xs
xsm
sm
md
lg

“พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ” นอนคุกศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัวคดีจับผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายศาล

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ อดีต สว.สส.สน.พญาไท ยศขณะนั้น
“พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ” พร้อมจำเลยที่เกี่ยวข้องนอนคุก ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องการประกันตัวไปให้ศาลฏีกาพิจารณา ภายหลัง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้จำคุก 4 ปี ในคดีร่วมกันจับผู้ต้องหาโดยไม่มีหมายศาล บังคับให้รับสารภาพค้ายาบ้า 100 เม็ด พร้อมลูกน้องอีก 3 คน ส่วนจำเลยที่ 3, 4, 5, 6,และ 9 ให้ยกฟ้อง


วันนี้ (30 ส.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 802 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่นางกรองกาญจน์ ถิ่นอ่อน เป็นโจทก์ฟ้อง พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ อดีต สว.สส.สน.พญาไท, พ.ต.ท.พรรณศักดิ์ วรบูลย์สวัสดิ์ อดีตรอง สว.สส.สน.พญาไท, ร.ต.อ.กิตติพงษ์ สิมมาลี, ด.ต.ภิญโญ แสงทิพย์, ด.ต.อภิทักษ์ แก้วเกลื่อน, ด.ต.อวยชัย ทับสุรีย์, จ.ส.ต.บุญเรือง บุตรวงศ์, จ.ส.ต.รุ่ง ทิพย์ขำ, จ.ส.ต.หญิงศศิธร ทับสุรีย์, จ.ส.ต.วันเผด็จ แท่นรัตน์ และ ส.ต.ท.สุธรรม แย้มช่วย เป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน สน.พญาไท (ยศและตำแหน่งขณะเกิดเหตุปี 2548) เป็นจำเลยที่ 1-11 ในความผิดฐาน กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ กรณีเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2548 จำเลยทั้งสิบเอ็ด ร่วมกันแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนางกรองกาญจน์ ถิ่นอ่อน อายุ 53 ปี โดยไม่มีหมายจับของศาล โดยใช้กำลังและอาวุธบังคับข่มขืนใจโจทก์ให้ขึ้นรถยนต์ไปกับพวกจำเลย โดยระหว่างนั้นใช้ถุงดำคลุมศีรษะและรัดคอโจทก์ไว้เพื่อข่มขู่ให้โจทก์รับสารภาพคดีมียาบ้าจำนวน 100 เม็ดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2548 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 11 คนมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญา ตรวจค้นและจับกุมผู้กระทำความผิด อันเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ได้ร่วมกันแสดงตัวเป็นเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมโจทก์โดยไม่มีหมายจับของศาล จับกุมโจทก์ไปจากท่าอากาศยานกรุงเทพดอนเมือง โดยใช้กำลังและอาวุธบังคับโจทก์ให้ขึ้นรถไปกับจำเลย ในระหว่างอยู่บนรถจำเลยกับพวกใช้ถุงดำคลุมศีรษะและรัดคอโจทก์ไว้ในระหว่างที่นั่งรถยนต์ จำเลยกับพวกได้ข่มขู่ให้โจทก์รับสารภาพ โดยตั้งข้อหาว่ามียาเสพติดให้โทษประเภท 1 (ยาบ้า) ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำนวน 100 เม็ด โจทก์ได้ปฏิเสธ จำเลยไม่ยอมปล่อยตัวโจทก์ และไม่นำส่งพนักงานสอบสวนหรือพาไปยังสถานีตำรวจ ต่อมาจำเลยกับพวกได้ให้โจทก์พาไปที่สถานที่โกดังของโจทก์เพื่อตรวจค้น ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย แต่จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำเอกสารการจับกุมและเอกสารอื่นๆ อันเป็นเท็จโดยบังคับให้โจทก์ลงลายมือชื่อ โดยเอกสารดังกล่าวได้จัดพิมพ์ไว้แล้ว และมีข้อความว่ารับสารภาพ เหตุเกิดที่แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 172, 309, 310 ทวิ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องเป็นลำดับขั้นตอน หากไม่เป็นความจริงก็ยากที่จะปั้นแต่งเรื่องขึ้นเอง โจทก์เบิกความได้สอดคล้องกับนางชลลดา พยานโจทก์ เนื่องจากนางชลลดาได้ถูกกลุ่มจำเลยจับกุมไปตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2548 โดยกลุ่มจำเลยบังคับให้นางชลลดาโทรศัพท์หาโจทก์ เพื่อให้โจทก์เดินทางมาพบ เมื่อโจทก์เมื่อถึงสนามบินดอนเมืองจึงถูกจับกุม นอกจากนี้ คำเบิกความโจทก์ยังสอดคล้องกับ หนังสือร้องขอความเป็นธรรมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงฉบับวันที่ 22 ก.ย. 48 และสอดคล้องกับคำเบิกความที่โจทก์เป็นจำเลยในคดีหมายเลขแดง ที่ 7010/2549 เห็นว่าแม้โจทก์จะเบิกความถึง 2 ครั้ง แต่มีความแตกต่างกันด้านเวลา ก็ยังสามารถเบิกความได้อย่างละเอียด เชื่อว่าโจทก์เบิกความไปตามจริงให้จำคุก จำเลยที่ 1, 2, 7, 8, 10 และ 11 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ลงโทษจำคุกคนละ 5 ปี ส่วนจำเลยที่ 6 และ 9 มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นเจ้าพนักงานทำเอกสารเท็จ จำคุกคนละ 4 ปี และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3, 4 และ 5

