เวทีเสวนา “อุ้มฆ่ากับการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ” อดีตรอง อ.ตร.จวกรัฐบาล “รัฐตำรวจ เผด็จการทุนสามานย์” สร้างแต่ปัญหา ขณะที่ “ทนายสุวัตร” ชี้การอุ้มฆ่าเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล “ทักษิณ” มากที่สุด ส่วนกรณีลอบยิง “สนธิ” ใบสั่งฆ่ามาจากต่างประเทศ เชื่อคดีอุ้ม “เอกยุทธ” ประสงค์ต่อชีวิต
วันนี้ (22 มิ.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องพรหมทัตตเวที อาคาร อปร. รพ.จุฬาลงกรณ์ กลุ่มกรีน (Green Politics) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาการเมือง ชมรม ส.ส.ร.50 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้จัดเสวนาวิชาการ “อุ้มฆ่ากับการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ” โดยมีผู้เสวนา ได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร นายวรินทร์ เทียมจรัส รองประธานกรรมการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม สภาทนายความ นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด เลขาธิการ ครป. และพ.ต.ท.สันธนะ ประยูรรัตน์ อดีตรอง ผกก.กองบัญชาการตำรวจสันติบาล
โดยในช่วงแรก พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ และเป็นผู้ก่อตั้งไทยสปริง ได้แสดงปาฐกฐาในหัวข้อ “รัฐตำรวจ ในระบอบเผด็จการทุนนิยมสามานย์” โดยระบุว่า รัฐตำรวจ หมายความถึงการปกครองที่รัฐบาลควบคุมทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยใช้อำนาจบังคับ ซึ่งในการใช้อำนาจบังคับบางประเทศก็มีการใช้เจ้าหน้าที่นั่นก็คือ ตำรวจลับ หรือเป็นตำรวจที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของรัฐ แทนที่จะใช้องค์กรบริหาร หรือตุลาการอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ สำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบันเข้ามาสู่อำนาจโดยการเลือกตั้ง ฉะนั้นเมื่อมาจากการเลือกตั้งก็อนุมานได้ว่าเป็นประชาธิปไตย ทั้งที่ความเป็นจริงการเลือกตั้งส่วนหนึ่ง ประชาธิปไตยก็อีกส่วนหนึ่ง ซึ่งในกระบวนการเลือกตั้งหากเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ก็จะเป็นผู้แทนที่แท้จริงของประชาชน แต่ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเลือกตั้งครั้งล่าสุด มีการใช้เงินทุนจำนวนมหาศาลซื้อตัว ส.ส.และ ส.ว.บางส่วน เพื่อมานั่งเป็นเสียงข้างมากในสภา และเมื่อมีเสียงข้างมากในสภา รัฐบาลก็ใช้ความได้เปรียบตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองในการบริหารประเทศ ไม่ว่าจะมีเรื่องใดเข้ามาในสภา แม้ว่าฝ่ายค้าน หรือมีผู้ทักท้วงจากภายนอก แต่เมื่อมีการลงคะแนนเสียงรัฐบาลก็ชนะทุกครั้ง ทุกประตู ขณะนี้จะเห็นว่าการปกครองของประเทศไทยไม่ใช่ประธิปไตย แต่เป็นเผด็จการโดยรัฐสภา เผด็จการโดยอาศัยรัฐธรรมนูญ รัฐบาลปัจจุบันแม้ผู้แทนราษฎรจะมาจากที่ต่างๆ แต่อำนาจที่แท้จริงกลับอยู่ในมือนายทุนที่เป็นผู้ซื้อตัว ส.ส.เหล่านี้
