xs
xsm
sm
md
lg

“เสธ.ไก่อู” เบิกความ คาด “พลทหารณรงค์ฤทธิ์” ถูกแนวร่วม นปช.ยิงดับ

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษกกองทัพบก และโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.)
“เสธ.ไก่อู” ยื่นคำร้องต่อศาลไต่สวนชันสูตรการตาย “พลทหารณรงค์ฤทธิ์ สาละ” เชื่อกระสุนไม่ได้มาจากแนวตั้งของ จนท.ทหาร-ตร.

วันนี้ (20 มี.ค.) ที่ห้องพิจารณาคดี 811 ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลนัดไต่สวนพยานโจทก์คดีหมายเลขดำ อช.4/2555 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ยื่นคำร้องให้ไต่สวนชันสูตรการตายของพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ สังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กองพลทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี เพื่อให้ศาลทำคำสั่งแสดงว่าผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อใด รวมถึงสาเหตุและพฤติการณ์การตาย

จากเหตุการณ์ที่พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ ถูกยิงเสียชีวิต ขณะกำลังปฏิบัติหน้าที่ชุดลาดตระเวนเคลื่อนที่เร็ว เพื่อระงับเหตุการณ์การปะทะกันของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจกับกลุ่มคนเสื้อแดง ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติ (ดอนเมือง) เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2553 โดยช่วงเช้าวันนี้พนักงานอัยการได้นำพยานเข้าเบิกความ คือ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อดีตโฆษกกองทัพบก และโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เบิกความว่า เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2553 ได้รับทราบจากรายงานว่าพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ถูกยิงด้วยอาวุธปืนขนาด 5.56 มม.เข้าที่บริเวณขมับด้านข้างจนเสียชีวิต ขณะนั่งซ้อนท้ายจักรยานยนต์เพื่อไปเสริมกำลังที่ด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยขณะนั้นมีเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด ขณะเดียวกับที่ปรากฏกลุ่มควันขึ้นทางด้านขวาของถนนวิภาวดี-รังสิต จากนั้นรถจักรยานยนต์คันของพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ก็ล้มลงไปทางด้านซ้ายของถนน จึงเชื่อว่าพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์น่าจะถูกยิงมาจากทางด้านขวา เป็นไปไม่ได้ที่จะถูกยิงมาจากแนวตั้งของทหารและตำรวจ ซึ่งอยู่ทางด้านหน้า และเมื่อเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 ปรากฏกลุ่มชายชุดดำได้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมกับแย่งอาวุธปืนทราโว่ และเอ็ม16 จึงเป็นได้ที่ วันที่ 28 เม.ย. 2553 จะมีแนวร่วมบางคน นำอาวุธปืนที่ได้จากเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2553 มาใกล้บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ จนเป็นเหตุให้พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์เสียชีวิต

นายพีรบูรณ์ สวัสดินันทน์ ช่างภาพช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้ติดตามการเคลื่อนขบวนของกลุ่ม นปช. นำโดยนายขวัญชัย ไพรพนา จากแยกราชประสงค์เพื่อจะไปสมทบกับผู้ชุมนุม นปช.ที่บริเวณตลาดไท โดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดี-รังสิต แต่เมื่อไปถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ พบว่าขบวนของกลุ่ม นปช.ไม่สามารถที่จะเคลื่อนผ่านแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจได้ เนื่องจากการจราจรติดขัดมาก ตนจึงได้ลงจากรถยนต์และขึ้นไปตั้งกล้องถ่ายภาพบนสะพานลอย ซึ่งอยู่ตรงกลาง ระหว่างกลุ่มนปช.และแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ และเมื่อรถจักรยานยนต์ชุดเคลื่อนที่เร็ว เข้ามาใกล้บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ห่างประมาณ 50 เมตร ตนก็ยังไม่ทราบว่ามีทหารถูกยิงเสียชีวิตและไม่ได้ยินเสียงปืน เนื่องจากเสียงจากลำโพงของเจ้าหน้าที่ดังมาก และเห็นเพียงจักรยานยนต์ล้มตามๆ กัน แต่ขณะนั้นก็ได้ถ่ายภาพเคลื่อนไหวไว้ได้ทั้งหมด จนเมื่อกลับไปถึงยังสถานีโทรทัศน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายตัดต่อได้นำภาพมาเปิดกระทั่งเห็นภาพเหตุการณ์ขณะพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์โดนยิงเสียชีวิต และได้นำภาพเหตุการณ์ดังกล่าวไปออกรายการข่าวของช่องโมเดิร์นไนน์ทีวี

