xs
xsm
sm
md
lg

ศาลนัดฟังไต่สวนการตาย คดี “6 ศพวัดปทุมฯ” 6 ส.ค.

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำสั่งไต่สวนการตาย คดี “6 ศพวัดปทุมฯ” ช่วงเสื้อแดงก่อจลาจล 6 ส.ค.นี้ ภายหลังตำรวจนครบาลและเสื้อแดงเบิกความสอดคล้องกัน วิถีกระสุนมาจากกระบอกปืนทหาร บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส

วันนี้ (4 ก.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 604 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลนัดไต่สวนคำร้องชันสูตรการเสียชีวิตคดีหมายเลขดำที่ ช.5/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นคำร้องขอให้ไต่สวนชันสูตรการเสียชีวิตของ นายสุวัน ศรีรักษา อายุ 30 ปี เกษตรกร ผู้เสียชีวิตที่ 1 นายอัฐชัย ชุมจันทร์ อายุ 28 ปี บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เสียชีวิตที่ 2 นายมงคล เข็มทอง อายุ 36 ปี เจ้าหน้าที่อาสามูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ผู้เสียชีวิตที่ 3 นายรพ สุขสถิต อายุ 66 ปี พนักงานขับรถรับจ้างในสนามบิน ผู้เสียชีวิตที่ 4 น.ส.กมนเกด อัคฮาด อายุ 25 ปี พยาบาลอาสา ผู้เสียชีวิตที่ 5 และนายอัครเดช ขันแก้ว อาชีพรับจ้าง ผู้เสียชีวิตที่ 6 ซึ่งถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนาราม ใกล้แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ช่วงสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)

โดยในวันนี้พนักงานอัยการนำ พ.ต.ท.ธัชชัย บุญเพ็ง พนักงานสอบสวน สน.จักรวรรดิ ในฐานะหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน คดีผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย ภายในวัดปทุมวนาราม จากเหตุชุมนุมของกลุ่ม นปช.เมื่อปี 2553 และ ร.ต.ท.ภาณุพันธ์ ประเสริฐ รอง สว.ฝ่ายแต่งตั้งกองทะเบียนพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะพนักงานสอบสวน
ขึ้นเบิกความสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2553 พยานได้รับแจ้งเหตุมีผู้เสียชีวิตภายในบริเวณวัดปทุมวนาราม จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ แล้วเดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ โดยใช้เส้นทาง ถนนพระราม 4 ที่ได้ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ทหารเพื่อเข้าพื้นที่ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ปิดและเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ได้รับคำสั่งให้เข้าไปควบคุมสถานการณ์ โดยพยานทั้งสองไปถึงเกิดเหตุเวลา 12.30 น.ซึ่งศพผู้ตายทั้ง 6 ราย ถูกวางเรียงกันหน้าศาลาธรรมศรัทธาภายในวัดปทุมวนาราม ซึ่งก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ก็ได้มาเก็บหลักฐานและตรวจเขม่าดินปืนจากศพแล้ว จากนั้นจึงแจ้งให้สหวิชาชีพมาตรวจพิสูจน์ศพและนำศพทั้งหมดย้ายไปยัง สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ เพื่อทำการชันสูตรศพอย่างละเอียด