“ทุนนิยมสามานย์ เป็นการบริหารที่ผู้ปกครองนึกถึงแต่ความมั่งคั่งของตัวเอง บริหารเพื่อให้ตนเองและพวกพ้องสามารถสั่งสมทุนให้มากยิ่งขึ้นไปอีก โดยไม่คำนึงถึงความทุกข์ยากของประชาชน ไม่นึกถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ถ้าดูพฤติการณ์ของรัฐบาลปัจจุบัน รัฐบาลใช้ระบอบทุนสามานย์นี้ในการบริหาร และโดยอาศัยเผด็จการโดยรัฐสภา ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมามากมายทั้งปัญหาการรับจำนำข้าว โครงการบริหารจัดการน้ำ ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้” อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจกล่าว
พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวต่อไปว่า สำหรับตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากบริหารโดยระบอบเผด็จการทุนนิยมสามานย์ รับจำนำข้าวที่ดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงหลักเศรษฐศาสตร์ รับจำนำในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด เป็นเหตุให้ตัวเลขขาดทุนขณะนี้สูงถึง 2.6 แสนล้านบาท อีกปัญหาคือ โครงการบริหารจัดการน้ำที่มีงบประมาณสูงถึง 3 แสนล้านบาท มีการดำเนินการอย่างรวบรัดไม่โปร่งใส ลักษณะเป็นการแบ่งเค้ก แบ่งกันกิน ไม่มีแผนงานที่ชัดเจน รู้แต่ว่าต้องกู้เงิน แต่เมื่อกู้เงินมากองกันแล้ว กลับไม่รู้ว่าต้องทำอะไร อีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลฝากไว้คือ การกู้เงิน 2.2 ล้านบาทมาก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง เอาไว้บรรทุกผักตามที่นายกฯ เคยกล่าวไว้ โครงการนี้การกู้เงินทำแบบรวบรัด ไม่มีรายละเอียด อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องทุกโครงการเมื่อเข้าสู่สภาก็จะผ่านไปได้อย่างรวดเร็ว ไม่มีใครสามารถทัดทานได้อยู่แล้ว
นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่งในที่สุดรัฐบาลก็ยอมรับว่า ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตนเองต้องไปยืมรัฐบาลมาเลเซีย ให้เป็นคนกลางในการพูดคุยกับกลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีใครรู้วากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่ก่อเหตุในพื้นที่ แต่ที่แน่นอนคือ ขณะที่การเจรจายอมรับเงื่อนไขอยู่นั้น เหตุความไม่สงบก็ยังคงเกิดขึ้นอย่างตอเนื่อง และด้วยเป็นทุนนิยมสามานย์ และเป็นเผด็จการยึดสภาได้ รัฐบาลนี้เข้าไปแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการพลเรือน และตำรวจ จนระบบคุณธรรมได้รับความเสียหาย แต่งตั้งให้คนของตัวเองเข้าไปรับตำแหน่งสำคัญ โดยไม่คำนึงถึงขั้นตอน ความรู้ความสามารถ อย่างกรณี นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. ซึ่งรัฐบาลต้องการเพียงแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่ภรรยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็น ผบ.ตร. จึงต้องโยก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ในขณะนั้น ไปเป็นเลขาธิการ สมช. ทำให้นายถวิล ถูกย้ายพ้นจากตำแหน่ง
พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวต่อไปว่า ในระบอบเผด็จการทุกรูปแบบที่อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดตกอยู่ที่คนคนเดียว หรือกลุ่มเดียว ย่อมมีการต่อต้าน จึงต้องมีการกำจัดผู้ต่อต้าน ซึ่งวิธีหนึ่งคือการอุ้มฆ่า โดยเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อจัดการกับผู้ที่เป็นอุปสรรค หรือเสถียรภาพของรัฐบาล ทั้งที่รัฐบาลสามารถที่จะดำเนินการกับคนเหล่านี้ได้โดยใช้กฎหมายที่ว่าด้วยความมั่นคง แต่รัฐบาลเผด็จการเลือกใช้วิธีการอุ้มฆ่าเนื่องจากรวดเร็วกว่า ไม่ยืดเยื้อ ขณะเดียวกัน หากใช้กฎหมายเมื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลก็จะเป็นการเปิดโปงความชั่วของรัฐบาล
