xs
xsm
sm
md
lg

“ถวิล เปลี่ยนศรี” เบิกความคดี นปช.ก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.
“ถวิล เปลี่ยนศรี” เบิกความคดีก่อการร้าย ชี้หลัง นปช.ยุติการชุมนุม เมื่อปี 2553 ก็เกิดความวุ่นวาย จลาจล ทั้งเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ตึกมาลีนนท์ และศาลากลางหลายจังหวัด

วันนี้ (6 มิ.ย.) ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ ที่ 2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระ หรือวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ แห่งชาติ หรือ นปช. กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 20 พ.ค. 2553 ต่อเนื่องกัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา

โดยวันนี้ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พยานโจทก์ เบิกความต่อจากครั้งที่แล้วว่า ภายหลังกลุ่ม นปช.ได้ย้ายไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์และยุบเวทีปราศรัยที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2553 ระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งจาก ศอฉ.ให้ปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์ ซึ่งศาลแพ่งเคยมีคำสั่งว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมีการตั้งด่านสกัดกั้นการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ทั้ง 4 ด้าน คือ ทางทิศ เหนือ ใต้ ตะวันออกและตะวันตก แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งด่านสกัดกั้นอยู่ใกล้กับกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.เพราะเกรงจะเป็นเหตุให้มีการปะทะกันได้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารได้รับคำสั่งเพียงแค่ตั้งด่านปิดล้อมอยู่กับที่เพื่อป้องกันไม่ให้คนภายนอกเข้าไปร่วมชุมนุมเพิ่มเติม แต่หากผู้ชุมนุมประสงค์จะออกจากพื้นที่ชุมนุมก็สามารถกระทำได้

นายถวิลกล่าวต่อว่า เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 2553 ช่วงหัวค่ำเวลาประมาณ 1 ทุ่มเศษ จนกระทั่งเที่ยงคืน ได้เกิดเหตุการณ์คนร้ายยิงระเบิดเอ็ม79 ไปยังบริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสย่านสีลม จำนวน 5 นัด ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บประมาณ 80 คน เจ้าหน้าที่ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์บินวนและส่องไฟเหนือบริเวณสวนลุมพินี เพื่อกดดันไม่ให้มีการยิงอาวุธมาจากพื้นที่บริเวณสวนลุมพินี นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์นายขวัญชัย ไพรพนา แกนนำ นปช.นำผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนไปยังบริเวณตลาดไท เพื่อไปรับผู้ชุมนุมจากต่างจังหวัดที่จะเข้ามาสมทบกับผู้ชุมนุมที่แยกราชประสงค์ แต่ถูกเจ้าหน้าที่สกัดกั้นไว้ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ย่านดอนเมือง ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ถูกยิงเสียชีวิต 1 ราย

นายถวิลเบิกความต่อว่า ระหว่างนั้นทางรัฐบาลได้ส่งตัวแทนคือนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ อดีตรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เจรจากับทางแกนนำ นปช.จำนวน 2 ครั้ง แต่ไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เสนอเงื่อนไขต่อกลุ่ม นปช.รวม 5 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นคือรัฐบาลจะประกาศยุบสภาในช่วงปลายปี 2553 แต่เงื่อนไขของแกนนำ นปช.คือ ต้องการให้ยุบสภาทันที

ในช่วงที่เจ้าหน้าที่ปิดล้อมพื้นที่การชุมนุมที่แยกราชประสงค์นั้น ตามรายงานข่าวระบุว่า ในเวลากลางคืนจะมีกลุ่มคนใช้อาวุธเข้ามาโจมตีเจ้าหน้าที่ทหารที่ตั้งด่านอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารจะโดนกดดันทั้งจากกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเจ้าหน้าที่ปิดล้อมอยู่และจากกลุ่มบุคคลที่ใช้อาวุธโจมตีจากด้านนอกประสานกัน เรียกว่าโดนแบบแซนด์วิช จากการปะทะกันทำให้มีผู้เสียชีวิต

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2553 ศอฉ.จึงมีคำสั่งให้ปฏิบัติการกระชับพื้นที่ สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการเข้ากระชับพื้นที่ เพราะการเจรจาไม่ได้ข้อยุติ การชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งในกลุ่มผู้ชุมนุมมีผู้ใช้อาวุธแฝงอยู่ มีการโจมตีทหารและสถานที่สำคัญต่างๆ ทำให้ชาวบ้านและทหารเสียชีวิต จึงต้องการกดดันกลุ่มผู้ใช้อาวุธหยุดปฏิบัติการดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่เลือกที่จะเคลื่อนกำลังจากแยกศาลาแดง ไปยังพื้นที่การชุมนุมบริเวณสวนลุมพินี เพราะเป็นจุดซึ่งถูกคนร้ายใช้อาวุธยิงบ่อยครั้งมากที่สุด ต่อมาเวลาประมาณ 11 โมงเศษ แกนนำนปช.จึงประกาศยุติการการชุมนุมที่บริเวณแยกราชประสงค์ โดยมีแกนนำบางส่วนได้เข้ามามอบตัว อาทิ เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ภายหลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้ว แต่ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยกับแกนนำ นปช.ที่สั่งให้ยุติการชุมนุม จึงเกิดเหตุความวุ่นวายตามมา เช่น มีการเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ห้างสรรพสินค้าเซ็น, โรงภาพยนตร์สยาม, ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน, ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ, สำนักงาน ป.ป.ส. ดินแดง, อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, อาคารมาลีนนท์ (สถานีโทรทัศน์สี ช่อง 3) และศาลากลาง จ.อุดรธานี, ขอนแก่น, อุบลราชธานี และมุกดาหาร และอื่นๆ รวมทั้งหมด 37 แห่ง ซึ่งเหตุการณ์ความวุ่นวายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดมีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่แยกราชประสงค์จะมีถ่ายทอดผ่านสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ไปยังผู้ชุมนุมที่อยู่ต่างจังหวัดด้วย อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเกิดเหตุความวุ่นวายขึ้นนั้น ทางแกนนำ นปช.เคยกล่าวปราศรัยยุยงกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงในหลายครั้ง เชื่อว่าเพื่อต้องการต่อรองกับเจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้ามาสลายการชุมนุมกลุ่ม นปช. เช่น นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เคยปราศรัยทำนองว่า ให้ผู้ชุมนุมนำขวดมาคนละใบ ขนาด 1 ลิตร มาเติมน้ำมันเอาข้างหน้า 1 ล้านคนก็ 1 ล้านลิตร และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เคยปราศรัยทำนองว่าคนเสื้อแดงตกใจง่าย หากตกใจก็ให้เข้าไปในศูนย์การค้าโดยรอบ ส่วนนายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็เคยกล่าวทำนองว่า ถ้าเกิดเหตุการณ์กับพี่น้องที่ กทม. ก็ให้คนเสื้อแดงต่างจังหวัดรับฟังสัญญาณจากกรุงเทพฯ ถ้าจอมืดแสดงว่าถูกเจ้าหน้าที่ปราบปราม ให้ดำเนินการทันที

ทั้งนี้ ภายหลังเบิกความในช่วงเช้าเสร็จแล้ว ศาลจึงได้นัดสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไป วันที่ 13 มิ.ย.เวลา 10.00 น.

ภายหลังนายถวิลได้กล่าวสั้นๆ กรณี พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้เนื่องจากอยู่คนละฝ่ายว่า ตนไม่ขอพูดอะไร เพราะว่าเคารพท่าน
นายถวิล เปลี่ยนสี อดีตเลขาฯ สมช. เดินทางมาเบิกความ


กำลังโหลดความคิดเห็น