โดยผู้กองตั้ง
สุภาษิตที่ว่า “เจอแขกกับงูให้ตีแขกก่อน หรือคบโจรกับตำรวจให้เลือกคบโจรดีกว่า” คงจะสะท้อนภาพลักษณ์ของความเป็นจำเลยของสังคมได้ดีพอไม่ต่างกัน ยิ่งสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนนในเมืองด้วยแล้ว ยิ่งต้องเข็ดขยาดกับพฤติกรรมของตำรวจบางนายอยู่บ่อยครั้ง เนื่องเพราะผู้ถือกฎหมายอยู่ในมือใช้อำนาจไปในทางที่ผิดด้วยการหาผลประโยชน์ส่วนตัว เข้าตำราปลาเน่าตัวเดียวเหม็นไปทั้งข้อง ฉันใดก็ฉันนั้น
ทั้งนี้ แม้โพลบางสำนักจะพยายามออกมาแก้ต่างให้ว่า ตำรวจกับการรีดไถเป็นเรื่องของนิสัยส่วนตัวบุคคล ไม่เกี่ยวกับองค์กร พร้อมให้เหตุผลเอาไว้เสร็จสรรพว่า ที่จำเป็นต้องรีดไถเพราะค่ารายจ่ายไม่พอกับค่าครองชีพ แต่นั่นก็มิอาจทำให้ภาพลักษณ์ของตำรวจกับการรีดไถเลือนหายไปได้ เนื่องจากไม่ใช่เหตุผลที่สมควร เช่นเดียวกับโพลอีกสำนักที่สำรวจความคิดเห็นประชาชนบางส่วนแล้วสรุปว่า การคอร์รัปชันถือเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยไปเสียแล้ว
กระนั้นก็ดี กล่าวสำหรับนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กับการตั้งด่านตรวจจับสำหรับผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎหมายถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนั่นคือการกำกับดูแลให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจรเพื่อลดอุบัติเหตุ หรืออำนวยความสะดวกเรียบร้อย แต่ก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ในความเป็นจริงมี “โจรหัวปิงปอง” ตำรวจจราจรนอกรีตอาศัยช่องว่างทางกฎหมายรีดไถส่วยจนกลายเป็นวัฒนธรรม มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์
สำหรับปัญหาตำรวจตั้งด่านรีดไถเงินจากประชาชนนั้น กลับมากลายเป็นปัญหาคาอก “พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอีกครั้ง หลังจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลมีคำสั่งให้ตำรวจกลับมาตั้งด่านกวดขัดวินัยจราจรใหม่หลังพบประชาชนทำความผิดมากขึ้น โดยให้มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 56
คำสั่งจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลระบุชัดเจนว่า ให้ทุก สน.ตั้งด่านเป็นประจำทุกวัน 3 ช่วงเวลา วันละ 1-2 ชั่วโมง คือ 10.00-14.00 น., 21.00-23.00 น. และให้ตั้งจุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ เวลา 01.00-03.00 น.โดยการตั้งจุดตรวจต้องมีนายตำรวจระดับรองผู้กำกับการ หรือสารวัตรจราจรประจำอยู่ด้วย หากพบว่าการตั้งจุดตรวจจะส่งผลให้การจราจรติดขัด ให้ยกเลิกตั้งด่านทันที พร้อมกำชับให้เน้นการกวดขันจับกุมผู้กระทำผิดกฎจราจรใน 17 ข้อหาหลัก คือ แข่งรถในที่สาธารณะ, ขับรถเร็ว, แซงรถในที่คับขัน, เมาแล้วขับ, ขับรถย้อนศร, ไม่สวมหมวกนิรภัย, จอดรถซ้อนคัน, ไม่ติดแผ่นป้ายทะเบียน, จอดรถในที่ห้ามจอด, ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง, ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ โดยให้ทุก สน.กวดขันจับกุมอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นข้อหาเกี่ยวกับความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของผู้ใช้รถใช้ถนน ทั้งนี้ ยังเป็นมาตรการป้องกัน และลดอุบัติเหตุในพื้นที่กรุงเทพมหานครอีกด้วย