พล.ต.อ.วสิษฐกล่าวด้วยว่า ในส่วนกรณีอุ้มฆ่า นายเอกยุทธ จนถึงขณะนี้ยังไม่อะไรที่จะยืนยันได้ว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ แต่คดีนี้พบพิรุธหลายประการ เช่น การพิสูจน์หลักฐานของตำรวจที่ทำอย่างรวบรัด คลุมเครือ ซึ่งตรงนี้ตนไม่โทษตำรวจที่ทำงาน แต่ตนโทษผู้บังคับบัญชาของตำรวจ ซึ่งรีบออกมาให้สัมภาษณ์ในลักษณะที่ชี้นำ หรือสรุปมากเกินไป คดีนี้ยังไม่ทันได้ทำอะไร ร.ต.อ.เฉลิม ก็ออกมาให้สัมภาษณ์แล้วว่าเป็นการชิงทรัพย์ ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ซึ่งมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีนี้ ก็ออกแถลงข่าวในลักษณะเหมือนเป็นประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ต้องหา การแสดงท่าทีของนักการเมือง หรือผู้บังคับบัญชาที่เป็นตำรวจด้วยกัน หากทำอย่างนี้จะทำให้เจ้าหน้าที่ลำดับรองที่มีหน้าที่สืบสวนคดีเกิดความลังเล รั้งรอ ตรงนี้ตนไม่ทราบว่าเป็นเจตนาหรือไม่ นอกจากนี้ อีกประเด็นคือ รถของนายเอกยุทธ ซึ่งคนร้ายใช้ในการอุ้มนายเอกยุทธ ไม่ปรากฏว่ามีการตรวจพิสูจน์หลักฐาน แต่มีการใช้ในการทำแผนประทุษกรรม มีคนมากมายเข้าไปในรถ หลักฐานทุกอย่างจึงถูกทำลายหมด ขณะเดียวกัน พบว่าคดีนี้การเก็บหลักฐานไม่มีความละเอียดรอบคอบถี่ถ้วน
จากนั้นเข้าสู่ช่วงการเสวนา โดยนายสุวัตรกล่าวว่า หากรัฐบาลมีธรรมาภิบาลการอุ้มฆ่าก็จะไม่เกิดขึ้น ในยุคปัจจุบันการอุ้มฆ่าระบาดมากตั้งแต่สมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะในสงครามปราบยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตถึง 2,500 ศพ บางคนมารายงานตัววันนี้ว่าจะกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี แต่พอกลับบ้านกลับถูกยิง ถูกอุ้ม ถูกฆ่า ซึ่งจนถึงบัดนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ยังหาคำอธิบายต่อการอุ้มฆ่าดังกล่าวไม่ได้ ต่อมา ก็มาพูดว่าเขาขอโทษว่าที่ผ่านมาเขาใช้กำปั้นเหล็กมากเกินไป แทนที่จะใช้ถุงกำมะหยี่ แสดงว่าเขายอมรับว่ากำปั้นเหล็กที่ใช้แล้วมันผิดประเภท จนทำให้เกิดความวุ่นวายใน 3 จังหวัดภาคใต้ แล้วก็เอาไม่อยู่ ต้องอาศัยประเทศมาเลเซียมาเป็นตัวกลางในการพูดคุยกับบีอาร์เอ็น นี่จึงเป็นการทำให้ประเทศตกต่ำ ทั้งที่ตอนนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ พูดว่าผู้ก่อการร้ายไม่มีแล้วใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีแต่โจรกระจอก แต่โจรกระจอกในตอนนั้นทำให้รัฐบาลเป็นรัฐบาลกระจอกในตอนนี้ ต้องวิ่งหัวซุกหัวซุนไปหารัฐต่างชาติ
นายสุวัตรกล่าวต่อไปว่า การอุ้มฆ่าตอนสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เกิดคดีอุ้มฆ่า 2,500 ศพ และกรณีอื่นๆ ขณะที่ต่อมา เกิดกรณีคนร้ายใช้อาวุธปืนสงคราม 200 นัดยิง นายสนธิ ลิ้มทองกุล และผู้ที่มายิงนั้นข้อเท็จจริงในสำนวนชัดเจนแล้วว่า เป็นทหาร และตำรวจ คดีนี้พนักงานสอบสวนสามารถออกหมายจับคนร้ายเป็นทหาร 2 คน เป็นตำรวจ 1 คน เมื่อสืบลึกเข้าไปในคดี คำสั่งฆ่ามาจากต่างประเทศ มาจากผู้เป็นใหญในกระทรวงกลาโหม โดยใช้หน่วย ฉก.90 หรือป่าหวาย ซึ่งเป็นลูกน้องของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.