนะนำการแก้ไข รวมถึงควบคุมอุปกรณ์หรือวิธีการที่ใช้ในการฆ่าตัวตาย ได้แก่ อาวุธปืน ยา วัตถุมีคม หากพบพฤติกรรมอันเป็นสัญญาณเตือนก่อนการฆ่าตัวตาย จะต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วน

“ส่วนมาตรการเมื่อเกิดเหตุและฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ เมื่อเกิดเหตุฆ่าตัวตาย หากพบข้าราชการตำรวจที่พยายามฆ่าตัวตาย ให้รีบช่วยเหลือ ปฐมพยาบาล และรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หากเสียชีวิตให้ช่วยเหลือด้านการจัดการศพ สิทธิกำลังพล รวมถึงปลอบโยนญาติให้มีสติ” โฆษก ฅร.กล่าว และว่า กรณีข้าราชการตำรวจพยายามฆ่าตัวตาย ให้ตรวจสอบสาเหตุแล้วให้ความช่วยเหลือด้านการรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูจิตใจ

พล.ต.ต.ปิยะกล่าวว่า ในส่วนการศึกษาหาสาเหตุให้พิจารณาแนวทางการศึกษาวิจัยปัญหาและสาเหตุการฆ่าตัวตายสำหรับข้าราชการตำรวจเป็นการเฉพาะ ให้ละเอียดครอบคลุมไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน เพื่อจะได้ทราบว่ามีปัญหาใดบ้างที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจฆ่าตัวตายของข้าราชการตำรวจ เพราะปัญหาและสาเหตุการฆ่าตัวตายของข้าราชการตำรวจอาจต่างไปจากการฆ่าตัวตายโดยทั่วๆ ไป

เนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแตกต่างกัน แล้วนำไปเป็นแนวทางในการพิจารณาแก้ไขและป้องกันปัญหาการฆ่าตัวตายของข้าราชการตำรวจอย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษก สตช. (แฟ้มภาพ)
กำลังโหลดความคิดเห็น