ต่อมาภายหลังก็ได้ทำสำนวนการเสียชีวิต ซึ่งได้มีการรวบรวมหลักฐานจากพยานบุคคล 16 ปาก แล้วส่งสำนวนการสอบสวนไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แต่ต่อมาดีเอสไอส่งสำนวนการเสียชีวิตบุคคลกลับมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนจะส่งให้พนักงานสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมเนื่องจากยังสำนวนมีคดีการเสียชีวิตของบุคคลอื่นอีก จากนั้นจึงได้ส่งสำนวนกลับไปให้ดีเอสไออีกครั้ง กระทั่งดีเอสไอได้สอบสวนพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารที่เห็นเหตุการณ์ จนสรุปได้ว่าการตายทั้ง 6 ศพ เกิดจากการกระทำของทหารที่อ้างว่าได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.ให้เข้ามากระชับพื้นที่ ซึ่งดีเอสไอได้ส่งเอกสารยืนยันการเสียชีวิตมาให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2553 จากนั้น สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้แต่งตั้งให้ พ.ต.ท.ธัชชัย บุญเพ็ง เป็นหัวหน้าชุดพนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานคดีนี้ ซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนพยานบุคคล 111 ปาก และพยานเอกสารรับฟังได้ว่าการเสียชีวิตทั้ง 6 ศพ เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหาร จากผลการตรวจคราบเขม่าดินปืนของกองพิสูจน์หลักฐานไม่พบว่าผู้ตายทั้ง 6 ศพ มีคราบเขม่าดินปืนติดแต่อย่างใด ต่อมาจึงได้ส่งสำนวนเพื่อให้อัยการยื่นคำร้องไต่สวนสาเหตุการตาย

นอกจากนี้พยานยังเบิกความอีกว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 มีนำกำลังทหารจากกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 31 รวมทั้งสิ้น 160 นาย ปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่บริเวณวัดปทุมวนาราม จนถึงแยกเฉลิมเผ่า และเมื่อเวลาประมาณ 13.00 น.เศษ แกนนำ นปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมและให้ผู้ชุมนุมเดินทางกลับภูมิลำเนา หรือเข้าไปพักที่วัดปทุมวนาราม ที่เป็นเขตอภัยทาน โดยใช้เส้นทางพระราม 1 ผ่านวัดปทุมวนาราม จนถึงสนามกีฬาศุภชลาศัย จึงมีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเข้าไปอาศัยหลบภัยที่วัดปทุมฯ กระทั่งเวลา 17.00 น.เศษ ตำรวจที่ประจำอยู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เห็นทหารมาปฏิบัติหน้าที่บริเวณรางรถไฟฟ้าบีทีเอส จำนวน 7 นาย และด้านล่างสถานีอีกจำนวน 6 นาย รวมเป็น 13 นาย จากนั้น นายธวัช แสนพรหม ซึ่งอยู่ในเหตุการณ์มาเล่าให้พยานฟังว่า ขณะยืนอยู่ภายในวัดปทุมวนาราม ข้างรั้วด้านติดห้างสยามพารากอน ซึ่งกำแพงสูงท่วมหัว แต่ได้เห็นทหารเล็งปืนมา จึงเดินไปหลบหลังอาคารมูลนิธิพระบรมชนก และเมื่อมองไปด้านขวาห่างจากที่ยืนอยู่ประมาณ 15 เมตร เห็นกระสุนยิงนายสุวัน ผู้ตายที่ 1 ล้มลงขณะเข้าห้องน้ำ ส่วน นายอัฐชัย ผู้ตายที่ 2 มีช่างภาพชาวต่างประเทศ เห็นว่านายอัฐชัย วิ่งมาจากแยกเฉลิมเผ่า พร้อมเพื่อนอีก 2 คน มุ่งเข้าสู่วัดปทุมวนาราม ซึ่งนายอัฐชัย ถูกกระสุนยิงเข้ากลางหลังทะลุหน้าอก ล้มลงต่อหน้า แล้วเพื่อนๆ พยายามนำร่างนายอัฐชัยไปปฐมพยาบาล ซึ่งช่างภาพชาวต่างประเทศดังกล่าวได้บันทึกภาพวิดีโอเหตุการณ์หลังจากนายอัฐชัย ถูกยิงไว้ และภายหลังได้มีการนำชี้จุดเกิดเหตุพบว่าห่างจากแยกเฉลิมเผ่า ประมาณ 100 เมตร ซึ่งคำให้การของช่างภาพดังกล่าวสอดคล้องกับคำให้การของเพื่อนผู้ตายอีก 2 คนที่วิ่งหนีมาด้วยกัน โดยผู้ตายที่ 1 ถูกยิงเมื่อเวลาประมาณ 17.40 น.ส่วนผู้ตายที่ 2 ถูกยิงเมื่อเวลาประมาณ 17.49 น.

