xs
xsm
sm
md
lg

ดับไฟมืด 14 จังหวัดแดนใต้ สัญญาณวิกฤตพลังงานหรือการเมือง??

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุการณ์ดับไฟใต้เมื่อคืนวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา คงทำเอาคนไทยขวัญผวาไม่น้อย เมื่อ 14 จังหวัดปลายด้ามขวานต้องเผชิญอยู่ในความมืดมิด กว่าจะเข้าสู่เหตุการณ์ปกติก็ผ่านไปหลายชั่วโมง โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หวั่นว่าจะมีโจรร้ายก่อวินาศกรรม แต่มาเฉลยตอนท้ายว่าเป็นเพียงไฟดับด้วยเหตุสุดวิสัย คนไทยหลายคนขี้สงสัย ทำไมถึงปล่อยให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้ หรือมีใครเล่นแผลงๆ สับสวิตช์สร้างสถานการณ์ไฟไม่พอ ขอโรงไฟฟ้าเพิ่มกันแน่!?

Blackout เขย่าขวัญชาวใต้

จารึกเอาไว้ได้เลยว่านี่คือ Blackout (เหตุการณ์ไฟฟ้าดับเป็นวงกว้าง) ครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ของเมืองไทย หลังช่วงหัวค่ำของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 เกิดเหตุการณ์ปลายด้ามขวานมืดมิด ไฟฟ้าดับกินพื้นที่ 14 จังหวัดของภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร, ระนอง, นครศรีธรรมราช, สุราษฎร์ธานี, พัทลุง, พังงา, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลาและนราธิวาส ทำคนพื้นที่แตกตื่นหวั่นกลัวจะเป็นการก่อวินาศกรรม ทำอุตสาหกรรมพังยับ

สาเหตุของเหตุการณ์ Blackout นั้น สุทัศน์ ปัทมสิริวัฒน์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เนื่องจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ โดยสายส่งที่จ่ายไฟฟ้าไปยังภาคใต้มี 4 เส้น คือ สาย 500 kV จำนวน 2 เส้น และสาย230 kVจำนวน 2 เส้น โดยในช่วงเช้าเวลา 8.00 น. ของวันเกิดเหตุ กฟผ. ได้ปลดสายส่ง 500 kV จำนวน 1 เส้น เพื่อทำการซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ในเวลา 17.26 น. สายส่ง 500 kV เส้นที่ 2 เกิดการชำรุดคาดว่าเกิดเนื่องจากฟ้าผ่า ทำให้ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าลงภาคใต้ได้ จึงจำเป็นต้องจ่ายไฟฟ้าผ่านสายส่งเส้น 230 kV ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า ทำให้สายส่งจ่ายไฟฟ้าเกินกำลังส่งผลให้สายส่งหลุดจากระบบ

ประกอบกับจากการที่ภาคใต้ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอและต้องพึ่งพาการส่งไฟฟ้าจากภาคกลางผ่านสายส่งดังกล่าว โดยความต้องการใช้ไฟฟ้า ณ วันที่ 21 พ.ค. มีสูงถึง 2,200 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโรงไฟฟ้าภาคใต้เดินเครื่องอยู่ 1,600 เมกะวัตต์ทำให้โรงไฟฟ้าอื่นในภาคใต้ อาทิ โรงไฟฟ้าขนอม โรงไฟฟ้าจะนะ และโรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา ถูกปลดออกจากระบบโดยอัตโนมัติ เพื่อความปลอดภัยของโรงไฟฟ้า ซึ่งทางกฟผ. ขออภัยประชาชนต่อเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น และได้สั่งการให้มีการตรวจสอบสายส่งไฟฟ้าภาคใต้ทั้งหมด เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาเกิดเหตุการณ์มีกระแสข่าวลือออกมาอย่างมากมายว่าจะเป็นการก่อวินาศกรรมเพราะไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่าจะดับไฟแต่อย่างใด ทำให้ประชาชนต่างตื่นตระหนกเกรงว่าจะเกิดเหตุไม่ดีขึ้นในพื้นที่ อย่าง จ.ยะลา ที่กำลังมีงานสมโภชหลักเมืองยะลา หลังไฟดับก็ทำเอาประชาชนแตกตื่นตกใจรีบพากันกลับบ้าน และตำรวจเองก็ประชาสัมพันธ์ให้อยู่แต่ภายในบ้านเท่านั้น

