ดีเอสไอจับมือกระทรวงท่องเที่ยวฯ ลงพื้นที่ภูเก็ตหาแนวทางปราบมาเฟียต่างชาติ พร้อมขู่ กม.อาญา 3 ส่วนทลายแก๊ง จ่อยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองนักท่องเที่ยว
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่จังหวัดภูเก็ต นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ และนายจำเริญ ทิพญพงศ์ธาดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีดีเอสไอ พ.ต.ท.สมบูรณ์ สารสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 พ.ต.อ.พีรยุทธ การะเจดีย์ รอง ผบก.ภ.จว.ภูเก็ต พ.ต.อ.ศุภเศรษฐ์ โชคชัย รอง ผบก.ตำรวจท่องเที่ยว ร่วมประชุมหารือการดำเนินการต่อรถรับจ้างที่มีลักษณะเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพลข่มขู่และทำร้ายนักท่องเที่ยว และการดำเนินคดีต่อตัวแทนถือครองทรัพย์
นายธาริตกล่าวว่า ปัญหาอาชญากรรมร้ายแรงที่เกิดขึ้นมี 2 ส่วน 1. คนไทยตั้งแก๊งมาเฟียเป็นแท็กซี่ป้ายดำ ที่ท่าอากาศยานนานาชาติ จ.ภูเก็ต โดยใช้บริเวณลานจอดรถ มีพฤติกรรมข่มขู่นักท่องเที่ยว ตั้งราคาสูง และมีการข่มขู่ให้ใช้บริการ บางแห่งของตั้งเป็นชุ้มไม่ไผ่หน้าโรงแรม นอกจากนี้ยังทราบข้อมูลที่น่าละอายว่าบางแห่งคนป่วยยังไม่สามารถให้รถพยาบาลเข้าไปรับได้ ถูกบังคับให้ใช้บริการของพวกตนเอง เรื่องนี้หากถูกเผยแพร่ออกไปจะทำให้ถูกประณาม 2. มาเฟียต่างชาติร่วมมือคนไทย ตอนนี้มีทั้งชาวรัสเซีย ชาวจีน และชาวเกาหลี โดยกลุ่มเหล่านี้มีการตั้งบริษัทมากถึง 200 บริษัท ซึ่งมีนอมินีเป็นคนไทยในการจัดตั้ง สร้างอาณาจักรขยายเครือข่าย ซึ่งทั้งสองกลุ่มต้องมีการจัดการ ปล่อยไว้จะกลายเป็นอาชญากรรมร้ายแรง อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวควรมีการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง และทำงานร่วมกันทุกหน่วยงานแบบบูราณาการ เพราะหน่วยงานเดียวคงแก้ปัญหาไม่ได้
อธิบดีดีเอสไอกล่าวว่า ผลจากการหารือร่วมกันครั้งนี้ได้ข้อสรุปว่าจะมีตั้งศูนย์ทำงานร่วมกัน 4 ฝ่าย คือ 1. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลัก 2. กระทรวงยุติธรรม โดยดีเอสไอ 3. ในส่วนของจังหวัดจะดูแลเรื่องระบบการขนส่ง และ 4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในส่วนของตำรวจภูธรจังหวัด และตำรวจท่องเที่ยว ทั้งนี้ ศูนย์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นภายใน 15 วันหลังจากนี้ โดยใช้ชื่อว่าศูนย์ปฏิบัติการร่วมเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพลที่เป็นภัยต่อการท่องเที่ยว (ศปอท.) โดยศูนย์แรกจะตั้งที่ จ.ภูเก็ต ใช้พื้นที่ท่าอากาศยานเป็นที่ตั้งศูนย์ฯ หลังจากนี้จะขยายไปยังเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ศูนย์ดังกล่าวจะจัดกำลังไว้รับเรื่องรับตลอด 24 ชั่วโมง สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้ ทั้งนี้จะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมกำลังเข้าปฏิบัติการทันทีเมื่อได้รับการร้องเรียน เจ้าหน้าที่ใน ศปอท.ต้องมีการสลับเปลี่ยนหมุนเวียนพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความคุ้นชิน
นายธาริตกล่าวอีกว่า สำหรับการกระทำความผิดทั้งสองกลุ่มจะเป็นความผิดฐานกรรโชกทรัพย์อันเป็นปกติธุระ ซึ่งจะเข้าข่ายมูลฐานความผิดของสำนันกงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยจะมีผลกับทรัพย์สินที่ได้จากการกระทำผิด อาจจะถูกยึดอายัดทรัพย์
“กฎหมายฟอกเงินจะเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์ จะทำให้หมดเนื้อหมดตัว ไม่ใช่การถูกจับแล้วโดยปรับเล็กน้อย ซึ่งเป็นการจับแบบลูบหน้าปะจมูก ดีเอสไอจะทำหน้าที่เป็นเลขานุการศูนย์ฯ ทำหน้าที่ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย โดยนำกฎหมาย 3 ส่วนมาดำเนินการ ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการกรรโชก อั้งยี่ซ่องโจร และกฎหมายฟอกเงิน แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นั้น ส่วนสำคัญคือจังหวัด ตำรวจพื้นที่และตำรวจท่องเที่ยว รวมทั้งการมีส่วนร่วมของทาง อบต., อบจ. และภาคธุรกิจท่องเที่ยว ที่จะคอยเป็นหูเป็นตา แจ้งข่าวสารให้เจ้าหน้าที่รับทราบ เชื่อมั่นว่าจะแก้ปัญหาได้” นายธาริตกล่าว
