xs
xsm
sm
md
lg

“ถวิล เปลี่ยนศรี” เบิกความเป็นพยานโจทก์คดีก่อการร้าย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาฯสมช.
“ถวิล เปลี่ยนศรี” อดีตเลขาฯ สมช. เบิกความเป็นพยานโจทก์คดีก่อการร้าย ด้าน “ณัฐวุฒิ” เผยดีใจศาลปล่อยตัว “ก่อแก้ว” พร้อมเหน็บกรณีศาลตัดสิทธิการเมือง 5 ปี “เก่ง การุณ” ชี้ช่วงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ใส่ร้ายกันรุนแรงรอดู กกต.จะจัดการอย่างไร

ที่ห้องพิจารณาคดี 704 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (10 พ.ค.) ศาลนัดสืบพยานโจทก์ คดีหมายเลขดำ ที่ 2542/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. กับพวกรวม 24 คน เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เหตุเกิดระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค. 2553 ต่อเนื่องกัน เพื่อกดดันให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา

โดยวันนี้ นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พยานโจทก์ เบิกความเป็นนัดที่ 2 สรุปว่า หลังจากเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย. 2549 การเคลื่อนไหวของกลุ่มเสื้อแดงมีชื่อเรียกว่ากลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ภายหลังมีกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งมีแกนนำหลักอยู่ 4 คน คือ นายวีระ มุสิกพงศ์, นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายก่อแก้ว พิกุลทอง โดยการเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดงเกิดขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวในสภาฯ ของพรรคพลังประชาชน โดยการเคลื่อนไหวรุนแรงมากขึ้นช่วงเดือน ม.ค. 2552 ซึ่งขณะนั้นมีการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง โดยบางส่วนของพรรคพลังประชาชนได้ย้ายไปตั้งพรรคใหม่ คือ พรรคภูมิใจไทย และได้โหวตเลือกนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล หลังจากนั้นกลุ่มเสื้อแดงออกมาชุมนุม โดยให้เหตุผลอ้างว่าเป็นการต่อต้านรัฐประหาร อ้างว่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้อำนาจมาโดยไม่ถูกต้อง จากการช่วยเหลือของคนชั้นสูงของสังคม เชื่อว่าการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย มีสองมาตรฐาน ถึงขนาดกล่าวหาว่ามีการจัดตั้งรัฐบาลกันในค่ายทหาร และผู้ที่ถูกโจมตีมากที่สุดคือ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ

อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวต่อว่า เมื่อต้นเดือน เม.ย. 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำอาเซียนที่เมืองพัทยา ซึ่งแกนนำ นปช.ได้นำมวลชนเสื้อแดงได้ปิดล้อมขบวนรถ ช่วงที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เดินทางไปเป็นประธานเปิดการประชุม ต่อมานายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำนปช.ก็ได้นำมวลชนบุกเข้าไปในโรงแรมเพื่อล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมืองพัทยา โดยผู้นำของประเทศสมาชิกต้องหลบหนีออกจากโรงแรมกันจ้าละหวั่น ปรากฏเป็นข่าวอย่างครึกโครม และต่อมาประมาณวันที่ 10-11 เม.ย. 2552 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 โดยมีกลุ่มคนเสื้อแดงบุกเข้าไปในกระทรวงมหาดไทย นำโดยนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รวมทั้งมีการทุบรถยนต์ที่เข้าใจผิดว่ามีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีนั่งอยู่ภายใน นอกจากนี้ยังมีการเคลื่อนขบวน โดยมีมวลชนและยานพาหนะจำนวนมากไปปิดถนนสายหลัก และปิดสี่แยกต่างๆ เช่นแยกอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกพญาไท ส่งผลให้การจราจรติดขัดและประชาชนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ อีกทั้งกระทบกับผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลราชวิถีและโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าฯ จากนั้นวันที่12-13 เม.ย. 2552 ซึ่งเป็นช่วงสงกรานต์ กลุ่มนปช.ได้เคลื่อนขบวนไปปิดที่สามเหลี่ยมดินแดง ต่อเนื่องถึงย่านห้วยขวาง แฟลตดินแดง โดยมีการเผารถโดยสารประจำทางหลายสิบคัน มีการนำยางรถยนต์มาเผา รวมทั้งนำรถบรรทุกแก๊ส มาจอดไว้ที่หน้าแฟรตดินแดง และขู่จะทำการระเบิดรถบรรทุกแก๊ส อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ทหารสามารถสลายการชุมนุมได้ในวันที่ 13 เม.ย. 2552 โดยไม่มีผู้เสียชีวิต ต่อมาแกนนำนปช.ได้ประกาศยุติการชุมนุมในวันที่ 14 เม.ย. 2552 อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าวกลุ่ม นปช.ได้อ้างว่ามีคนเสื้อแดงเสียชีวิต และถูกนำศพไปเผาทำลาย แต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความจริงได้

อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นทางแกนนำกลุ่ม นปช.ได้มีการสรุปบทเรียนที่ทำให้การชุมนุมไม่ประสบความสำเร็จ และปรับการจัดองค์กรเสียใหม่ โดยให้มีการฝึกการ์ด นปช. ฝึกผู้ปฏิบัติงาน นปช. ตั้งโรงเรียนเสื้อแดง และทางการข่าวเชื่อว่ามีการฝึกอาวุธให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งการปรับองค์กรดังกล่าวทำให้กลุ่ม นปช.มีความเข้มแข็งขึ้นอีกระดับหนึ่ง และตั้งแต่เดือน เม.ย.ถึงปลายปี 2552 เป็นช่วงของการตระเตรียมความพร้อม เพื่อจะชุมนุมเคลื่อนไหวต่อในปี 2553 ต่อมาจึงเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 โดยเฉพาะเหตุการณ์ปะทะกันที่แยกคอกวัว และที่แยกราชประสงค์ ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 2 ปี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ และคดียึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท การชุมนุมของกลุ่มนปช. ก็มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ซึ่งภายหลังสืบพยานเสร็จแล้ว ศาลได้นัดสืบพยานอีกครั้งในวันที่ 16 พ.ค.นี้

ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ หนึ่งในจำเลยคดีก่อการร้าย กล่าวถึงกรณีศาลให้ประกันตัวนายก่อแก้ว พิกุลทอง ว่าขอบคุณศาลที่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนายก่อแก้ว พิกุลทอง และยืนยันอีกว่านายก่อแก้วไม่ใช่คนก้าวร้าว เป็นคนมีเหตุผล นายณัฐวุฒิยังได้กล่าวถึงกรณีที่ศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้งมีคำพิพากษาเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง 5 ปี และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่จากกรณีปราศรัยโจมตีนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัคร ส.ส.เขตดอนเมือง พรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งว่า รู้สึกเสียใจที่ศาลมีคำพิพากษาแบบนั้น แต่ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาและชะตากรรมของกลุ่ม นปช.ซึ่งต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างที่เข้ามาจะทำให้พวกเราเข้มแข็งขึ้น แต่โดยส่วนตัวแล้วตนมองว่าเนื้อหาถ้อยคำที่นายการุณพูดไม่ได้มีความรุนแรงถึงขนาดที่จะเป็นการใส่ร้ายป้ายสี หากเทียบกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีการปราศรัยใส่ร้ายรุนแรง ทั้งภาพตัดต่อโจมตีกัน ก็ต้องดูว่า กกต.จะมีการพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไรแต่กรณีนายการุณเมื่อศาลวินิจฉัยออกมาแล้วก็ต้องยอมรับ
กำลังโหลดความคิดเห็น