กลายเป็นข่าวคราวที่เขย่าขวัญคนกรุงในรอบสัปดาห์ หลังช่วงค่ำของวันที่ 26 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณถังขยะภายในซอยรามคำแหง 43/1 ย่านรามคำแหง เป็นเหตุให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทันที 7 ราย แผงค้าขายของผู้ค้าบริเวณดังกล่าวได้รับความเสียหายกว่า 10 แผง เศษชิ้นส่วนและสะเก็ดระเบิดกระจายเกลื่อนทั่วบริเวณ
จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้ หรืออีโอดี ทราบว่าระเบิดที่คนร้ายใช้ก่อเหตุในครั้งนี้ เป็นระเบิดชนิดแสวงเครื่องแรงดันต่ำ ใช้ตะปูเป็นสะเก็ดระเบิด ขณะเดียวกันเชื่อว่าคนร้ายไม่ประสงค์ให้เกิดการสูญเสีย โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด ระบุว่าการประกอบระเบิดแบบที่ใช้ก่อเหตุครั้งนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ เพียงแต่สนใจเรียนรู้ก็สามารถทำขึ้นมาได้ อีกทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ก็สามารถหาซื้อได้ทั่วไป
หลังเกิดเหตุนายตำรวจทุกนายที่เกี่ยวข้องไล่ตั้งแต่หัวแถวอย่าง “บิ๊กอู๋” พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น.ต่างออกมาประสานเสียง ย้ำกันชัดๆ ว่า กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะจากการตรวจสอบวิธีการประกอบระเบิด หรือวงจรระเบิดเป็นคนละแบบกัน ซึ่งการออกมาให้ข่าวของบิ๊กตำรวจดังกล่าวเป็นการสยบข่าวลือไม่ให้มีการนำเหตุการณ์ที่เกิดไปเชื่อมโยงกับความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกนัยหนึ่งเพื่อเป็นการยืนยันว่าเหตุรุนแรงที่ปลายด้ามขวานยังไม่ลุกลามมาถึงใจกลางของประเทศ เพราะหากเป็นเช่นนั้นภาพลักษณ์ของประเทศย่อมได้รับความเสียหาย และแน่นอนว่าการท่องเที่ยวจะถูกทำลายอย่างยับเยิน
ทั้งนี้ หลังเกิดเหตุ ผบ.ตร.ได้นั่งหัวโต๊ะ เรียกนายตำรวจที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อวางแนวทางการสืบสวน สั่งตรวจสอบกล้องวงจรปิดในทุกจุด แต่กระนั้นก็ยังไม่สามารถหากล้องวงจรปิดที่จับภาพผู้ต้องสงสัยได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังสั่งการให้ตำรวจนครบาลระดมกำลัง พร้อมสุนัขดมกลิ่นและชุดอีโอดีออกตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงทั่ว กทม.พร้อมเพิ่มความเข้มในการดูแลบุคคลสำคัญ การรักษาความปลอดภัยสถานที่เชิงสัญลักษณ์ต่างๆ
อย่างไรก็ตามในส่วนการสืบสวนได้ตั้งประเด็นการก่อเหตุไว้หลายประเด็น ก่อนที่จะมีการขมวดจนเหลือ 2 ประเด็นหลัก คือ ความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์เกี่ยวกับการเช่าแผงค้า และกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีสร้างสถานการณ์ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
สำหรับประเด็นเรื่องของความขัดแย้งเรื่องประโยชน์แผงค้า ซึ่งในชั้นแรกตำรวจเองก็พุ่งเป้าไปที่ประเด็นนี้มากที่สุด เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าย่านดังกล่าวเป็นทำเลการค้าสำคัญ เพราะมีผู้คนพลุกพล่าน เป็นสวรรค์ของเหล่าบรรดาหาบเร่แผงลอย และที่สำคัญมีกลุ่มมาเฟียที่คอยฉกฉวยผลประโยชน์จากการจัดการแผงค้าเหล่านี้ เมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง การกระทบกระทั่งกันจึงสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่จะถึงขั้นลงมือวางระเบิดข่มขวัญกันเลยหรือไม่ เป็นโจทย์ใหญ่ที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนจะต้องวิเคราะห์ให้ชัดแจ้ง