อย่างไรก็ตาม การเดินทางมาประชุมร่วมกันแบบบูรณาการครั้งนี้ ทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ดีเอสไอ ทางจังหวัด และตำรวจ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปยังกลุ่มมาเฟียท่องเที่ยวว่าให้หยุดพฤติกรรมการกระทำผิด เพราะไม่เช่นนั้นอีก 15 วันเจอกัน เพราะเห็นว่าเป็นคนไทยด้วยกันจึงอยากเตือนไว้ก่อน และไม่ต้องห่วงดีเอสไอมีข้อมูลพวกที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการดังกล่าวหมดแล้ว ซึ่งดีเอสไอพร้อมจัดการแน่นอน
“ผมขอตั้งคำถามคนที่มาร่วมต่อต้านว่า พวกท่านมาเพื่อคุ้มครองผู้มีอิทธิพล หรือมาเฟียของผู้เสียประโยชน์หรือไม่ หรือต้องการปกป้องการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ฝากคนที่มาว่าต้องการเป็นตราบาปหรือไม่” พ.ต.อ.ญาณพลกล่าว
นายสมศักย์กล่าวว่า หากศูนย์ดังกล่าวพร้อมเปิดจะเรียนเชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มาเปิดศูนย์ ศปอท. และหลังจากนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเร่งยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น โดยนำต้นแบบในประเทศฝรั่งเศส และจะผลักดันกฎหมายให้เกิดขึ้นโดยเร็วเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพราะรายได้หลักของประเทศมาจากการท่องเที่ยว ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตปี 2555 มีมากถึง 8.2 ล้านคน มีรายได้ 24,000 ล้านบาท ดังนั้นต้องให้ความคุ้มครองนักท่องเที่ยว
รมว.การท่องเที่ยวฯ กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีนักท่องเที่ยว 10-20 ประเทศที่มีการยื่นหนังต่อทูตของประเทศตนเอง ที่ประจำในประเทศไทยเพื่อให้ช่วยดำเนินการกรณีนักท่องเที่ยวได้รับความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งทางกระทรวงฯ ต้องรับมาดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อแจ้งให้ทูตของแต่ละประเทศรับทราบว่าประเทศไทยมีการดำเนินการอะไรบ้าง
นายสมศักย์กล่าวอีกว่า อยากให้ทางจังหวัดตรวจสอบอย่างเคร่งรัดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว ในส่วนการออกใบอนุญาตเรือลากร่มบิน จักรยานยนต์ให้เช่า เพราะหน้าที่การตรวจเป็นของหน่วยงานของจังหวัด ซึ่งเจ้าหน้าที่ของจังหวัดร่วมตรวจสอบได้
“กรณีที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคลคนเดียว ถึง 200 บริษัท มันเป็นเรื่องผิดปกติ ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เห็นว่ากรณีดังกล่าวเป็นสิ่งผิดปกติ ก็ต้องถือเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือในการกระทำความผิด ทั้งนี้ ดีเอสไอจะเข้ามาช่วยกวาดบ้าน จ.ภูเก็ตให้สะอาด จะทำสำเร็จได้ต้องมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ช่วยกัน แต่ถ้าพบว่าคนในบ้านทำผิดก็ต้องมีคนเจ็บตัวบ้างเป็นเรื่องธรรมดา” นายสมศักย์กล่าว
ขนส่งจังหวัดกล่าวว่า จากการที่ขนส่งจังหวัดได้ร่วมกับทางจังหวัด สำรวจรถที่ผิดกฎหมายเมื่อช่วงปลายปี 2542 พบรถแท็กซี่ป้ายจำนวน 3,354 คัน มาขึ้นทะเบียน 2,882 คัน และปลายปี 2555 มาจดทะเบียนกับทางขนส่งจังหวัดเพียง 1,333 คัน หรือเพียง 39 เปอร์เซ็นต์จากการสำรวจ และเหลืออีก 1,749 คัน หรือ 61 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้จดทะเบียนจำนวน นอกจากนี้ยังมีปัญหารถสี่ล้อเล็กในพื้นที่ย่านหาดป่าตอง ซึ่งทางขนส่งจังหวัดกำลังสำรวจจำนวน และระหว่างนี้ได้มีการส่งหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการว่าทำผิดกฎหมาย และห้ามนำรถมาวิ่งรับส่งผู้โดยสาร