ภายหลังคำสั่งนี้ออกมา ทำให้มีข้อร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากว่ามีตำรวจตั้งด่านในหลายพื้นที่ เกือบทุก สน.ในช่วงเวลาเร่งด่วน และใช้คำพูดไม่สุภาพกับประชาชน ตลอดจนมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร (บางนาย) รีดไถประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนจนสร้างปัญหาการจราจรบนถนนหลายเส้นทางติดขัดอย่างหนัก
และที่เด็ดที่สุดคือ มีผู้โพสต์คลิปวิดีโอความยาว 4.03 นาที หัวข้อ “ตำรวจหากินประชาชน!!! (บางคน)” เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียชื่อดังอย่างเฟซบุ๊ก และยูทิวบ์ โดยในคลิปเป็นภาพชายแต่งกายคล้ายตำรวจ 2 นาย คนหนึ่งทำหน้าที่เรียกรถเก๋ง และจักรยานยนต์หลายคันให้จอดริมถนน ก่อนที่อีกคนซึ่งแต่งกายคล้ายตำรวจยศนายดาบตำรวจ สวมหมวกเลขรหัส 6636 สน.บางนา จะเดินเข้าไปพูดคุยกับผู้ขับขี่ และรับเงินที่คนขับส่งให้ แถมบางรายก็มีเงินทอนให้อีกต่างหาก ซึ่งผู้แอบถ่ายระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ถ่ายจากสถานีรถไฟฟ้าแบริ่งวันที่ 5 พฤษภาคม 2556
สุดท้าย เรื่องก็จบลงด้วยการที่มีคำสั่งให้ ด.ต.นิพนธ์ โศรกหาย ผบ.หมู่ จร.สน.บางนา เจ้าของรหัส 6636 ออกจากราชการ
ขณะเดียวกัน เดอะแจ๊ด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ยังได้เซ็นคำสั่งย้ายผู้บังคับบัญชาของตำรวจจราจรบางนาทั้ง 2 นาย คือ พ.ต.ท.สมภพพงศ์ ชมพูนาค สว.จร.สน.บางนา ไปปฏิบัติราชการในตำแหน่ง สว.จร.สน.หนองจอก และ พ.ต.ท.ศุภชัย ชัยสุวรรณ รอง ผกก.จร.สน.บางนา ไปปฏิบัติราชการในตำแหน่ง รอง ผกก.สส.สน.บางเสาธง ไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2556 หรือจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง
นอกจากนั้น คำสั่งนี้ยังทำให้เกิดศึกระหว่างตำรวจจราจรท้องที่ ปะทะ จราจรกลาง ต้องขยายความกันต่อว่า ตำรวจจราจรนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.ตำรวจจราจรกลาง 2.ตำรวจจราจรประจำท้องที่ (สถานีตำรวจต่างๆ) โดยตำรวจทั้ง 2 ประเภท มีอำนาจในตรวจจับผู้ขับขี่ โดยตำรวจสังกัดสถานีตำรวจนครบาล จะใช้พื้นที่ของตัวเองเป็นช่องทางในการรีดไถ รับส่วย ต่างกับตำรวจจราจรกลางที่สามารถไปตั้งตรงบริเวณไหนก็ได้ทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ ลักษณะการทำมาหากินของตำรวจ (บางนาย) มี 2 แบบ หนึ่ง-ตั้งด่านเถื่อนกินเป็นเงินสด สอง-ตั้งด่านที่ถูกต้องตามกฎหมายกินกันเป็นใบสั่ง โดยถึงแม้ใบสั่งจะมีตัวเลขกำกับชัดเจนซึ่งอาจจะกินกันได้ไม่เต็มที่ แต่ก็สามารถหารายได้เข้ากระเป๋าพอเป็นกระษัย
