xs
xsm
sm
md
lg

สตช.ทอล์กโชว์เจาะใจ 2 ตร.จราจรไม่รับส่วย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


สตช.จัดเวทีเสวนา “เจาะใจจราจรไม่รับส่วย และไขข้อข้องใจนิด้าโพล” พร้อมนำ 2 ตำรวจจราจรไม่รับส่วยแสดงวิสัยทัศน์ แนะตำรวจอย่าเห็นแก่ได้

วันนี้ (17 พ.ค.) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการจัดเสวนาเรื่อง “เจาะใจจราจรไม่รับส่วย และไขข้อข้องใจนิด้าโพล” โดยนายสุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ร.ต.ต.ศรัณย์ วีรพงษ์ รองสารวัตรงานจราจร สภ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเคยถ่ายคลิปวิดีโอผู้ขับขี่จ่ายส่วยให้ตำรวจ และ ร.ต.ต.วิชัย จิตสัจจะพงศ์ รอง สว.จร.สน.เทียนทะเล ใช้จักรยานเป็นพาหนะในการทำงาน และคอยแจกใบสั่งรถที่จอดกีดขวางทับเลนจักรยาน

ร.ต.ต.ศรัณย์กล่าวว่า ฝากบอกประชาชนที่วิจารณ์ตำรวจเรื่องสินบนจราจรแรงๆ ว่าหากผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ตำรวจก็ไม่เรียกจับแน่นอน และหากประชาชนยอมรับผิด เมื่อมีการพลั้งเผลอไม่หยิบยื่นไม่มีการจ่ายสินบนให้ตำรวจบางนาย ตำรวจก็คงไม่รับ เช่นเดียวกับตำรวจก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ไม่รับสินบน ปัญหานี้ก็จะหมดไป จากประสบการณ์ที่ทำงานจราจรมา เวลาเรียกจับกุม 20 รายก็จะมีความพยายามเสนอเงินมาให้ 5 ราย ตนเองจะเตือนประชาชาชนที่ทำเช่นนั้นทุกครั้งว่าอย่าทำ เพราะผิดกฎหมาย และมองว่าการประชาชนถ่ายคลิปหรือภาพตำรวจรับเงินมาแพร่ก็เป็นการตรวจสอบจากประชาชนที่ดี ในทางกลับกันตำรวจก็สามารถถ่ายคลิปประชาชนที่ให้สินบนตำรวจก่อนได้เช่นกัน เป็นข้อดีของการตรวจสอบได้ง่ายในยุคไอที

ร.ต.ต.วิชัยกล่าวว่า หากทุกคนปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่เห็นแก่ได้ ก็จะช่วยลดปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน จนทำงานจราจรมา 9 ปี และยืนยันจะจับกุมผู้ทำผิดกฎจราจรโดยเฉพาะกรณีจอดกีดขวางทางจักรยานอย่างเคร่งครัด ที่ผ่านมาตนเขียนหมายเลขโทรศัพท์ในใบสั่งทุกครั้ง ประชาชนหลายคนที่ได้รับใบสั่งโทรศัพท์มาถามว่าผิดอะไร ตนก็ได้ชี้แจงทุกราย และจากนี้ขอความร่วมมือประชาชนอย่าหยิบยื่นสินบนให้ตำรวจเพราะจะเป็นการเริ่มต้นสร้างนิสัยไม่ดี ตำรวจบางนายเคยได้ก็จะได้จนชิน โดยเฉพาะตำรวจใหม่ๆ ก็อาจจะติดนิสัยตั้งแต่เริ่มรับราชการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล ที่เผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 12พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าจากประชาชนกลุ่มตัวอย่างที่ขับขี่ยานพาหนะทั่วประเทศ จำนวน 1,253 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 9-10 พฤษภาคม พบว่า ร้อยละ 66.24 ไม่เคยถูกตำรวจจราจรรีดไถเงิน ขณะที่ ร้อยละ 26.42 เคยถูกรีดไถนานๆ ครั้ง โดยมองว่าสาเหตุที่ตำรวจบางคนชอบรีดไถ ร้อยละ 37.21 มาจากนิสัยส่วนตัว นอกนั้นในอัตราส่วนร้อยละ 17 เท่าๆกัน เชื่อว่ามาจากเงินเดือนน้อย/ต้องส่งนาย และผู้ขับขี่เสนอให้ ซึ่งผู้อำนวยการนิด้าโพลมองในแง่ดีว่ามีผู้ขับขี่กว่าครึ่งที่ไม่เคยถูกตำรวจจราจรรีดไถ แต่ส่วนที่เคยถูกรีดไถก็ไม่ใช่จำนวนน้อยเช่นกัน โดยเชื่อว่าตำรวจที่พฤติกรรมรีดไถมาจากนิสัยส่วนบุคคล ไม่ใช่วัฒนธรรมองค์กร สามารถปรับเปลี่ยนได้
กำลังโหลดความคิดเห็น