ต่อมาได้สอบสวน หนึ่งในเจ้าหน้าที่ทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหาราบที่ 31 ยอมรับว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนทราโว่ ยิงไปที่บริเวณพระราม 1 จำนวน 4 นัด แต่ปฏิเสธว่าไม่ได้ยิงนายสุวัน ผู้ตายที่ 1 และนายอัฐชัย ผู้ตายที่ 2 ส่วน นายมงคล ผู้ตายที่ 3 และนายรพ ผู้ตายที่ 4 นั้นจากการสอบสวนพบว่าเสียชีวิตในช่วงค่ำของวันที่ 19 พ.ค.2553 โดยนายอุดร วรรณสิงห์ ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ขณะหลบเสียงปืนอยู่ที่ใต้สะพาน SKY WALK ของบีทีเอส เห็นผู้ตายที่ 3-4 ยืนอยู่ภายในวัดปทุมวนารามตรงประตูทางออก ขณะนั้นก็ได้ยินเสียงปืนดังมาจากรางรถไฟฟ้าแล้วยิงผู้ตายทั้งสอง แล้วเมื่อเสียงปืนสงบลง จึงมีคนนำร่างทั้งสองไปปฐมพยาบาลในเต็นท์ภายในวัดจากนั้นประมาณ 5 นาที มีเสียงปืนยิงเข้ามาในเต็นท์ปฐมพยาบาลแล้วพบว่า น.ส.กมนเกด ผู้ตายที่ 5 ถูกยิงล้มลง ซึ่งสอดคล้องกับคำให้การของผู้ที่เห็นเหตุการณ์อีก 1 ปาก ที่เห็นวิถีกระสุนมาจากทางรางไฟฟ้ายิงขณะผู้ตายที่ 5 ก้มศีรษะหลบ ซึ่งผู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวได้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวไว้ด้วย โดยที่คาดว่าเวลาผู้ตายที่ 3-4 ถูกยิงช่วงประมาณ 18.13 น.ส่วนผู้ตายที่ 5 ถูกยิงช่วงประมาณ 18.18 น.และจากคำให้การของเจ้าหน้าที่กองพิสูจน์หลักฐาน สตช.ระบุว่า วิถีกระสุนที่ยิงนายรพ ผู้ตายที่ 4 มาจากรางรถไฟฟ้า นอกจากนี้ยังพบเศษกระสุนขนาด .223 ชนิดหัวเขียว เอ็ม 855 ซึ่งใช้กับอาวุธปืนเอ็ม 16 รุ่น เอ 2 ในร่างของนายสุวัน ผู้ตายที่ 1, นายมงคล ผู้ตายที่ 3, นายรพ ผู้ตายที่ 4, น.ส.กมนเกด ผู้ตายที่ 5 และนายอัครเดช ผู้ตายที่ 6 ขณะที่พบว่าวิถีกระสุนยิงจากบนลงล่าง สอดคล้องกับคำให้การของเจ้าหน้าที่ทหาร 7 นายที่ประจำการบนรางรถไฟฟ้า ว่ามีการเบิกอาวุธปืนขนาดดังกล่าวมาใช้ปฏิบัติหน้าที่ด้วย ส่วนการตรวจพิสูจน์ศพนายอัฐชัย ผู้ตายที่ 2 ไม่พบเศษกระสุนปืนในร่าง เพราะวิถีกระสุนยิงจากแนวราบ โดยจากการสอบพยานพบว่าได้มีการลำเลียงผู้เสียชีวิตทั้ง 6 ราย มาอยู่ที่บริเวณหน้าศาลาธรรมศรัทธา ซึ่งในวันที่ 19 พ.ค2553. ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่บริเวณวัดปทุมวนารามและบริเวณโดยรอบแต่อย่างใด