และเป็นที่เข้าใจกันตามหลักการในส่วนแบ่งแบ่งเปอร์เซ็นต์ คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับ 40 เปอร์เซ็นต์ และเข้าหลวง 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของการเร่งทำยอดใบสั่งให้ตรงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ขณะที่เงินที่ได้มาจะถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน ไล่ตั้งแต่ระดับบิ๊กคุมพื้นที่ ส่งตรงไปส่วนกลางที่เหมือนเสือนอนกิน
ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข ภาควิชาจิตวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไขและป้องกันอย่างบูรณาการ ให้ความเห็นถึงปัญหาการตั้งด่านจราจรของตำรวจที่ประชาชนมักเข้าใจว่าเป็นการรีดไถว่า เป็นผลพวงมาจากระบบงานจราจรที่ยังมีปัญหา
“ท่าทีของตำรวจที่ไปซุ่มดักจับประชาชน การไปตั้งด่านในที่คนมักทำผิดกฎโดยที่ไม่ได้คำนึงถึงบริบทของพื้นที่ ก็ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดกันได้ว่า ตำรวจพยายามรีดไถประชาชน ซึ่งก็ยอมรับว่า อาจจะมีตำรวจที่จงใจรีดไถประชาชนอยู่ แต่การตั้งด่านเพื่อตรวจสอบนั้นก็เป็นมาตรการที่จำเป็นต้องทำ เพราะการตั้งดักตรวจนั้นเกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุจราจรซึ่งประเทศไทยถือว่ามีสถิติติดอันดับโลกในเรื่องของอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยในปีที่ผ่านมา การรณรงค์เรื่องหมวกกันน็อกทุ่มงบไปหลายล้านบาทก็มีส่วนให้การสวมใส่หมวกกันน็อกเพิ่มขึ้นมาเพียง 1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ทำให้มาตรการในการบังคับกฎหมายใช้ถูกยกขึ้นมาเป็นมาตรการหลักในการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนแทนตอนนี้เลยมีโครงการพัฒนาระบบงานสอบสวนอุบัติเหตุเพื่อการแก้ไข และป้องกันอย่างบูรณาการขึ้น เพื่อศึกษาวิจัยโดยมีการเปลี่ยนบทบาทของตำรวจจราจร จากการปราบปรามผู้กระทำผิด มาเป็นการลดการเจ็บ และการตายบนท้องถนน”
“สำหรับรายละเอียดของโครงการคือ การศึกษาเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนในแต่ละพื้นที่ซึ่งมีปัจจัยที่แตกต่างกัน มีลักษณะของการผ่อนปรนตามแต่ละบริบทของพื้นที่มากขึ้น โดยหากความผิดไม่รุนแรง เจ้าหน้าที่จะทำแค่การตักเตือนเท่านั้น การทำยอดของใบสั่งเกิดจากการบังคับใช้กฎหมาย แต่ตอนนี้วัตถุประสงค์ของตำรวจจราจรเปลี่ยนไปแล้ว ตำรวจจราจรก็ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เพื่อมาปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่แค่การบังคับใช้กฎหมาย แต่เป็นการลดการเจ็บ และการตายบนท้องถนน ซึ่งมันมีขอบเขตของหน้าที่มากกว่าออกใบสั่ง” ผศ.ดร.ปนัดดากล่าว
อย่างไรก็ตาม คำถามมีอยู่ว่า ปัญหาตำรวจตั้งด่านรีดไถจะหมดไปจริงหรือ
คำตอบก็คือ ไม่ ยิ่งถ้าทั้งตำรวจ (บางนาย) ไม่ปฏิบัติตนเป็นผู้รักษากฎหมายอย่างเที่ยงตรงด้วยแล้ว ไม่ว่าชาตินี้ หรือชาติหน้าก็หวังว่าจะได้เห็น