สน.พระอาทิตย์/สามยอด
ผ่านด่านแรกไปเรียบร้อย บัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับนายพล ยศ “พล.ต.ท.”ขึ้นไป ตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(รองผบ.ตร.)-ผู้บัญชาการ(ผบช.)ประจำปี ที่บอร์ดกลั่นกรองคุณสมบัติ ก.ตร. มีนนทิกร กาญจนจิตรา”เลขาฯก.พ. เป็นประธาน ร่วมกับ รองผบ.ตร.และจเรตำรวจ ไฟเขียวตามที่พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว แม่ทัพสีกากีเสนอ
ขั้นตอนต่อไปก็เหลือเพียงการนำรายชื่อที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากบอร์ดกลั่นกรอง เข้าสู่วงประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ(ก.ตร.) ชุดใหญ่ ที่มีพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ตีตราประทับสุดท้ายในวันที่ 24 ก.ค.2556 ทุกอย่างก็เกือบจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์
ตรวจแถวรายชื่อโผนายพลล็อตนี้ ไม่มีอะไรพลิกเกินความคาดหมาย เพราะทุกอย่างเป็นตามกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับสารวัตรถึงจเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549 ระบุว่า การแต่งตั้งระดับ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ขึ้นไป ให้พิจารณาตามความอาวุโส
เฉกเช่นเดียวกับการแต่งตั้งระดับผู้บัญชาการ(ผบช.) ก็เป็นไปตามกฎ ตามกติกา ก.ตร. ที่ยังยึดหลักอาวุโส 33% ผนวกกับกลุ่มความรู้ ความสามารถ ซึ่งเด็กเส้น เด็กสาย ประเภทตำรวจมะเขือเทศ คนสนิทบิ๊กสีกากี เติบโตนั่งเก้าอี้สำคัญตามพื้นที่ต่างๆ อย่างไม่มีปัญหา
แต่สิ่งที่น่าจะมีปัญหา และเป็นปัญหาใหญ่ คือ การทำหน้าที่ของ “ก.ตร.”ชุดปัจจุบัน ที่มี พล.ต.อ.ประชา เป็นประธาน กรรมการประกอบด้วย ก.ตร.โดยตำแหน่ง มีพล.ต.อ.อดุลย์ พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัต รองผบ.ตร.พล.ต.อ.วัชรพล ประสานราชกิจ รองผบ.ตร. พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร. พลล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รองผบ.ตร. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผบ.ตร. พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ จันทร์อิทธิกุล รองผบ.ตร. พล.ต.อ.อมรินทร์ อัครวงษ์ จเรตำรวจแห่งชาติ
ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ จากการเลือกตั้ง มีพล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ พล.ต.อ.บุญฤทธิ์ รัตนะพร พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ พล.ต.ท.ศุภวุฒิ สังข์อ่อง พล.ต.อ.อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช จากการแต่งตั้ง มีนายวิษณุ เครืองาม ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ รศ.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขาเศรษฐศาสตร์ นายวงศ์ศักดิ์ สวัสดิ์พาณิช ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐประศาสนศาสตร์ ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรั ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐประศาสนศาสตร์ รศ.สรพลจ์ สุขทรรศนีย์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านอาชญาวิทยา และนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ผู้ทรงคุณวุฒิสาขางานยุติธรรม
ก.ตร.ชุดนี้ แวดวงสีกากีต่างตั้งความหวังในการเข้ามาให้ความเป็นธรรมกับตำรวจที่ไร้เส้น ไร้สาย เพราะมีกรรมการที่มีสไตล์ดุดัน กล้าพูด กล้าแสดงออก อย่างพล.ต.อ.อชิรวิทย์ ซึ่งประกาศตัวช่วงลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ก.ตร.จะเป็นปากเป็นเสียงแทนตำรวจน้อยใหญ่ แต่สุดท้ายดูเหมือนทุกอย่างจะตรงกันข้าม
หลายเรื่อง หลายกรณี ที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบในวงกว้างต่อแวดวงสีกากี รอคำชี้ขาดจาก ก.ตร. กลับได้เห็นแค่เพียงอาการ “ลอยตัว”เหนือปัญหาแทบทั้งสิ้น
โดยเฉพาะล่าสุดกรณี พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่ปรึกษา(สบ.10) ใช้สิทธิร้องค้านการประกาศจัดลำดับอาวุโสของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่พล.ต.อ.อดุลย์ประกาศเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา และเปิดโอกาสให้ร้องค้านได้หากเห็นว่าไม่ถูกต้องภายใน 7 วัน
คำร้องถูกส่งเข้ามาให้ ก.ตร.พิจารณาในวงประชุม วันที่ 7 ก.ค. ซึ่งมีพล.ต.อ.ประชา มาเป็นประธานครั้งแรก ต่อจากร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แต่ปรากฏว่า ประธาน ก.ตร.คนใหม่ก็ไม่อยู่ร่วมในการพิจารณา ปล่อยให้พล.ต.อ.อดุลย์ ทำหน้าที่ประธาน ก.ตร.พิจารณาแทน
สุดท้าย ก.ตร.ก็มีมติให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกลับไปทบทวนประมวลเรื่องและเสนอเข้ามาใหม่อีกครั้ง แต่ให้ดำเนินการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับนายพล ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.ค.นี้ได้ตามเดิม โดยยึดตามหลักอาวุโสที่ประกาศไปแล้ว
เล่นเอางงกันทั้งวงการสีกากีกับทีท่าของ ก.ตร.ที่ไม่ยอมชี้ขาดคำร้องของพล.ต.อ.วุฒิครั้งนี้ และยังยอมให้การแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจสามารถดำเนินการต่อไปได้ เพราะสิ่งที่พล.ต.อ.วุฒิ ร้องเรียนเกี่ยวพันกับการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากหากคำร้องของพล.ต.อ.วุฒิ ฟังไม่ขึ้นทุกอย่างก็จบไป แต่ถ้าคำร้องฟังขึ้น ก็จะมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในลำดับอาวุโส พล.ต.อ.วุฒิ จะสลับขึ้นไปอยู่เหนือกว่า พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน ที่ปรึกษา(สบ.10) ที่อยู่ลำดับเหนือกว่าพล.ต.อ.วุฒิ 1 ลำดับตามคำประกาศของ สตช.