ขณะที่ น.ส.ดุษฎี งามขำ อายุ 58 ปี กลุ่มผู้ชุมนุม นปช.เบิกความเป็นพยานปากสุดท้ายว่า ช่วงบ่ายวันที่ 19 พ.ค.2553 หลังจากที่แกนนำ ประกาศยุติการชุมนุมและมอบตัวที่ สตช.แล้ว พยานยังอยู่บริเวณหน้าเวทีปราศรัยตรงแยกราชประสงค์ ระหว่างนั้นเห็นกำลังทหารเคลื่อนมาจากถนนเพลินจิต โดยมีทหารเข้ามาพูดคุยกับพยานเพื่อให้ออกจากพื้นที่ แต่พยานยังไม่ยอม กระทั่งก่อน 18.00 น.มีล่ามแปลภาษาของผู้สื่อข่าวต่างประเทศได้ชวนพยานออกจากพื้นที่ เพราะเกรงว่าจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานจึงตัดสินใจออกไปพร้อมกับล่าม โดยเปลี่ยนจากเสื้อสีแดงเป็นใส่เสื้อสีขาวแทน แต่เนื่องจากบริเวณแยกเฉลิมเผ่า มีเจ้าหน้าที่ทหารอยู่จำนวนหนึ่งพยานจึงไม่กล้าเดินผ่าน โดยตัดสินใจเดินทางออกไปผ่านเส้นทางถนนเพลินจิตแทน กระทั่งบ่ายวันที่ 20 พ.ค.กลุ่มน้องสาวพยานที่หลบอยู่ภายในวัดปทุมฯ เมื่อวันที่ 19 พ.ค.เดินทางกลับมาและเล่าให้ฟังว่า ขณะอยู่ภายในวัดปทุมฯนั้น ทหารได้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าไปในวัด และยิงกระสุนปืนเข้าไปในวัดด้วย ทำให้มีผู้เสียชีวิตแต่พยานไม่ได้เห็นเหตุการณ์ภายในวัดปทุมวนารามในช่วงเวลาดังกล่าว

ภายหลังไต่สวนพยานเสร็จ 3 ปาก ทั้งอัยการและทนายความญาติผู้เสียชีวิต แถลงหมดพยานไต่สวน ศาลจึงนัดฟังคำสั่งชี้สาเหตุการเสียชีวิตทั้ง 6 ศพ ในวันที่ 6 ส.ค.นี้ เวลา 09.00 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนวนการชันสูตรพลิกศพที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ทั้ง 6 ศพ ถือเป็นสำนวนที่ 10 ที่ศาลจะมีคำสั่ง โดยก่อนหน้านี้ทั้งศาลอาญากรุงเทพใต้ และศาลอาญา ได้มีคำสั่งชี้สาเหตุการตายของผู้ที่ร่วมชุมนุม และเจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการชุมนุม มาแล้วทั้งสิ้น 9 ราย ประกอบด้วย นายพัน คำกอง (ถูกยิง ถ.ราชปรารภ 14 พ.ค.2553), ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ (ถูกยิง ถ.ราชปรารภ วันที่ 14 พ.ค.2553), นายมานะ อาจราญ (ถูกยิงในสวนสัตว์เขาดิน วันที่ 10 เม.ย.2553), พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ (ถูกยิงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ดอนเมือง วันที่ 28 เม.ย.2553), นายชาติชาย ชาเหลา (ถูกยิง ถ.พระราม 4 วันที่ 13 พ.ค.2553), นายบุญมี เริ่มสุข (ถูกยิง ถ.พระราม 4 วันที่ 14 พ.ค.2553), นายฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง (ถูกยิง ถ.พระราม 4 วันที่ 14 พ.ค.2553), นายชาญณรงค์ พลศรีลา (ถูกยิง ถ.ราชปรารภ วันที่ 15 พ.ค.2553) และ นายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี ถูกยิงเสียชีวิต เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553
กำลังโหลดความคิดเห็น