xs
xsm
sm
md
lg

ศาลฎีกาออกหมายจับ “ประชา มาลีนนท์” ไม่มาฟังคำพิพากษาคดีทุจริตรถดับเพลิง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

(แฟ้มภาพ) นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ออกหมายจับ “ประชา มาลีนนท์” อดีต รมช.มหาดไทย เหตุไม่มาฟังคำพิพากษาคดีทุจริตรถดับเพลิง พร้อมกับมีคำสั่งเลื่อนการฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 10 ก.ย.นี้

วันนี้ (6 ส.ค.) ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลฎีกาฯ ได้นัดฟังคำพิพากษาคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย, นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย, นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์, พล.ต.ต.อธิลักษณ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม., บริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ จำกัด และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นจำเลยที่ 1-6 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (ฮั้วประมูล) พ.ศ. 2542 จากกรณีการจัดซื้อรถ และเรือดับเพลิง พร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ตามโครงการพัฒนาระบบบริหารและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานสำนักป้องกันและ บรรเทาสาธารณภัยกทม.มูลค่า 6,687,489,000 บาท

อย่างไรก็ตาม วันนี้นายประกันจำเลยที่ 2 ได้มอบฉันทะให้ทนายความมาฟังคำพิพากษาซึ่ง ศาลฎีกาฯได้อ่านกระบวนการพิจารณาว่า ศาลนัดอ่านคำพิพากษาวันนี้ จำเลยที่ 1, 3, 4 และ 6 มาศาล จำเลยที่ 2 กลับไม่มา โดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง จำเลยที่ 2 เจตนาหลบเลี่ยงไม่มาฟังคำพิพากษา ทำให้ศาลไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ จึงมีคำสั่งให้ออกหมายจับ จำเลยที่ 2 และปรับเงินประกัน 2 ล้านบาทเต็มตามสัญญา และให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาออกไปเป็นเวลาที่ 10 ก.ย. 2556 เวลา 10.00 น. พร้อมกำชับว่าในครั้งหน้าศาลฎีกาฯ จะไม่เลื่อนฟังคำพิพากษาแม้ว่าจำเลยคนใดจะไม่มาศาล

ย้อนรอยคดีนี้ไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยการออกมาเปิดเผยข้อมูลของ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ที่ออกมาเเฉข้อมูลการทุจริตของโครงการจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง มูลค่า 6,687 ล้านบาท เมื่อครั้งยังสังกัดอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์

ข้อมูลดังกล่าวระบุว่า นายสมัคร สุนทรเวช ในสมัยดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ได้เซ็นลงนามซื้อขายเรือและรถดับเพลิงเมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2547 ในขณะที่นายสมัครเป็นรักษาการผู้ว่าฯ กทม.ในช่วงรอเลือกตั้งหาผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ เรียกว่าทำกันในวันสุดท้ายของการรักษาการ เพราะว่าในวันที่ 29 ส.ค. 2547 จะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.โดยพรรคประชาธิปัตย์ส่งนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.และวันสุดท้ายที่มีการหาเสียงเลือกตั้งที่ศาลาว่าการ กทม. จึงเห็นว่ามีความผิดปกติในการเร่งลงนามสัญญา

