xs
xsm
sm
md
lg

คืนของกลาง : นานแค่ไหนถือว่า “ล่าช้า” !

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ประเด็นที่จะพูดคุยกันวันนี้... เป็นเรื่องเกี่ยวกับระยะเวลาในการประสานงานเพื่อคืนทรัพย์ของกลางระหว่างคดีหลังจากที่พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องและเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจได้มีคำสั่งอนุมติให้คืนทรัพย์ของกลางนั้นแก่เจ้าของ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจครับ เพราะระยะเวลาในการประสานงานเพื่อคืนทรัพย์ของกลางนี้ มิได้มีกฎหมายใดกำหนดเอาไว้โดยตรงว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเวลาเท่าใด เมื่อเป็นเช่นนี้…เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานจึงไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจนในการทำงาน ส่งผลให้เกิดความล่าช้าขึ้นในบางกรณี ซึ่งอาจไปกระทบหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ของกลางนั้นได้

ปัญหาดังกล่าว...มีคำตอบในคดีที่ครองธรรมนำมาพูดคุยกันในวันนี้แล้ว โดยศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับกรอบเวลาในการประสานงานเพื่อคืนของกลางที่เหมาะสมไว้ รวมทั้งประเด็นที่ว่านานแค่ไหนจึงจะถือว่าล่าช้า ?

เรื่องมีอยู่ว่า... เจ้าหน้าที่ของหน่วยป้องกันรักษาป่าฯ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ทำการตรวจยึดไม้สักแปรรูปผิดกฎหมายพร้อมรถยนต์กระบะบรรทุก 4 ล้อ ซึ่งมีนายไผ่เป็นคนขับรถได้ที่ จ. ตาก และนายไผ่ได้หลบหนีไป เจ้าหน้าที่จึงนำส่งของกลางให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป

เมื่อนายพัทธ์เจ้าของรถยนต์ซึ่งได้ให้นายไผ่เช่าเป็นรายเดือนทราบเรื่อง จึงมายื่นเรื่องขอรถยนต์ของกลางคืน โดยต่อมาจังหวัดได้มีหนังสือแจ้งกรมอุทยานแห่งชาติฯ ว่า พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนายไผ่ผู้ต้องหา แต่ผู้ต้องหาได้หลบหนีระหว่างประกันตัวและอยู่ระหว่างออกหมายจับ ส่วนของกลางรถยนต์กระบะบรรทุก 4 ล้อนั้น มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ขอให้ศาลสั่งริบให้พนักงานสอบสวนจัดการตามมาตรา 85 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และพนักงานสอบสวนไม่ขัดข้อง เห็นควรคืนรถยนต์ของกลางให้แก่เจ้าของ

เวลาผ่านไปหลายเดือนนายพัทธ์ก็ยังไม่ได้รถยนต์ของตนคืน จึงได้ติดตามทวงถาม จนกระทั่งในที่สุดกว่าที่นายพัทธ์จะได้รถยนต์ดังกล่าวคืนก็เป็นเวลาถึงปีเศษ นายพัทธ์เห็นว่าการดำเนินการประสานงานของเจ้าหน้าที่ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ล่าช้าเกินสมควร จึงยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดอันเกิดจากการที่เจ้าหน้าที่ของตนปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรดังกล่าวต่อศาลปกครอง

คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้กระทำละเมิดต่อนายพัทธ์ (ผู้ฟ้องคดี) หรือไม่ ? และหากเป็นการกระทำละเมิดจะต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ?

โดยการที่จะพิจารณาว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ กระทำละเมิดต่อนายพัทธ์หรือไม่นั้น มีประเด็นย่อยที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนว่า เจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ ?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้ เป็นกรณีเกี่ยวกับการประสานงานเพื่อคืนของกลางในระหว่างคดี ซึ่งมิได้มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่ง กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการเอาไว้ การจะพิจารณาว่ากรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยเจ้าหน้าที่ในสังกัดได้ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ จึงควรพิจารณาเทียบเคียงจากกฎที่กำหนดเกี่ยวกับขั้นตอนและระยะเวลาการปฏิบัติราชการ ในกรณีที่ได้รับการร้องขอจากประชาชนที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปอยู่ในขณะนั้น ซึ่งก็คือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการปฏิบัติราชการเพื่อประชาชนของหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๓๒ ซึ่งระเบียบดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อต้องการให้การปฏิบัติราชการของหน่วยงานของรัฐซึ่งรวมถึงผู้ถูกฟ้องคดีด้วย มีมาตรฐานเดียวกัน และเป็นไปด้วยความรวดเร็วเรียบร้อย โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ต่อการให้บริการประชาชน