และการแต่งตั้งระดับนายพลก็จะต้องเปลี่ยนแปลงเช่นกัน เพราะปีนี้ตำแหน่ง รองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งหลักว่าง 3 เก้าอี้ เรียกตามการประกาศลำดับอาวุโส พล.ต.อ.รชต เย็นทรวง ที่ปรึกษา(สบ.10) สไลด์มาเป็นอยู่หลัก 1 เก้าอี้ ตามด้วยพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ที่ปรึกษา(สบ.10) เข้าไลน์หลักอีก 1 เก้าอี้ ก็เหลืออีกเพียง 1 เก้าอี้ หากคำร้องฟังไม่ขึ้น พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ก็จะขยับมาอยู่ตำแหน่งหลักตัวสุดท้าย แต่ถ้าคำร้องฟังขึ้น พล.ต.อ.วุฒิ ก็จะได้ตำแหน่งนี้ไปครอง
ทว่าเมื่อ ก.ตร. ไม่ยอมชี้ขาดและให้ยึดลำดับอาวุโสเดิม เดินหน้าแต่งตั้งโยกย้าย แต่กลับให้ สตช.นำคำร้องพล.ต.อ.วุฒิ มาพิจารณาใหม่ ปัญหาก็จะต้องเกิดขึ้นตามมาอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ เพราะเมื่อมีการแต่งตั้งไปแล้ว ถ้าจะไปเปลี่ยนแปลงให้กลับคืนมาก็ต้องมีผู้เสียประโยชน์ และผู้ได้ประโยชน์ ย่อมไม่มีใครยอมอย่างแน่นอน
ยิ่งหากพล.ต.อ.วุฒิ นำเรื่องไปร้องศาล หากศาลชี้ว่าฟังไม่ขึ้นก็จบไป แต่ถ้าศาลชี้ว่าฟังขึ้น สตช.ต้องเปลี่ยนแปลงลำดับอาวุโสให้ใหม่ ความวุ่นวายก็จะเกิดขึ้นกับ สตช.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และผลกระทบก็จะต้องส่งไปถึงองคาพยพทั้งหมด
เช่นเดียวกับปัญหาการตีความคุณสมบัติพล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ เรื่องการนับอายุ ซึ่งจะมีผลต่อการพ้นวาระการเป็น กรรมการ ก.ตร.หรือไม่ ก็ยังไม่มีข้อยุติอะไรออกมา ทั้งที่เรื่องนี้มีการพิจารณามาตั้งแต่สมัย ร.ต.อ.เฉลิม เป็นประธาน ก.ตร. มีการเสนอเรื่องเข้าวงประชุม ก.ตร.หลายครั้ง แต่ก็ไม่มีข้อยุติ
ทั้งๆที่ตามอำนาจของ ก.ตร.สามารถชี้ขาดประเด็นคำร้องค้านที่เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว เนื่องจากมีกฎ มีระเบียบ กำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรกำกับอยู่แล้ว เพียงแค่นำมาใช้อย่างเป็นธรรมเที่ยงตรง ในการพิจารณาตัดสินทุกอย่างก็จบลง
แต่ถ้า ก.ตร.ยังเล่นบท “ลอยตัว” หลีกลี้หนี้ปัญหาเช่นนี้ ศักดิ์ศรี ความศรัทธา ความเชื่อมั่น ก็จะลดน้อยถอยลง คำครหา ก.ตร.ตรายาง ก.ตร.ไม้หลักปักขี้เลน ก็ไม่วันที่จะสลัดทิ้งไป ที่สำคัญโผแต่งตั้ง “นายพลสีกากี”ปีนี้อาจมีปัญหากระทบเป็นลูกโซ่ตามมาก็เป็นไปได้.