ปัญหาเร่งแก้ ภาคใต้ผลิตไฟไม่พอ

เหตุการณ์ครั้งนี้ถึงแม้จะเป็นเหตุสุดวิสัย แต่ก็สร้างความหวั่นใจให้ประชาชนไม่น้อย โดยเฉพาะกลัวว่าอาจเกิดเหตุไฟดับซ้ำรอยขึ้นมาอีก เพราะปริมาณการใช้ไฟฟ้าของภาคใต้ที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ รองรับภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม โดยปัจจุบัน ความต้องการไฟฟ้าในภาคใต้เพิ่มขึ้นราวร้อยละ 6 ต่อปี ขณะที่ระบบผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ยังต้องพึ่งการส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางบางส่วน นอกจากนั้นแล้วเส้นทางสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้มีลักษณะเป็นคอขวดตามภูมิประเทศในช่วงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้มีความเสี่ยงต่อระบบส่งไฟฟ้าค่อนข้างสูง

ทางภาคใต้ ตอนนี้กำลังขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการท่องเที่ยวเนี่ย ทำให้มีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับอุตสาหกรรมทางภาคใต้ก็มีการขยายตัวเช่นกัน อย่างทางด้านของอุตสาหกรรมรมประมงหรือการเกษตรที่มีการส่งออกด้วย ทำให้มีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น กำลังการผลิตมันไม่เพียงพอต่อการใช้นะครับ เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าทางภาคใต้มีน้อยกว่าความต้องการอยู่ ซึ่งปัญหาภาคใต้ตอนนี้คือกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมันไม่เพียงพอ ตรงนี้มันก็อาจมีความจำเป็นที่ภาคใต้ต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม เพราะขณะนี้กำลังไฟฟ้าสำรองก็เอาไม่อยู่แล้ว

แต่ถ้าจะไม่สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม มันก็มีทางอยู่คือการประหยัดการใช้ หรืออนุรักษ์การใช้พลังงาน เพราะฉะนั้นตรงนี้ถ้าไม่อยากให้สร้างโรงไฟฟ้าก็ต้องยอมลดการใช้ไฟลง ซึ่งต้องไปพิจารณาตามอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงปริมาณการใช้ไฟในภาคใต้ว่ามีตรงไหนบ้างที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าถ้าไปลดการใช้มันก็จะกระทบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย ตรงนี้ก็ต้องแลกกันนะครับ”

คำอธิบายเพิ่มเติมจาก มนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานอิสระ ที่กล่าวว่าไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ทางภาคใต้ก็ควรจะมีโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเสียที เพื่อรองรับความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น สำหรับโรงไฟฟ้าในภาคใต้ขณะนี้ มีทั้งสิ้น 5 โรงงาน ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าขนอม มีกำลังการผลิต 410 เมกะวัตต์ จ่ายไฟไปยังพื้นที่นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร พัทลุง ตรัง, โรงไฟฟ้าบางลาง จ.ยะลา กำลังการผลิต 40 เมกะวัตต์ จ่ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้, เขื่อนรัชชประภา สุราษฎร์ธานี 240 เมกะวัตต์ จ่ายให้สุราษฎร์ธานี พังงา ภูเก็ต, โรงไฟฟ้าจะนะ 700 เมกะวัตต์ จ.สงขลา จ่ายไฟฟ้าให้ อ.หาดใหญ่ ระโนด จ.สงขลา พัทลุง, ส่วนโรงไฟฟ้ากระบี่มีกำลังการผลิต 340 เมกะวัตต์ จ่ายให้ กระบี่ พังงา ภูเก็ต ตรัง

