xs
xsm
sm
md
lg

DSI บุกตรวจพื้นที่ลักลอบขุดแร่เหล็กเถื่อนมูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


รองอธิบดีเอสไอ นำกำลังบุกตรวจพื้นที่เขาทับควาย อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี หลังสอบสวนพบมีนายทุนชาวจีน เข้ามาลักลอบขุดแร่เหล็กในพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ จำนวน 100,000 เมตริกตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 300 ล้านบาท ระยะเพียง 4 เดือนเศษ พร้อมเร่งสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดี มั่นใจเอาผิดถึงตัวการใหญ่ได้



เมืิ่อวันที่ 21 พ.ค.เวลา 10.00 น.พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พร้อมด้วย ว่าที่ร้อยตรีสุชาติ บ่อคำ หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดีเอสไอ พ.ต.ท.ปรีชา มีใจดี รอง ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 ดีเอสไอ พ.ต.ท.อานนท์ อุนทริจันทร์ ผอ.ส่วนคดีปราบปรามยาเสพติด 1 ดีเอสไอ และ พ.ต.ท.สันต์ทรง ตังละแม ผอ.ส่วนคดีปราบปรามยาเสพติด 3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองได้สนธิกำลังทำการตรวจสอบพื้นที่บริเวณเขาทับควาย หมู่ 12 ตำบลห้วยโป่ง อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี หลังจากสอบสวนขยายผลพบว่าเป็นสถานที่ลักลอบขุดแร่เหล็กส่งไปขายต่างประเทศ ที่ดีเอสไอจับกุมของกลางแร่เหล็กได้จำนวนมากก่อนหน้านี้

ที่เกิดเหตุบริเวณด้านตะวันออกของถนนพหลโยธิน สายเก่า กม.ที่ 177 ฝั่งเขาทับควาย พบมีการปักเสาไม้ล้อมรั้วตาข่ายกันแดดสีเขียวเป็นแนวยาวตลอดด้านฝั่งติดกับถนนพหลโยธินกว่า 2 กม.ห่างจากถนนพหลโยธินไปเพียง 1 เมตร พบร่องรอยการลักลอบขุดตักดินลึกลงไปเป็นแนวดิ่งลงไป 5-6 เมตร เป็นพื้นที่กว้างประมาณ 2 ไร่ พบกองดินคล้ายแร่เหล็ก จำนวน 1 กอง พร้อมมีป้ายเขียนข้อความระบุว่าเป็นพื้นที่ของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบภายในพบร่องรอยการบุกรุกแผ้วถางพื้นที่ป่า การขุดตักหน้าดินเป็นบ่อลึกประมาณ 5-10 เมตร บริเวณกว้างทั่วทั้งบริเวณกินพื้นที่ประมาณ 60 ไร่ และมีกองดินคล้ายแร่เหล็ก ประมาณ 10 กอง รอการขนย้ายแต่ไม่พบเครื่องจักรกล หรือผู้ลักลอบขุดในจุดที่มีแร่เถื่อนพบเพียงเพิงพักอาศัยของคนงานและถังน้ำมันที่คาดว่าสำหรับเติมน้ำมันให้รถบรรทุกและรถแบ็กโฮ ทั้งนี้ดีเอสไอได้อายัดพื้นที่ดังกล่าวไว้ตรวจสอบแล้ว

อย่างไรก็ตามการตรวจสอบพื้นที่ดังกล่าว สืบเนื่องจากการสืบสวนขยายผลของเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ กรณีมีการลักลอบขุดแร่เหล็กจากพื้นที่ที่ไม่มีประทานบัตรในจังหวัดลพบุรี ไปเข้าโรงงานแต่งแร่ในพื้นที่ อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี และขนส่งไปลงเรือที่ท่าเรือในพื้นที่ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งออกนอกราชอาณาจักร โดยผิดกฎหมาย และเมื่อวันที่ 1 มี.ค.56 เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ร่วมจับแร่เหล็กผิดกฎหมายในเรือบรรทุกสินค้าจำนวน 4 ลำ ปริมาณรวม 6,500 เมตริกตัน นำส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธร อ.นครหลวง ดำเนินคดี และขยายผลไปสู่การตรวจค้นและอายัดแร่เหล็ก ปริมาณ 7,500 เมตริกตัน ที่ บริษัท ฉางชิง พัฒนาการแร่ จำกัด เลขที่ 38/2 หมู่ 4 ต.พุกร่าง อ.พระพุทธบาท จ.สระบุรี เมื่อวันที่ 5 มี.ค.56