นายนิมิต สุขประเสริฐ ผู้สื่อข่าวช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี เบิกความว่า วันที่ 28 เม.ย. 2553 ขณะติดตามผู้ชุมนุม นปช.ไปถึงบริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ก็ได้ลงจากรถยนต์และเดินไปยังแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ จากนั้นก็เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ที่พยายามจะฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่และทหาร โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้อาวุธปืนลูกซองยิงสกัดกลุ่มผู้ชุมนุมนปช. ระหว่างนั้นก็ได้ไปหลบภายในปั๊ม ปตท.ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว แต่ไม่นานเหตุการณ์ก็สงบลง และเจ้าหน้าที่ก็ผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.ให้ไปรวมกลุ่มกัน หลังจากนั้นก็ทราบว่าพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงเสียชีวิต ขณะขี่จักรยานยนต์ซ้อนท้าย เพื่อจะเข้ามาเสริมแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ จึงวิ่งไปดูเห็นเจ้าหน้าที่นำพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์เข้าไปในอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อรอส่งโรงพยาบาล แต่ตนก็ไม่เห็นเหตุการณ์ที่พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์โดนยิงเสียชีวิต

ต่อมา น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เบิกความต่อศาลว่า กลุ่ม นปช.ได้เริ่มชุมนุมตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2553 โดยมีประชาชนจากต่างจังหวัดทยอยเดินทางเข้ามาชุมนุมใน กทม. จุดแรกคือที่บริเวณแยกผ่านฟ้าฯ ต่อมาได้ขยายไปชุมนุมที่แยกราชประสงค์อีกหนึ่งแห่ง ขณะเดียวกันทางพรรคเพื่อไทยก็ตั้งศูนย์ช่วยเหลือและดูแลความปลอดภัยของประชาชน เพื่อติดตามและดูแลการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ซึ่งเหตุการณ์พลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ถูกยิงเสียชีวิต ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาตินั้น ทางศูนย์ช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยของประชาชนก็ได้รับรายงานเช่นเดียวกัน โดยได้ทราบข่าวจากสื่อมวลชน และจากข้อมูลและพยานหลักฐานนั้นไม่ยันยันว่าใครยิงพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ แต่ตนเชื่อว่าสาเหตุการเสียชีวิตน่าจะมาจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ เพราะตนไม่เคยทราบหรือเห็นทางกลุ่มผู้ชุมนุม นปช.จะมีอาวุธเช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ

จากนั้นอัยการได้นำนายพงษ์ระวี ชนะภัย อายุ 25 ปี ซึ่งขณะเกิดเหตุเข้ารับการเกณฑ์ทหาร เป็นพลทหารสังกัดกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 9 จ.กาญจนบุรี เบิกความต่อศาล วันที่เกิดเหตุ 28 เม.ย. 2553 ได้รับคำสั่งให้ไปเสริมกำลังที่ด่านสกัดของเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ ที่บริเวณอนุสรณ์สถานแห่งชาติ โดยขี่จักรยานยนต์ยี่ห้อเวฟ ขนาด 110 ซีซี เป็นชุดเคลื่อนที่เร็ว ไปพร้อมพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์ สาละ ซึ่งนั่งซ้อนท้าย และมีอาวุธปืนลูกซองยาวและกระสุน เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุห่างจากแนวกั้นของทหารและตำรวจประมาณ 50 เมตร ได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 4-5 นัด จึงล้มจักรยานยนต์ลงไปทางด้านซ้ายริมถนนวิภาวดี-รังสิตฝั่งขาออก ตามยุทธวิธีของทหาร และหาที่กำบัง แต่ขณะนั้นไม่ทราบว่าพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์โดนยิง กระทั่งจ่าทหารในชุดเดียวกันตะโกนบอกว่าถูกยิง ร.อ.ธนะรัชต์ มณีวงศ์ ผบ.กองร้อยชุดเคลื่อนที่เร็วจึงสั่งการให้เจ้าหน้าที่ทหารนำผู้บาดเจ็บไปในอนุสรณ์สถานแห่งชาติ เพื่อรอส่งโรงพยาบาล โดยไม่เห็นว่าใครเป็นคนยิงพลทหาร ณรงค์ฤทธิ์จนเสียชีวิต ทั้งนี้ภายหลังไต่สวนพยานเสร็จแล้ว ศาลได้นัดไต่สวนต่อในวันที่ 21 มี.ค.เวลา 09.30 น.
กำลังโหลดความคิดเห็น