ต่อมานายอภิรักษ์ได้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ กทม. จึงได้ตัดสินใจเปิดแอลซีตามที่ได้ลงนามสัญญาไว้กับบริษัท สไตเออร์ เดมเลอร์ พุค สเปเชียล ฟาห์รซอยก์ จำกัด และหลังจากเปิดแอลซีไปแล้วพบว่าสัญญาดังกล่าวเอกชนมีความได้เปรียบในหลายประการ จึงได้แก้แอลซีใหม่ โดยมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับ กทม.เพิ่มเติม เช่น การให้บริษัทจัดอบรมและศึกษาดูงานแก่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานดับเพลิงของ กทม.ทั้งในและต่างประเทศ แต่หลายฝ่ายก็มองว่าไม่ได้เป็นแก้ปัญหาสัญญาที่เสียเปรียบ นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนเพิ่มเติมจากนายยุทธพงศ์อีกว่า การจัดซื้อรถดับเพลิงครั้งนี้ มีราคาแพงผิดปกติ มีการเรียกรับสินบนของข้าราชการ กทม. เนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการในระดับประเทศและกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคู่ค้า อีกทั้งมูลค่าโครงการนั้นมีจำนวนสูงมากจึง ทำให้เป็นที่สนใจของประชาชน รวมถึงการถูก ส.ส. จากพรรคเพื่อไทย ร้องเรียนเรื่องการล็อกสเปกเอื้อเอกชน โดยเริ่มเป็นการพยายามมุ่งเน้นให้เป็นประเด็นทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม หลังจากการออกมาแฉข้อมูลดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับรัฐบาลอย่างรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระหว่างกระทรวงมหาดไทย (มท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแล กทม.และผู้บริหาร กทม. ที่เกี่ยวข้องกับสัญญาโดยตรงต่างก็ออกมาสาดโคลนทางการเมืองใส่กันว่าใครกันแน่เป็นคนทำผิดหรือตั้งใจจะทุจริต โดยทาง กทม.ก็อ้างเหตุผลที่ว่า มท.ในฐานะกำกับดูแลไปทำสัญญาในระดับประเทศมาแล้ว จึงเร่งให้ กทม.ลงนามเปิดแอลซีเพื่อสัญญาซื้อขายมีผลสมบูรณ์ จะได้ไม่เป็นปัญหากับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคู่สัญญา ส่วน มท.ก็อ้างว่าถ้า กทม.เห็นว่าสัญญาผิดก็ไม่ควรยอมรับด้วยการเปิดแอลซี และยกเลิกไป โครงการก็จะไม่เดินหน้า ก็เลยเป็นปัญหาจบไม่ได้คล้ายๆ ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน

ทั้งนี้ ในการสอบสวนข้อมูลการทุจริตดังกล่าว ได้มีหน่วยงานตรวจสอบหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยนายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ให้ ป.ป.ช.สืบสวนสอบสวนข้อมูลการทุจริตในโครงการดังกล่าว แต่ก็ต้องสะดุดลงเนื่องจากเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 จึงได้มีความพยายามนำเรื่องไปให้คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นำไปพิจารณาต่อ แต่กรรมการตรวจสอบที่มีนายนาม ยิ้มแย้ม พิจารณาเรื่องนี้นานกว่า 1 ปีครึ่ง คดียังไม่จบ นอกจากนี้ ในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ก็มีการรับเรื่องดังกล่าวเข้าเป็นคดีพิเศษและมีการตรวจสอบ และในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2549 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้มีข้อสรุปในคดี หลังจากการสอบปากคำพยานกว่า 50 ปาก และรวบรวมพยานเอกสาร 1.5 หมื่นแผ่นพบความผิด อาทิ จัดซื้อเกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เพราะราคาที่รวมภาษีอากรเป็นเงินถึง 8,000 ล้านบาท ซึ่งวงเงินที่เพิ่มขึ้นไม่มีการนำเสนอขออนุมัติจาก ครม. อีกทั้งการสอบสวนพบว่ามีการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงมูลค่า 6,687 ล้านบาท เป็นราคาที่แพงจนรัฐเกิดความเสียหาย เพราะราคาที่ซื้อขายกันจริงนั้นเพียง 3,000-3,500 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนมีมติให้ส่งสำนวนคดีชี้มูลความผิดผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 7 คนที่เกี่ยวพันโดยตรงกับการจัดซื้อจัดจ้าง พร้อมส่งสำนวนให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาต่อไป

ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.รับเรื่องนี้มาดำเนินงานต่อ โดยมี นายวิชา มหาคุณ เป็นประธานคณะอนุกรรมการในการไต่สวนเรื่องนี้จนกระทั่ง คณะกรรม ป.ป.ช.มีมติเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ชี้มูล มีผู้ถูกกล่าวหา ประกอบด้วย 1. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯ กทม. 2. นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม. 3. นายโภคิน พลกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 4. นายประชา มาลีนนท์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย 5. นายวัฒนา เมืองสุข อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 6. พล.ต.ต.อธิรักษ์ ตันชูเกียรติ อดีตผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และ 7. บริษัทสไตเออร์ฯ คู่สัญญา จากออสเตรีย โดยมีมติวินิจฉัยว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดในการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรณีสั่งเปิดแอลซี (L/C-Letter of Credit) กับธนาคารกรุงไทยเพื่อชำระเงินบริษัท สไตเออร์ฯ ของออสเตรียผู้ผลิตรถดับเพลิงและอุปกรณ์ดับเพลิง แต่ในปี 2552 นายสมัคร สุนทรเวช หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาในสมัยดำรงตำแหน่งรักษาการผู้ว่าฯ กทม. ได้เสียชีวิตลงจึงเหลือผู้ถูกกล่าวหาเพียง 6 ราย เท่านั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

หลังจากนั้นคดีไปอยู่ในชั้นอัยการอยู่ประมาณ 2 ปี จนสุดท้าย ป.ป.ช.ตัดสินใจฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลได้ประทับรับฟ้อง คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ทางการเมืองเป็นคดีแรกที่ ป.ป.ช.ตั้งทนายฟ้องเอง กระทั่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้รับฟ้องคดีไว้พิจารณา เพื่อมีคำพิพากษาพร้อมนัดพิจารณาคดีครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2554 เป็นต้นมา จนกระทั่งวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไต่สวนพยานนัดสุดท้าย คดีหมายเลขดำ อม.5/2554 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ และได้ให้คู่ความยื่นคำแถลงปิดคดีไปเมื่อวันที่ 30 กรกฏาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้หากจำเลยทั้ง 6 รายกระทำผิดจริงตามมาตรา 157 คือ ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาทหรือ ทั้งจำทั้งปรับ

อย่างไรก็ตาม ผลการตัดสินของศาลที่ออกมาในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2556 นี้จะออกมาอย่างไรจะส่งผลต่อ กทม.เพราะเรื่องนี้อยู่ในกระบวนการพิจารณาของ อนุญาโต ตุลาการ ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่ง กทม.ต้องการเลิกสัญญา โดยหากศาลตัดสินว่ามีการทุจริตจริง อาจจะทำให้สัญญาที่กระทำขึ้นนั้นผิดไปด้วย ซึ่งจะทำให้การฟ้องร้องเรื่องสัญญามิชอบนั้นได้เปรียบ เป็นประโยชน์ต่อการที่จะไม่ต้องยอมรับการซื้อขายรถดับเพลิงและอาจจะได้รับเงินที่จ่ายไปทั้ง 9 งวดคืน แต่หากไม่พบว่ามีการกระทำความผิดหรือทุจริต และสัญญาซื้อขายดังกล่าวนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง อาจจะส่งผลให้ กทม. ต้องยอมรับการซื้อขายและยอมรับรถและเรือดับเพลิงที่ถูกส่งมาให้ตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งขณะนี้สภาพของรถดับเพลิงที่จอดทิ้งไว้ประมาณ 7 ปี เสื่อมสภาพจนไม่น่าจะใช้การได้ จะต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซมก่อนนำมาใช้ ก็จะกลายเป็นว่า กทม. และรัฐบาลเสียเงินไปฟรีๆ จำนวนมากมายมหาศาล

ถือเป็นอีกคดีการทุจริตโครงการจัดซื้อของรัฐครั้งประวัติศาสตร์ ที่นต้องเสียเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลไปโดยเปล่าประโยชน์ ตอกย้ำความ “เลวทราม” ของนักการเมือง และข้าราชการขี้ฉ้อที่ร่วมกันนำเงินภาษีอากรประชาชนมาแสวงหาประโยชน์ใส่กลุ่มพวกพ้องและตนเอง ตอกย้ำวังวนเดิมๆ การทุจริตเชิงนโยบายของ “นักการเมือง"” ไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองใดก็ตาม
ภาพจากอินเทอร์เน็ต
กำลังโหลดความคิดเห็น