ลือสนั่น แผนดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะออกมาชี้แจงแถลงไขแล้วว่าเหตุไฟฟ้าดับนั้น เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดทางเทคนิค และความต้องการใช้กำลังไฟกับกำลังการผลิตที่ได้ก็สวนทางกัน (ปกติภาคใต้จะมีความต้องการใช้ 2,200 เมกะวัตต์ ซึ่งการผลิตมีไม่เพียงพอมีแค่ 1,390 เมกะวัตต์ จากปกติจะเพิ่มกระบี่เข้าไปอีก 340 เมกะวัตต์ จึงต้องมีการนำไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปยังภาคใต้) แต่ประชาชนส่วนหนึ่งออกมาแสดงความคิดเห็นว่า นี่อาจเป็นการข่มขู่ให้จำนนต่อโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือเปล่า?

เรื่องนี้ถูกเชื่อมโยงเข้าหาการเมืองอย่างง่ายดาย เมื่อครั้งหนึ่ง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พูดถึงการโดนประชาชนในพื้นที่ต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ใน จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเผลอหลุดปากออกมาว่า รู้สึกเบื่อ ดังนั้น หากประชาชนไม่ต้องการจนสร้างไม่ได้ก็จะไม่สร้างเช่นกัน หากภาคใต้เกิดปัญหาไฟดับก็เป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบกันเอง ทราบกันดังนี้แล้ว คิดเอาเองว่า ไฟดับมืด 14 จังหวัดครั้งนี้ มันเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่

ก่อนหน้านี้ ได้มีการพูดคุยถึงแนวทางในการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคใต้ และขยายระบบส่งเพิ่มขึ้น ได้แก่ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะแห่งที่ 2 ที่กำลังก่อสร้างและจะจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบในปี 2557 และขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสมโครงการขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า รวมทั้งการปรับปรุงระบบส่งให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อระบบไฟฟ้าให้แก่ภาคใต้ในระยะยาว แต่ไม่ว่าอย่างไรคนในพื้นที่ภาคใต้ต่างไม่ยอมรับกับแนวคิดโรงไฟฟ้าถ่านหินนี้เสียที

ทั้งนี้เมื่อช่วงต้นปี 2555 ได้มีการอภิปรายหัวข้อ “ภาคประชาชนกับการตั้งรับวิกฤตพลังงานไฟฟ้า” ในงานสัมมนา “อนาคตไฟฟ้าไทย มาจากไหนช่วยบอกที..?” โดยหนึ่งเสียงของประชาชน กรณ์อุมา พงษ์น้อย กลุ่มรักท้องถิ่นบ่อนอก กล่าวว่า “ที่ผ่านมาการวางแผนพลังงานของประเทศยึดติดอยู่กับการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อป้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยไม่สนใจส่งเสริมการประหยัดพลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างจริงจัง”

ส่วนนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน ได้เสนอการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ หรือ PDP 2012 โดยมีเนื้อหาสำคัญ 4 ข้อ ได้แก่ 1. ปรับการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงให้ตรงกับความเป็นจริงเพราะที่ผ่านมาพยากรณ์เกินมาตลอด (ปี 54 พยากรณ์เกินไปถึง 5,800 เมกะวัตต์) 2. นำแผนอนุรักษ์พลังงานระยะ 20 ปี (2554 - 2573) มาใช้ คือเลือกลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน และการจัดการด้านการใช้พลังงานเป็นลำดับแรก จะสามารถลดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มถึง 20% 3. ส่งเสริมโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมแบบกระจายศูนย์ แทนการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลและนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นการใช้พลังงานจากไฟฟ้าและความร้อนอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า และมีศักยภาพสูงถึง 4,800 เมกะวัตต์ 4. ยืดอายุ/เพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ. ซึ่งจะใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่