ขณะนั้น ปลอกกระสุนที่ใช้เขียนว่า Royal Thai Army ซึ่งใช้ในกองทัพบก พนักงานสอบสวนตรวจสอบไปยังกองพลาธิการทหารทราบว่ากระสุนล็อตนี้หน่วย ฉก.90 เป็นผู้เบิกไปใช้ ขณะเกิดเหตุยิงนายสนธิ เป็นช่วงเวลา 06.00-07.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเช้า คนร้ายสามารถตัดกระแสไฟฟ้าได้ ทำให้ไฟฟ้าดับทั้งถนนสามเสนทำให้กล้องวงจรปิดที่บริเวณแยกบางขุนพรหมไม่สามารถบันทึกเหตุการณ์ได้ แต่ตำรวจก็สามารถไล่กล้องวงจรปิดจนพบรถของคนร้าย มีการตรวจสอบการใช้โทรศัพท์ของคนร้ายในบริเวณจุดเกิดเหตุ ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นมีการข่มขู่นายสนธิ มาโดยตลอด แม้กระทั่งตนเองก็ยังถูกข่มขู่ นอกจากนี้ ยังให้คนติดตามสะกดรอย เป็นการกระทำที่อุกอาจ ซึ่งตอนนั้น นายสนธิ เองก็ระมัดระวังตัว แต่จำเป็นต้องไปจัดรายการที่สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี จึงเกิดเหตุดังกล่าว
นายสุวัตรกล่าวต่อไปว่า สำหรับรัฐบาลชุดนี้ ทันทีที่มาเป็นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ได้วางหมากไว้หมดแล้ว โดยเริ่มจากการยึดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ เป็น ผบ.ตร. ต่อมา ยึดสำนักงานอัยการสูงสุด แก้รัฐธรรมนูญโดยให้อำนาจอัยการเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน ผลักดัน พ.ร.บ.ชะลอการฟ้อง ซึ่งเป็นการให้อำนาจอัยการให้การพิจารณาว่าคดีใดจะฟ้องหรือไม่ฟ้องก็ได้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหากกฎหมายฉบับนี้ออกมา หากฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลฟ้องคดีก็จะถูกดึงไว้ นอกจากนี้ ยังยึดกรมราชทัณฑ์ไว้ได้ ขณะที่ล่าสุด ก็ยึดสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ของ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ด้วย เมื่อรัฐบาลส่งตำรวจไปคุมในทุกหน่วยงานแล้ว ทุกอย่างมันเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
นายสุวัตรกล่าวด้วยว่า ในคดีนายเอกยุทธ ตนบอกเลยว่าอะไรจะประมาทกันขนาดนั้น เพราะนายเอกยุทธถูกอุ้มตัวไปเมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ต่อมาวันที่ 8 มิ.ย.ตนไปแจ้งความที่กองปราบปราม ถัดมาวันอาทิตย์ทำอะไรไม่ได้ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่วันตำรวจก็สามารถจับกุม นายสันติภาพ หรือบอล เพ็งด้วง คนขับรถนายเอกยุทธได้ หลังจากนั้น พล.ต.ท.คำรณวิทย์ แถลงข่าวทันทีเลยว่า นายเอกยุทธ จัดฉากอุ้มตัวเองเพื่อนำเงิน 5 ล้านบาทหลบหนีไปประเทศพม่า ตนพร้อมทีมทนายความจึงรีบเดินทางไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อไปถึงพบนายสันติภาพ นั่งอยู่กับตำรวจ จึงขอพูดคุยด้วยเพราะตนเองก็คุ้นเคยกับนายสันติภาพ เป็นอย่างดี ก่อนหน้านั้นเคยพบกันหลายครั้ง แต่ตำรวจกลับพยายามพานายสันติภาพ หนี ตนจึงเข้าขัดขวาง พร้อมกับเข้าพบ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ เพื่อถามถึงเหตุผลที่ไม่ให้ตนพูดคุยกับผู้ต้องหา
