ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องคดี “ตู่-จตุพร” กล่าวหา “อภิสิทธิ์” อดีตนายกฯ ตีตนเสมอเจ้านั่งเก้าอี้ถวายงาน ศาลชี้จำเลยไม่เคยเข้าเฝ้าฯ จึงไม่รู้ขั้นตอน ไม่มีเจตนาให้ร้าย ถือเป็นแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
ที่ห้องพิจารณา 906 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 09.30 น. วันนี้ (13 ส.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำ อ.404/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา 326, 328, 332
คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องระบุว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2552 เวลากลางวัน จำเลยแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนบริเวณที่ทำการพรรคเพื่อไทย มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ว่า โจทก์ไม่ถวายความเคารพองค์พระมหากษัตริย์ในขณะเข้าเฝ้าประชาชนคนไทยต้องพึงปฏิบัติ และโจทก์ทำตัวตีเสมอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยคนใดเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยนั่งเก้าอี้เช่นเดียวกับโจทก์ การกระทำของโจทก์กระทบกระเทือนความรู้สึกของคนไทยทั่วประเทศ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง เหตุเกิดที่แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กทม. ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332
โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2555 เห็นว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าสำนักพระราชวังเป็นผู้ดูแลระเบียบพิธีการเข้าเฝ้าฯ แต่กลับแถลงข่าวต่อสาธารณชนทันทีจึงเป็นกี่วิพากษ์วิจารณ์เกินกว่าฐานะนักการเมืองที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลหรือเป็นเพียงการตักเตือนโจทก์ตามที่จำเลยต่อสู้ ประกอบกับโจทก์และจำเลย มีเหตุขัดแย้ง ถึงขั้นฟ้องคดีอาญาหลายคดี ส่อให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนามุ่งกล่าวหาโจทก์จึงไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามมาตรา 328 ให้จำคุก 6 เดือนและปรับ 50,000 บาท แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยรับโทษจำคุกมาก่อนจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาย่อในหนังสือพิมพ์รายวัน 2 ฉบับเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ต่อสู้ คดีว่า ไม่ได้กระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์ ประชุมตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า เมื่อปรากฏภาพโจทก์นั่งเก้าอี้ถวายงาน จำเลยได้กล่าวถึงโจทก์ว่าไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดนั่งเก้าอี้ถวายงานลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งแม้ว่าจำเลยจะกล่าวถึงโจทก์ด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง แต่เป็นไปได้ว่าผู้ที่ได้รับฟังจะไม่ได้คล้อยตามความรู้สึกนึกคิดของจำเลยทั้งหมด ขณะที่ทางนำสืบจำเลยเบิกความยอมรับว่าไม่เคยได้เข้าเฝ้าฯถวายงานลักษณะเช่นเดียวกับโจทก์ แม้ว่าจำเลยจะเป็น ส.ส. แต่เมื่อไม่เคยเข้าเฝ้าฯ ลักษณะดังกล่าวจึงเชื่อว่าจำเลยไม่ทราบ ขั้นตอนการเข้าเฝ้าฯ ดังกล่าว และแม้ว่าโจทก็จำเลยจะมีเหตุขัดแย้งในทางคดีมาก่อนก็ยังไม่มีเหตุขนาดที่จะฟังว่ามีเจตนาให้ร้ายโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ภายหลังนายจตุพรกล่าวสั้นๆ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า คดีที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ใช่เรื่องส่วนตัว แต่เกิดจากการต่อสู้ของตนในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งขอบคุณศาลที่พิพากษาทั้ง 2 คดี หลังจากนี้ก็จะแก้ต่างต่อสู้คดีที่ยังเหลืออยู่