จากการจับกุมทั้ง 2 กรณี เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ขยายผลจนทราบว่าแร่ของกลางเป็นแร่ที่มีการลักลอบขุดจากพื้นที่เขาทับควาย ซึ่งเป็นพื้นที่บริเวณเดียวกันกับกองแร่ประมูลของบริษัทเอกชนรายหนึ่ง โดยมีนายทุนชาวจีนและนายทุนชาวไทย จำนวน 2 ราย เป็นผู้มีอิทธิพลและอยู่เบื้องหลังขบวนการลักลอบขุดแร่ดังกล่าวจึงนำกำลังเข้าตรวจสอบ กระทั่งพบมีการบุกรุกลักลอบขุดแร่อหล็กที่ของกรมป่่าไม้และกรมศิลปากร ประมาณ 60 ไร่ดังกล่าว จากข้อมูลทางการสืบสวนดีเอสไอทราบว่ามีการลักลอบขุดแร่เหล็กออกไปจากพื้นที่เขาทับควายตั้งแต่ประมาณเดือน ธ.ค.55 จนถึงเดือน มี.ค.56 ปริมาณแร่ไม่ต่ำกว่า 100,000 เมตริกตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 300 ล้านบาท และเนื่องจากเป็นการลักลอบขุดแร่ใกล้กับถนนสายหลัก อาจส่งผลให้ถนนยุบตัวเสียหายได้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่ใช้เป็นเส้นทางสัญจรได้

ซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้สืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดและขยายผลไปยังกลุ่มขบวนการขุดแร่เหล็กเถื่แนต่อไป พร้อมจะทำการตรวจสอบว่าบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ชนะประมูลจนได้ครอบครองแร่เหล็กของกลาง ปริมาณ 25,000 เมตริกตัน ที่ถูกดีเอสไอจับกุม เมื่อวันที่ 21 เม.ย.53 ซึ่งยังดองอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งมีส่วนรู้เห็นในกรณีนี้หรือไม่ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาบริษัทดังกล่าว ได้ขนแร่ออกจากบริเวณนี้ประมาณ 4,900 เมตริกตัน เท่านั้น
และเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการดำเนินการเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรีในฐานะเจ้าพนักงานแร่ประจำท้องที่ จัดให้มีการตรวจสอบรังวัดปริมาณแร่คงเหลือของผู้ที่ชนะการประมูลพร้อมทั้งเสนอมาตรการในเชิงป้องกัน โดยขอให้ทางจังหวัดลพบุรี เร่งรัดออกใบอนุญาตขนแร่ให้กับผู้ที่ครอบแร่ให้ขนแร่ประมูลออกจากพื้นที่ให้หมดโดยเร็ว หรืออาจจะใช้วิธีกำหนดขอบเขตการครอบครองพื้นที่ของบริษัทผู้ครอบครองแร่ประมูลให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถฟื้นฟูให้พื้นที่ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากรต่อไป

สำหรับพื้นที่เขาทับควายเป็นแหล่งแร่เหล็กคุณภาพดีขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เดิมบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ได้รับประทานบัตร และหมดอายุประทานบัตรในปี พ.ศ.2553 เป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของหน่วยกรมศิลปากร กรมป่าไม้ ศูนย์การบินทหารบก และศูนย์การทหารปืนใหญ่ ดีเอสไอจะประสานหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ในฐานะผู้เสียหาย เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สภ.โคกสำเริง ต่อไป ทั้งนี้ การบักลอบขุดแร่ เป็นความผิดฐานเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดิน หรือก่นสร้าง แผ้วถางป่าตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2485 และความผิดฐาน ทำเหมืองแร่ในที่ใดไม่ว่าที่ซึ่งทำเหมืองนั้นจะเป็นสิทธิส่วนบุคคลใดหรือไม่ โดยไม่ได้รับสัมปทานบัตรชั่วคราว หรือสัมปทานบัตร และมีแร่ไว้ในครอบครองแต่ละชนิดเกินสองกิโลกรัมโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอจะได้ตรวจยึดอายัดกองแร่เหล็กที่มิใช่กองแร่ประมูลไว้ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น