“ผบช.น.ก็ได้เรียกทีมสืบสวนขึ้นมาทั้งชุด พร้อมกับถามผมว่าจะให้ทำอย่างไร จะให้เขาออกจากการเป็นพนักงานสอบสวนคดีนี้ หรือจะให้ผมร่วมสอบสวนผู้ต้องหา แต่กฎหมายประมวลวิธีพิจารณาความอาญายังไม่ให้สิทธิทนายร่วมสอบด้วย ผมจึงขอสอบฟังการสอบสวน ซึ่งจากที่เขาแถลงแล้วว่า นายเอกยุทธ อุ้มตัวเองเพื่อหนีไปพม่า ผมก็นั่งสงสัย ผมก็ถามว่าคิดได้เหรอ เพราะอย่างที่ทราบ นายเอกยุทธ มีเงินเท่าไหร่ ทำไมเลือกที่จะลงใต้ ไม่ขึ้นเครื่องบิน คนมีเงินอย่างเขาทำได้ทั้งนั้น ทำไมต้องเลือกทางที่ลำบาก คือ มันขาดเหตุผลสนับสนุน จากนั้นตอนจึงได้ร่วมสอบปากคำนายสันติภาพ โดยตนพยายามไล่ลำดับเหตุการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้น ทั้งเกลี้ยกล่อม พยายามเอาน้ำเย็นเข้าลูบ มีทั้งปลอบทั้งขู่ ซึ่งเขาก็เริ่มสารภาพ” นายสุวัตรกล่าว
นายสุวัตรกล่าวต่อไปว่า สำหรับคดีนี้คนร้ายที่ก่อเหตุมีการวางแผนมาเป็นอย่างดีเห็นได้จากการถอดฮาร์ดดิสก์กล้องวงจรปิดที่บ้าน การนำรถของนายเอกยุทธไปล้างอย่างละเอียดในราคา 4,900 บาท และการฝังศพในสภาพเปลือย ทั้งนี้ก็เพื่อเจตนาทำลายหลักฐานทั้งหมด แต่คดีนี้ตำรวจทำงานหละหลวมมาก และมีความพยายามทำคดีให้ช้า จึงทำให้ตนต้องตั้งประเด็นข้อสงสัย 13 ข้อ ซึ่งคดีนี้ ร.ต.อ.เฉลิม ออกมาพูดในวันแรกเลยว่าคดีนี้ไม่มีอะไร เป็นแค่เรื่องชิงทรัพย์เท่านั้น ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า คนร้ายอุ้มนายเอกยุทธไป แล้วบังคับให้เซ็นเช็ค นี่หรือเป็นการชิงทรัพย์ นอกจากนี้ นายเอกยุทธไม่มีเรื่องชู้สาว ส่วนเรื่องธุรกิจเกี่ยวกับแชร์ชาร์เตอร์ ซึ่งเป็นเรื่องกว่า 30 ปีมาแล้ว จึงไม่น่าเป็นไปได้ ตนสรุปในใจว่าคนร้ายเจตนาต้องการชีวิตนายเอกยุทธ
นายสุวัตรกล่าวว่า ก่อนหน้านี้นายเอกยุทธได้มาพบตนให้เป็นทนายยื่นฟ้องนายตำรวจ ได้แก่ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ และพวก ในคดีทำร้ายร่างกายที่ร้านคาราโอเกะซิตี้ นอกจากนี้ยังเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นก็ได้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2547 เมื่อมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน นายเอกยุทธก็ไปพบเหตุการณ์ว.5 โฟร์ซีซั่นส์ จนถูกตำรวจทำร้ายร่างกาย นอกจากนี้ นายเอกยุทธยังได้พูดกับตนลักษณะเหมือนสั่งเสียว่า ถ้าหากตนตายไม่มีเรื่องอื่นมีแต่เรื่องนี้เรื่องเดียว ซึ่งตนขอไล่ลำดับเหตุการณ์ ดังนี้ วันที่ 1 มิ.ย. นายเอกยุทธโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำแตกที่มัลดีฟส์ วันที่ 3 มิ.ย.ต้องไปไต่สวนมูลฟ้องคดีที่ฟ้อง พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กับพวกรวม 9 คน วันที่ 5 มิ.ย.ถูกพนักงานสอบสวน สน.พหลโยธิน ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากนายตำรวจที่นายเอกยุทธฟ้อง ได้แจ้งความกลับกล่าวหาว่าฟ้องเท็จ แต่ตนได้ไปพบพนักงานสอบสวนแทน และวันที่ 6 มิ.ย. นายเอกยุทธถูกอุ้ม
“ผมไม่มีหลักฐานหรอกครับว่าตำรวจ หรือทหารอุ้ม แต่บนสมมติฐานที่ลูกความสั่งเสียไว้ก่อนตายว่าอย่างนี้ จึงต้องสงสัยไว้ก่อน เมื่อสงสัยแล้วจึงต้องแสวงหาความจริง ผมใช้วิชาชีพทนายความ โดยไม่ปรักปรำใครขณะนี้ จึงได้เสนอข้อสงสัย 13 ข้อกับตำรวจ หากสามารถตอบข้อสงสัยผมได้ ว่าเหตุใดหากประสงค์ต่อทรัพย์เหตุใดเอาทรัพย์ อย่างนาฬิกาโรเล็กซ์ พระสมเด็จเกศไชโยไปโยนน้ำ ซึ่งหากไม่รอบคอบเมื่อไปถึงศาล แม้ผู้ต้องหาจะสารภาพแล้ว ศาลอาจไม่ลงโทษก็ได้” นายสุวัตรกล่าว