อ่วม!! กระทบหนักหลายอุตสาหกรรม

เหตุการณ์ Blackout 14 จังหวัดครั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมประเมินว่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมห้องเย็น แปรรูปประมง แปรรูปยางพารา ที่ได้รับความเสียหายจากการที่เครื่องจักรหยุดทำงานกะทันหัน ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง-ถุงยางอนามัย ได้รับความเสียหายค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการผลิต 24 ชั่วโมง และถึงแม้จะมีระบบไฟฟ้าสำรอง แต่ก็ไม่สามารถรองรับการผลิตทั้งระบบได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมน้ำยางข้น ที่เมื่อไฟฟ้าดับ กระบวนการผลิตต้องหยุดชะงักก็สร้างความเสียหายทันที

ส่วนด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผลกระทบยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากช่วงที่ไฟดับนั้นเป็นช่วงค่ำ แต่อาจมีผลกระทบบ้างกับร้านค้า สถานบันเทิง ที่ไม่สามารถให้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว อย่างจังหวัดสงขลาที่เป็นเมืองเศรษฐกิจ คาดว่าช่วงเวลาที่ไฟฟ้าดับนาน 4 ชั่วโมง น่าจะสร้างความเสียหายต่อภาคธุรกิจของจังหวัดไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจยังแสดงความกังวลในด้านความเชื่อมั่น ทั้งด้านการผลิต การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่อาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก และถ้าหากไฟฟ้าดับในช่วงกลางวัน ความเสียหายจากภาคการผลิต จะเสียหายมากกว่านี้ ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่แค่ภาคผู้ประกอบการเท่านั้นที่กังวล แม้กระทั่งชาวบ้านตาดำๆ เอง ก็หวั่นเกรงว่าในอนาคตจะมีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในวงกว้างเช่นนี้อีก เพราะไม่มีใครรู้ว่าแท้จริงแล้วเป็นแค่เหตุผิดพลาดสุดวิสัยหรือเป็นการสร้างสถานการณ์กดดันเพื่อจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าอย่างที่หลายคนคิดไว้หรือเปล่า??

*** Blackout คืออะไร ***

Blackout คือการเกิดไฟฟ้าดับในวงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่เป็นจังหวัด เป็นภาค (Partial Blackout) หรือทั้งประเทศ อาจเกิดเป็นระยะเวลาไม่กี่ชั่วโมงจนถึงเป็นวัน เป็นสัปดาห์ ส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยสาเหตุเกิดขึ้นจากหลัก 4 ประการด้วยกันคือ 1. การไม่มีระบบป้องกันที่ดีเมื่อความถี่ของระบบไฟฟ้าลดต่ำลง 2. มีโรงไฟฟ้าเป็นจำนวนมากหลุดออกจากระบบไฟฟ้า 3. ระบบส่งไฟฟ้าไม่มีเสถียรภาพ 4. ระบบจ่ายเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าขัดข้อง

ทั้งนี้ ประเทศไทยเคยเกิดเหตุการณ์ Blackout ทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2521 เวลา 07.40 น. สาเหตุเกิดจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนพระนครใต้ซึ่งเป็นกำลังผลิตสำคัญ เกิดขัดข้องด้านเทคนิค ส่งผลทำให้ไฟดับทั่วประเทศ โดยเกิดไฟฟ้าดับในภาคเหนือประมาณ 1 ชั่วโมง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 นาที ภาคกลางประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับเขตนครหลวง ไฟฟ้าดับประมาณ 2 ชั่วโมงจึงเริ่มมีการจ่ายไฟฟ้าสู่บางพื้นที่ และเหตุการณ์กลับสู่สภาวะปกติ ประชาชนในทุกพื้นที่มีไฟฟ้าใช้เมื่อเวลา17.00 น. สรุปแล้วเกิดเหตุไฟฟ้าดับในเขตนครหลวงนานที่สุดถึง 9 ชั่วโมง 20 นาที ซึ่งนับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียว จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ Blackout ใน 14 จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ Live


ภาพจากดาวเทียม


กำลังโหลดความคิดเห็น