อีกประเด็นที่ถูกวางไว้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนเองก็ให้น้ำหนักไม่แพ้ ประเด็นแรก คือเรื่องกลุ่มผู้ไม่ประสงค์ดีที่สร้างสถานการณ์ป่วนเมือง เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าบ้านเมืองเราในช่วงหลายปีมานี้ ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 19 ก.ย.2549 เป็นต้นมา มีการแบ่งสี แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และมีการต่อสู้ทางการเมืองอย่างเข้มข้น ประจวบเหมาะกับเหตุการณ์ปัจจุบันที่มีความพยายามของกลุ่มคนที่ภักดีต่อระบอบทักษิณ ซึ่งไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นกลุ่มนักการเมืองซีกรัฐบาล โดยเฉพาะ “เป็ดเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี พยายามที่จะยื่นร่างกฎหมายปรองดอง โดยมีเป้าหมายเพื่อนิรโทษกรรม ฟอกความผิดให้กับนายใหญ่ และพากลับบ้านอย่างเท่ๆ อย่างที่เจ้าตัวเคยเปรยไว้ในทุกโอกาส ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลเองก็กล้าๆ กลัวๆ ในการผลักดันเรื่องนี้ มีการโยนหินถามทางอยู่บ่อยครั้ง เพราะทราบดีว่าเรื่องนี้จะจุดชนวนความขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นมา
นอกจากนี้หากวิเคราะห์จากเหตุการณ์ในอดีตพื้นที่ กทม.เคยเป็นแดนมิกสัญญีที่มีการก่อเหตุระเบิดป่วนเมือง โดยเฉพาะในช่วงปี 2553 ที่มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช.เรียกได้ว่ามีเหตุระเบิดไม่เว้นแต่ละวัน ที่สำคัญเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นมักจะสอดรับกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นในช่วงนั้นๆ ซึ่งกรณีระเบิดครั้งนี้ชุดสืบสวนได้มีการนำแผนประทุษกรรมและวิธีการประกอบระเบิดของคนร้ายไปเปรียบเทียบกับเหตุระเบิดป่วนกรุงครั้งที่ผ่านมา รวมถึงกรณีโยนประทัดยักษ์หน้าที่ทำการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าไม่ตรงกัน แต่กระนั้นประเด็นการสร้างสถานการณ์ก็ยังคงเป็นประเด็นที่ตำรวจให้น้ำหนักไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าประเด็นแรก และจากถ้อยแถลงของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ทำคดีนี้ในระยะหลังเริ่มยอมรับว่าตำรวจได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการสร้างสถานการณ์มากกว่าประเด็นแรก แต่ยังปฏิเสธความเชื่อมโยงกับเรื่องการเมือง เพราะอย่างที่ทราบจุดที่เกิดเหตุไม่ใช่สถานที่ที่เป็นสัญลักษณ์ทางการเมือง
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา โดยเฉพาะแวดวงสีกากีก็มีกระแสข่าวว่าครั้งนี้นอกจะเป็นการสร้างสถานการณ์ป่วนเมืองแล้ว ยังอาจเป็นระเบิดเก้าอี้ผู้นำองค์กรสีกากี เพราะอย่างที่ทราบว่าเมื่อมีเหตุการณ์ลักษณะนี้ แต่จับมือใครดมไม่ได้ อาจเป็นข้ออ้างให้ฝ่ายการเมืองใช้เป็นเหตุผลในการปลด ผบ.ตร.ที่ฝ่ายการเมืองไม่ปลื้ม แต่เรื่องนี้ก็เป็นแค่กระแสข่าวที่มีการพูดกันไป ซึ่งมีน้ำหนักน้อย เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่า พล.ต.อ.อดุลย์ นั้นยังทำงานได้ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล
นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับกระแสข่าวการปรับ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.พ้นจากตำแหน่ง แม้ว่ารัฐบาลเองจะออกมาปฏิเสธเรื่องนี้แล้ว เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุลักษณะนี้ ทหารมักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกจับตามอง แต่กระนั้นในระเบิดป่วนกรุงหลายๆ ครั้ง ที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีพยานหลักฐานอะไรที่ยืนยันว่าทหารมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
จากเหตุระเบิดที่เกิดขึ้นเป็นเสมือนสัญญาณที่บ่งชี้ว่า จุดเริ่มต้นความวุ่นวายระลอกใหม่กำลังจะปะทุขึ้น? เหตุระเบิดป่วนกรุงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกำลังจะกลับมา? นี่คือคำถามที่รอคำตอบ ซึ่งต้องเอาใจช่วยตำรวจให้เร่งสืบสวนหาตัวมือมืด ที่ก่อเหตุให้ได้โดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อไขข้อข้องใจทั้งหมด และเพื่อให้คนกรุงไม่ต้องขวัญผวา และสามารถนอนหลับได้เต็มตื่นเสียที