และว่าโดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าลำพังแค่นายสันติภาพจะสามารถวางแผนทำลายหลักฐานได้ขนาดนี้ ซึ่งผู้ที่จะคิดได้ขนาดนี้ต้องเป็นพนักงานสอบสวน หรือรู้วิธีการสืบสวนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ ยืนยันว่าการอุ้มฆ่ามีอยู่จริง โดยเฉพาะในรัฐบาลชุดนี้มากที่สุด และถ้าปล่อยให้ใช้อำนาจรัฐอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนจะไม่มี เพราะฉะนั้นจะริเริ่มทำอะไรก็ทำกัน เพื่อให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
ด้านนางอังคณากล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมาตนได้มีโอกาสวิจัยผลงานเรื่องบังคับบุคคลให้สูญหายภายในประเทศ โดยในงานวิจัยนี้ได้จัดทำเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลบุคคลที่หาย ซึ่งพบว่าสาเหตุสำคัญของการบังคับให้สูญหายเกิดจากนโยบายของรัฐที่สำคัญ 2 ประการ ประการแรก นโยบายปราบปรามยาเสพติด และนโยบายปราบปรามอาชญากรรมทางภาคใต้ ซึ่งทั้ง 2 นโยบายพบว่ามีการอุ้มฆ่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งเรื่องนี้ได้เชื่อมโยงโดยตรงมายังการถูกอุ้มของทนายสมชาย เมื่อปี 2547 มีตำรวจกลุ่มหนึ่งลงไปทำงานที่ชายแดนภาคใต้ และได้จับกุมผู้ต้องหาในคดีปล้นปืนจำนวน 5 คน ต่อมา ได้นำตัวมาที่กองปราบ ทางทนายสมชาย ได้ไปพบกับผู้ต้องหา ซึ่งผู้ต้องหาให้การรับสารภาพว่า โดนถูกทำร้ายร่างกายเพื่อให้ยอมรับสารภาพ ทนายสมชายจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษย์ชนการให้ความเป็นธรรม เช่น รัฐสภา สภาวุฒิสภา ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
นางอังคณากล่าวต่ออีกว่า ทนายสมชายได้ทำหนังสือร้องเรียนเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2547 และวันที่ 12 มี.ค. 2547 เวลา 20.00 น. ได้ถูกอุ้มขึ้นรถไปหายตัวไปจนถึงทุกวันนี้ เนื่องด้วยสาเหตุการอุ้มทนายสมชาย มีปัญหากับเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อต้านนโยบายรัฐ และการล่ารายชื่อยกเลิกกฎอัยการศึก ในยุคนั้น ซึ่งตำรวจกลุ่มดังกล่าวนี้มีบางคนที่มีรายชื่อในการเข้ามาดูแลในคดีของนายเอกยุทธ
ด้าน พ.ต.ท.สันธนะกล่าวว่า ในกรณีของคุณเอกยุทธ ที่ผ่านมาพบถึงความผิดแปลกของคดี ซึ่งเมื่อย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่ผ่านมา คำกล่าวหาการอุ้มฆ่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเรื่องจริงแต่ด้วยวัตถุประสงค์ และเหตุผลปัจจัยที่แตกต่างกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวจะทำกับคนร้าย แต่ในปัจจุบันการอุ้มฆ่าเปลี่ยนไปโดยกระทำกับบุคคลที่ขัดผลประโยชน์จากกลุ่มที่มีอิทธิพลเป็นองค์กร คือ อุ้มเอง ฆ่าเอง ซ้อมเอง จำกัด บริษัทแห่งนี้จดทะเบียนรับรองที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ขณะที่นายสุริยันต์กล่าวว่า พ.ต.ทักษิณถือเป็นสัญลักษณ์ของอาชญากรรมข้ามชาติ ตอนนี้มีการพัฒนาจากการอุ้มฆ่าทั่วไป เป็นสู่การคอร์รัปชัน โดยเงินที่มาจากการคอร์รัปชันนั้นจะเป็นต้นทุนของการก่ออาชญากรรม ทั้งนี้ ตนขอเสนอทางออกโดยการให้มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นจากรัฐสภา และให้ประชาชนตระหนักถึงเรื่องการคอร์รัปชัน ส่วนกรณีที่มีเหตุอุ้มฆ่า หรือฆ่าตัดตอน ตนอยากให้รัฐมีการเยียวยา