ดีเอสไอสรุปสำนวนฟ้อง “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์” และพวก อนุมัติต่อ สัญญารถไฟฟ้าบีทีเอสโดยไม่มีอำนาจ ส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ โดยนัดมาฟังคำสั่ง 28 มิ.ย.นี้
ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (11 มิ.ย.) พ.ต.ท.ถวัล มั่งคั่ง หัวหน้าคณะทำงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้นำสำนวนการสอบสวน และพยานหลักฐาน จำนวน 5,874 แผ่น 17 แฟ้ม 3 ลัง พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง คดี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 9 คน และอีก 1 นิติบุคคล คดีการต่อสัญญาเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต่อขยายออกไปอีก 13 ปี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มาส่งมอบให้นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาสั่ง ในความผิดข้อหา ร่วมกันประกอบกิจการค้าขายอันเป็นสาธารณูปโภค (กิจการรางรถไฟ) โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือได้รับสัมปทานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อันเป็นความผิดตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2515 ข้อ 4 และข้อ 16 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84 และมาตรา 86
พ.ต.ท.ถวัลเปิดเผยว่า ตามที่นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย อดีตรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ได้ยื่นหนังสือให้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ดำเนินคดี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กับพวกรวม 11 คน และนิติบุคคล 2 รายนั้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องผู้ต้องหารวม 9 คน กับนิติบุคคล 1 ราย ประกอบด้วย นายธนา วิชัยสาร ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ผู้ต้องหาที่ 1 นายเจริญรัตน์ ชูติกาญจน์ อดีตปลัด กทม.ผู้ต้องหาที่ 2 นายธีระชน มโนมัยพิบูลย์ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ผู้ต้องหาที่ 3 นางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัด กทม.ผู้ต้องหาที่ 4 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ผู้ต้องหาที่ 5 นายประพันธ์พงศ์ เวชชาชีวะ ประธานคณะกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ต้องหาที่ 6 นายอมร กิจเชวงกุล กรรมการผู้อำนวยการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ต้องหาที่ 7 บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ผู้ต้องหาที่ 10 นายกฤษณ์ เกียรติพนชาติ อดีต ผอ.กองการขนส่ง สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ผู้ต้องหาที่ 12 และนายจุมพล สำเภาพล อดีต ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ผู้ต้องหาที่ 13
พ.ต.ท.ถวัลกล่าวต่อว่า ส่วนที่มีความเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้อง มี บุคคล 2 ราย และนิติบุคคล 1 ราย ประกอบด้วย นายคีรี กาญจนพาสน์ กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพจำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 8 นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้มีอำนาจ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 9 และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ต้องหาที่ 11 เนื่องจากการสอบสวนพบว่า เป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการรถรางมาก่อน ตามสัญญาสัมปทานเดิม และยังมีผลบังคับอยู่จนถึง พ.ศ. 2572 แต่ กทม.ได้มีหนังสือเชิญชวนให้ผู้ต้องหาที่ 11 เข้ามาเป็นคู่สัญญาอย่างเปิดเผย โปร่งใส ไม่ได้กระทำโดยลำพัง หรือ พละการแต่อย่างใด โดยปกติวิสัยจึงไม่อาจทราบได้ว่า กทม.จะมีอำนาจดำเนินการในเรื่องนี้ตามกฎหมายหรือไม่ กรณีจึงฟังได้ว่าการเข้ามาเป็นคู่สัญญา เกิดจากความสำคัญผิดในข้อเท็จจริง หรือเข้าใจโดยสุจริตว่า การที่ กทม.ได้ดำเนินการทุกประการอย่างถูกต้องแล้ว เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของราชการหรือที่กำหนดไว้ในขอบเขตของงาน หรือที่กำหนดไว้ในทีโออาร์ ที่อ้างว่าได้กระทำโดยชอบแล้ว แม้จะเป็นความผิดในส่วนเอกชน ก็ไม่อาจทราบหรือรู้ได้อย่างแน่แท้ อีก ทั้งไม่มีข้อเท็จจริงว่า กระทำโดยทุจริตประการอื่น เห็นว่าขาดเจตนาในการร่วมกระทำผิด จึงเห็นสมควรสั่งไม่ฟ้องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคดีนี้อัตราโทษไม่สูง แต่ผู้ต้องหากระทำผิดต่างกรรมต่างวาระหลายครั้ง เพราะมีการสัมปทานก่อสร้างส่วนต่อขยาย รถไฟฟ้าบีทีเอสอีกหลายเส้นทาง เช่น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ตามสำนวนกระทำผิดรวม 3 กรรม
นายวินัย ดำรงค์มงคลกุล อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ กล่าวว่า หลังจากดีเอสไอนำสำนวนคดีดังกล่าวมาส่งให้พนักงานอัยการแล้ว ทางอัยการได้นัดผู้ต้องหาทั้งหมดมาพบในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น.เพื่อนัดฟังการสั่งคดีว่าจะมีความเห็นเป็นอย่างไร อีกทั้งผู้ต้องหาได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ระหว่างนี้อัยการจะต้องพิจารณาข้อมูลทั้งหมด รวมทั้งหนังสือขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาด้วย อย่างไรก็ดี คดีนี้อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ซึ่งหากอัยการมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ก็จะต้องนำตัวผู้ต้องหาส่งศาลแขวงพระนครเหนือ ภายในวันที่ 28 มิ.ย.นี้ แต่หากยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จก็จะต้องยื่นคำร้องผัดฟ้องต่อศาล ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง (ฉบับที่ 6 พ.ศ. 2556) ซึ่งเป็นกฎหมายที่เพิ่งบังคับใช้ โดยจะสามารถผัดฟ้องได้ 3 ครั้ง ครั้งละ 6 วัน รวมไม่เกิน 18 วัน ทั้งนี้หากครบกำหนดฝากขังแล้ว ยังพิจารณาสำนวนไม่แล้วเสร็จ แล้วภายหลังเมื่ออัยการมีความเห็นจะสั่งฟ้อง ก็ต้องขออนุญาตนายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุดในการฟ้องคดี ส่วนผู้ต้องหาที่ดีเอสไอมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องจำนวน 3 รายนั้น หากภายหลังอัยการพิจารณาหลักฐานและมีความเห็นสั่งฟ้อง ดีเอสไอต้องนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 3 รายมาส่งมอบให้อัยการเพื่อยื่นฟ้อง แต่ถ้าอัยการพิจารณาแล้วมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง เหมือนพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ก็จะส่งความเห็นกลับไปให้นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ และหากอธิบดีเอสไอ เห็นชอบตามนั้น คำสั่งไม่ฟ้องจึงถือเป็นที่สุด
ด้าน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวว่า คดีนี้เราได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการ เนื่องจากทางดีเอสไอไม่ได้รับฟังพยานหลักฐานและเหตุผลบางอย่างที่ กทม.ส่งมอบให้ โดยทางดีเอสไอได้พิจารณาแค่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 พ.ศ. 2515 เท่านั้น โดยพวกตนอยากให้อัยการพิจารณาหลักฐานและเหตุผลให้ครบถ้วนตามที่พวกตนร้องขอความเป็นธรรมด้วย รวมทั้งขอให้ตรวจสอบและพิจารณาหลักฐานด้วยความยุติธรรมและเที่ยงธรรม ทั้งนี้ที่ผ่านมาพวกตนได้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบเป็นอย่างดี หลังจากนี้ตนก็จะกลับไปทำหน้าที่ในฐานะ ผู้ว่าฯ กทม.ต่อไป โดยไม่อยากเสียเวลาในเรื่องนี้มากนัก