และเมื่อพิจารณาข้อกำหนดของระเบียบดังกล่าว จะเห็นได้ว่าโดยหลัก...หน่วยงานของรัฐจะต้องพิจารณาและดำเนินการตามคำขอของประชาชนให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวัน เว้นแต่คำขอใดที่สภาพแห่งเรื่องไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งวันได้ ก็ให้หน่วยงานของรัฐออกระเบียบเพื่อกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการปฏิบัติราชการเองได้ แต่ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวสมควรให้แล้วเสร็จซึ่งในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน อันอาจถือได้ว่าระยะเวลาเก้าสิบวันเป็นระยะเวลาอย่างสูงสำหรับการปฏิบัติราชการตามคำขอของประชาชน เว้นแต่ในกรณีที่มีการกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นแล้ว

แม้ว่าการประสานงานเพื่อคืนของกลางในระหว่างคดีจะมิใช่กรณีการปฏิบัติราชการตามคำขอของประชาชนแต่เป็นการประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการก็ตาม ก็อาจที่จะนำระยะเวลาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวมาอนุโลมใช้ประกอบการพิจารณาสำหรับการปฏิบัติราชการที่ไม่มีการกำหนดเวลาไว้เป็นการเฉพาะดังเช่นในเรื่องนี้ได้ ทั้งนี้เพื่อมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐใช้เป็นข้ออ้างในการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา อันจะทำให้การปฏิบัติราชการไม่สำเร็จบรรลุผลหรือสำเร็จแต่ล่าช้าเกินสมควรจนทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือประชาชน

ซึ่งจากข้อเท็จจริง... วันที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อนุมัติให้คืนรถยนต์ของกลางคือวันที่ 23 พฤษภาคม 2548 นั้น ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี เพราะเป็นขั้นตอนการพิจารณาออกคำสั่งของผู้มีอำนาจ และหลังจากนั้นก็ต้องใช้เวลาในการติดต่อประสานงานภายในหน่วยงานเพื่อถ่ายทอดคำสั่งนั้นไปสู่การปฏิบัติด้วย
โดยหลังจากที่มีการอนุมัติให้คืนของกลาง ผู้ถูกฟ้องคดีก็ได้รับเรื่องคืนไปเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 เป็นเวลาประมาณ 2 วัน หลังจากวันอนุมัติ ซึ่งถือว่าเป็นระยะเวลาตามปกติในการติดต่อประสานงานระหว่างหน่วยงาน แต่เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีได้รับเรื่องมาแล้ว ก็ควรที่จะดำเนินการประสานเพื่อส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่พนักงานสอบสวนภายในเก้าสิบวัน อันเป็นระยะเวลาที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าสมควรนำมาเทียบเคียงใช้กับกรณีนี้

ดังนั้น วันที่ผู้ถูกฟ้องคดีควรประสานงานในการคืนรถยนต์ของกลางให้แล้วเสร็จอย่างช้าที่สุดคือวันที่ 90 นับแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2548 ซึ่งก็คือภายในวันที่ 23 สิงหาคม 2548 แต่ปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือ ด่วนที่สุดลงวันที่ 20 สิงหาคม 2549 ถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้พิจารณาสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบดำเนินการส่งมอบรถยนต์ของกลางให้พนักงานสอบสวน ซึ่งย่อมจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติล่าช้าเกินสมควร อันเป็นผลโดยตรงให้นายพัทธ์ได้รับรถยนต์คืนล่าช้า และย่อมได้รับความเสียหายจากการขาดประโยชน์ใช้สอยรถยนต์คันพิพาทในช่วงที่ผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรนั้น

กรณีจึงต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าของเจ้าหน้าที่ในสังกัดผู้ถูกฟ้องคดี เป็นไปโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อจนทำให้นายพัทธ์ได้รับความเสียหายหรือไม่ ?

จากคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีประกอบกับคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ศาลเห็นว่า เจ้าหน้าที่น่าจะมิได้จงใจที่จะดำเนินการส่งมอบรถยนต์ของกลางให้แก่พนักงานสอบสวนล่าช้า แต่จากคำชี้แจงของเจ้าหน้าที่ที่ว่าเมื่อกลับจากการปฏิบัติงานนอกสถานที่แล้วไม่ปรากฏเรื่องขอคืนรถยนต์คันพิพาทของนายพัทธ์วางอยู่ที่เดิม

จึงไม่ได้เฉลียวใจที่จะทำต่อ ลักษณะพฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเข้าข่ายเป็นการประมาทเลินเล่อ เพราะเมื่อเอกสารที่อยู่ในหน้าที่ความรับผิดชอบสูญหายไป ตัวเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็จะต้องติดตามค้นหาเพื่อดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามหน้าที่ของตน หรือมีการดำเนินการอื่นใดเพื่อรายงานผู้บังคับบัญชาเกี่ยวกับการสูญหายของเอกสารนั้น มิใช่ปล่อยให้เอกสารหายไปโดยไม่สนใจที่จะติดตามค้นหา พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นการมิได้ใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอตามวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งๆ ที่ในช่วงเวลานั้นก็อยู่ในวิสัยที่จะสามารถค้นหาเรื่องดังกล่าวจนพบและดำเนินการให้แล้วเสร็จได้

ดังนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่จนเป็นผลให้ทำนายพัทธ์ได้รับความเสียหายจากการที่ได้รับคืนรถยนต์ล่าช้าเกินสมควร อันเป็นการกระทำละเมิดต่อนายพัทธ์ ตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่เกิดขึ้น คือต้องชดใช้ค่าเสียหายจากการที่นายพัทธ์ต้องขาดประโยชน์ใช้สอยรถยนต์ของกลางในช่วงระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรนั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539

โดยที่ปกติรถยนต์คันพิพาทได้ใช้ประโยชน์โดยการให้ผู้อื่นเช่า แม้ว่าต่อมาสัญญาเช่าระหว่างนายพัทธ์และนายไผ่จะหมดอายุลง แต่นายพัทธ์ก็อาจให้ผู้อื่นเช่าในอัตราค่าเช่าเท่าเดิม ดังนั้น รายได้จำนวนดังกล่าวจึงเป็นรายได้ทั่วไปที่นายพัทธ์ควรจะได้รับ เมื่อนายพัทธ์ได้รับรถยนต์คืนล่าช้าเกินเวลาที่สมควรไป 11 เดือน 27 วัน

ศาลปกครองสูงสุด จึงเห็นสมควรกำหนดให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ชดใช้ค่าเสียหายจากการขาดรายได้เดือนละ 10,000 บาท รวมเป็นเงิน 119,000 บาท ให้แก่นายพัทธ์ (เทียบเคียงจากคดีหมายเลขแดงที่ อ. 2/2554)

เป็นอันชัดเจนแล้วนะครับว่า... ระยะเวลาในการประสานงานเพื่อคืนทรัพย์ของกลางนั้น นานแค่ไหนจึงถือว่าล่าช้าเกินสมควร รวมทั้งวันที่ใช้เริ่มต้นนับระยะเวลา 90 วันในการประสานงานคืนของกลางซึ่งในกรณีนี้ก็คือ วันที่หน่วยงานเจ้าของเรื่องได้รับเรื่องอนุมติให้คืนทรัพย์ของกลางจากผู้มีอำนาจสั่งคืน

หลักสำคัญประการหนึ่งที่ครองธรรมเห็นว่าควรใช้ยึดถือในการทำงานก็คือ “หลักใจเขาใจเรา” เพราะหากว่าเราคือเจ้าของทรัพย์ ก็ย่อมต้องการที่จะได้ทรัพย์ของตนคืนมาโดยเร็ว เพราะทรัพย์เหล่านั้นอาจเป็นสิ่งอำนวยความสะดวก มีมูลค่า หรืออาจเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์สำคัญในการประกอบอาชีพ ซึ่งส่งผลต่อรายได้อันกระทบต่อเจ้าของทรัพย์นั้นโดยตรงครับ !
 
ครองธรรม ธรรมรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น