ขณะเดียวกัน จำเลยที่ 1, 2, 7, 8, 10, 11 ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการและเงินสด ราคาประกันรวมมูลค่าคนละ 5 แสนบาท ขณะที่จำเลยที่ 6 และ 9 ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการและเงินสด ราคาประกันรวมมูลค่า คนละ 4 แสนบาทยื่นขอประกัน ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ประกันตัว ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนและปรึกษาแล้วข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2548 จำเลยทั้งหมดได้วางแผนจับกุมนางชลลดา ณ เชียงใหม่ พร้อมยาบ้า 114,000 เม็ด และรถยนต์ฟอร์ด ทะเบียน ศน-4851 กทม. ของโจทก์ที่นางชลลดา ขอยืมใช้ ที่บริเวณถนนมอเตอร์เวย์ โดยจำเลยเชื่อว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวต้องมีส่วนร่วมในการค้ายาเสพติดด้วย จำเลยจึงให้นางชลลดา โทรศัพท์หาโจทก์เพื่อให้มาหา โดยอ้างว่ารถยนต์ที่ยืมมาเกิดอุบัติเหตุ ต่อมาวันที่ 16 มิ.ย. 48 โจทก์จึงได้นั่งเครื่องบินจาก จ.เชียงใหม่มาที่สนามบินดอนเมือง จากนั้นจำเลย ที่ 2 พร้อมพวกได้เข้าทำการจับกุมโจทก์ก่อนจะพาขึ้นรถยนต์ โดยมีจำเลยอื่นนั่งมาด้วย โดยนำถุงดำคลุมศีรษะและมัดมือโจทก์ จากนั้นพาโจทก์ไปยังค้นห้องพักภายในคอนโดรีเจนท์ ศรีนครินทร์ และห้องพักของโรงแรมแห่งหนึ่ง แต่ก็ไม่พบยาเสพติด ต่อมาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าได้เดินทางมาข่มขู่โจทก์เพื่อให้บอกเบาะแสที่ซ่อนยาเสพติด ส่วนจำเลยคนอื่นๆได้พูดเกลี้ยกล่อมให้ยอมรับสารภาพจากนั้นพาโจทก์ไปที่ สน.พญาไท เพื่อลงบันทึกจับกุมคดีครอบครองยาบ้าจำนวน 100 เม็ด ซึ่งไม่เป็นความจริง และได้นำตัวจำเลยส่งพนักงานสอบสวน บช.ปส.

พิเคราะห์แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงน่าเชื่อได้ว่าจำเลยไม่มีหมายจับ แต่กลับนำโจทก์ไปกักขังหน่วงเหนี่ยวและบังคับให้รับสารภาพจากการ ซึ่งจำเลยไม่ได้ทำตามขั้นตอนของกฎหมาย เพียงแต่เชื่อว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ไม่ได้กระทำตามขั้นตอน แล้วยังกระทำผิดเสียเอง โดยขณะที่นำโจทก์ไปตรวจค้นที่ห้องพักไม่ได้มีการปิดตา โจทก์จึงสามารถมองเห็นใบหน้าจำเลยได้อย่างชัดเจน โดยจำเลยที่ 2และ 7 เกลี้ยกล่อมให้รับสารภาพ และจับกุมใส่กุญแจมือนอนในห้องพักเดียวพร้อมกับจำเลยคนอื่นๆ โจทก์จึงย่อมมองเห็นหน้าจำเลยได้อย่างชัดเจน เห็นว่าจำเลยที่ 2,7,8,10,11 ได้ร่วมข่มขืนใจโจทก์ให้กระทำการใดๆ และหน่วงเหนี่ยวกักขังให้ปราศจากเสรีภาพ

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2-11 ย่อมต้องรู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลย โดยจำเลยที่ 1 ถือเป็นตัวการ จำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 จับกุมโจทก์โดยไม่มีหมายจับ และใช้อาวุธปืนบังคับข่มขืนใจ หน่วงเหนี่ยวกักขัง จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157 แม้ว่าจำเลยอ้างว่า ระหว่างเกิดเหตุติดเวรรับเสด็จแต่ก็ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้

ส่วนอุทธรณ์ของจำเลยที่1,2,7,8,10,11 ที่ระบุว่าทำตามหน้าที่ราชการ มีความขยันขันแข็งไม่เคยต้องโทษมาก่อน ขอให้ศาลรอการลงโทษสถานเบาหรือให้รอการลงโทษนั้นเห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แต่จำเลยกลับละเมิดกฎหมายเอง ถือเป็นความผิดร้ายแรงจึงไม่สมควรให้รอการลงโทษ อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องจำเลยที่ 3,4,5 ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

พิพากษาแก้ว่า จำเลยที่ 1,2,7,8,10,11 มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตาม ประมวลกฎหมายอาญา ม.157 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำคุกจำเลยที่ 1,2,7,10 คนละ 4 ปี และจำคุกจำเลยที่ 8,11 คนละ 3 ปี ส่วนจำเลยที่ 3,4,5,6 และ9 ให้ยกฟ้อง

ต่อมาเวลา 18.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่าศาลอุทธรณ์โดยมีคำสั่งให้เพิ่มหลักทรัพย์การประกันตัวจำเลย เป็นคนละ 500,000 บาท พร้อมส่งคำร้องการประกันตัวของจำเลยทั้งหมดไปให้ศาลฏีกาพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวชั่วคราวระหว่างฏีกาคดีหรือไม่ โดยคาดว่าศาลฏีกาจะมีการพิจารณาคำร้องขอประกันตัวของจำเลย ในวันที่ 4 กันยายน 2556 นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าตลอดทั้งวันหลังที่ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาจำคุกจำเลยในคดี นี้ พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ อดีต สว.สส.สน.พญาไท ซึ่งอยู่ในเครื่องแบบตำรวจเต็มยศปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ผกก.สน.ประชาสำราญ พื้นที่ในเขต บก.น.3 พร้อมจำเลยที่เกี่ยวข้องได้รอฟังคำสั่งศาลอยู่ในห้องพิจารณาคดี ซึ่งภายหลังศาลอุทธรณ์ได้ส่งคำร้องไปให้ศาลฏีกาเป็นผู้พิจารณาคำสั่งประกัน ทำให้ พ.ต.ท.สมิง รอดรัตษะ ผกก.สน.ประชาสำราญ ต้องถอดเครื่องแบบ ก่อนจะถูกนำตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันทีพร้อมจำเลยที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ปัจจุบันเป็นผู้กำกับ สน.ประชาสำราญ


กำลังโหลดความคิดเห็น