xs
xsm
sm
md
lg

“สุธรรม” โยนเผือกร้อน “เอนก” ขู่ดีลพรีเมียร์ลีกล่มถูกปลด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - โอละพ่อ “อสมท” ฉาวโฉ่อีกกรณีบอลพรีเมียร์ลีก วงการแฉ “สุธรรม” ตัวการซื้อพรีเมียร์ลีก แต่เจ้าตัวโยนเผือกร้อนให้เอนก ยันไม่ได้เป็นคนเริ่มต้น แต่เอนกฝีมือยังไม่เข้าตาทำผลประกอบการแย่ บริหารไม่เด็ดขาด ขู่ปลดจากตำแหน่งทิ้งถ้าซื้อสิทธิ์ไม่ได้ ย้ำ อสมท อยู่ในช่วงวิกฤต เปิดใจเคลียร์ 480 ล้านบาทที่ใช้ซื้อพรีเมียร์ลีกมองว่าคุ้มทุน ส่งผลดีต่อ อสมท

แหล่งข่าวจากวงการมีเดียเปิดเผยว่า สาเหตุที่นายสุธรรม แสงประทุม ประธานบอร์ด อสมท และนายจักรพันธุ์ ยมจินดา รองประธานบอร์ด อสมท มีความพยายามจะผลักดันเรื่องการให้ อสมท ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจากทางบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) มูลค่า 480 ล้านบาท จำนวน 17 แมตช์ต่อปี รวม 3 ปีนั้น โดยไม่ฟังเสียงทัดทานของพนักงาน และข้อมูลจากการตลาดว่าไม่สามารถหาโฆษณาหรือกำไรได้นั้น

เนื่องจากว่านายสุธรรมใกล้จะหมดวาระตำแหน่งประธานบอร์ดในเดือนกันยายนนี้จึงทำให้ต้องเร่งรีบจะให้มีการเซ็นสัญญาโดยเร็ว โดยมีการประสานงานกับซีทีเอชผ่าน ที่ปรึกษาที่ตนเองตั้งขึ้นมาซึ่งไม่เคยมีประธานบอร์ดยุคใดแต่งตั้งที่ปรึกษามาก่อนจำนวน 3 คน คือนาย “ฉ” เจ้าของธุรกิจโรงแรม “ม”, นาย “ป” และนาย “พ” โดยดีลฟุตบอลในครั้งนี้มีนาย “ฉ” เป็นแกนหลักในการเจรจาหาผลประโยชน์

ขณะที่นายจักรพันธุ์เองเมื่อเข้ามาเป็นรองประธานในช่วงของการรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ได้สั่งให้มีการออกแบบโลโก้ อสมท ใหม่ โดยนำบริษัทเครือญาติเข้ามาจนโดนกระแสต่อต้านและถอยไปในที่สุด นอกจากนี้ยังได้ขอเข้าจัดรายการวิทยุของ อสมท ทั้งๆ ที่ผู้บริหารคลื่นไม่ต้องการให้เข้าแต่ได้ใช้อำนาจการเป็นบอร์ดผ่านรองกรรมการคนหนึ่งสั่งการให้หาเวลาให้จัดรายการได้ในที่สุด

***“สุธรรม” โยนเผือกร้อนให้ “เอนก”

อย่างไรก็ตาม นายสุธรรม แสงประทุม ประธานกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีเรื่องที่ทาง อสมท จะใช้งบ 480 ล้านบาทเพื่อซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกทางฟรีทีวี 17 แมตช์จากทางบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์พรีเมียร์ลีกประจำปี 2556/2557-2558/2559 นั้น ในความเป็นจริงเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจากกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท คือ นายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เป็นผู้สนใจและเจรจากับทางซีทีเอชมาแต่แรกว่าอยากจะได้คอนเทนต์ดังกล่าวมาออกอากาศทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ ส่วนตนมีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ที่ อสมท จะได้รับ หากดีและคุ้มทุนมีกำไรก็พร้อมสนับสนุน ดังนั้นจึงไม่ทราบว่าทำไมตอนนี้นายเอนกจึงไม่ออกตัวกับเรื่องดังกล่าวอย่างที่เริ่มมาตั้งแต่แรก

อย่างไรก็ตาม เดิมทางซีทีเอชจะขายเฉพาะลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดเพียง 17 แมตช์เท่านั้น ส่งผลให้ 2 ช่อง อย่างช่อง3, 7 ยังไม่สนใจมากนัก แต่พอมาเสนอที่ อสมท ซึ่งบริษัทได้พิจารณาความเป็นไปได้รวมถึงขอสิทธิ์ที่จะได้เพิ่มเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมออนกราวนด์ทั่วประเทศ หรือออกอากาศสดเพิ่มเติมทั้ง 380 แมตช์ต่อฤดูกาลผ่านทางสื่อวิทยุคลื่น FM 99 Active Radio

รวมถึงสามารถหาสปอนเซอร์โฆษณาในสื่อฟรีทีวีอีกส่วนหนึ่ง ทำให้มองเห็นถึงความคุ้มทุนในการลงทุนครั้งนี้ และได้เริ่มพรีเซลไป พบว่าเจ้าของสินค้าและเอเยนซีให้ความสนใจอย่างมากจนพรีเซลได้กว่า 270 ล้านบาท หากผ่านมติบอร์ด อสมท ในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ และมีการเซ็นสัญญากับทางซีทีเอชจริง เชื่อว่าในปีแรกจะสร้างรายได้เข้ามาไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทแน่

***ประเมินการทำงาน “เอนก” สอบตก
ประธานบอร์ด อสมท กล่าวต่อว่า จะเห็นได้ว่าช่อง 9 โมเดิร์นไนน์มีคอนเทนต์ที่แข่งขันกับฟรีทีวีช่องอื่นได้ยาก โดยปัจจุบันคอนเทนต์ด้านข่าวก็เรตติ้งตกลงมา ทางแก้ไขก็ต้องนำคอนเทนต์กีฬาเข้าช่วย หากมองละครก็ต้องยอมรับว่าสู้ช่องอื่นไม่ได้ ก็ต้องนำเอาสารคดีมาช่วย ดังนั้นแผนของ อสมท จะต้องผลิตคอนเทนต์เหล่านี้ให้แข็งแกร่ง
มากขึ้นทั้งข่าวและสารคดี และดึงคอนเทนต์กีฬาเข้ามาเสริม จึงจะทำให้ อสมท สามารถแข่งขันสู่ยุคคอมเมอร์เชียลทีวีได้

เห็นได้จากรายได้ใน 2 ไตรมาสที่ผ่านมาของ อสมท ที่ตกลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2555 อย่างต่อเนื่อง โดยรายได้โทรทัศน์ของไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเทียบกับไตรมาส 4 ของปี 2555 พบว่าลดลง 15% ขณะที่ตัวเลขไตรมาส 2 นี้ยังไม่ออกมาเป็นทางการ แต่เท่าที่ดูพบว่ายังคงตกลงอยู่ เนื่องจากการทำงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่มีการปรับรายการข่าวใหม่

รวมถึงปรับโครงสร้างการทำงานภายในองค์กร ส่งผลถึงรายได้ขององค์กรที่ตกลง อีกทั้งความเด็ดขาดของอำนาจการเป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่ไม่หนักแน่นพอในการบริหารงาน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผลการประเมินการทำงาน 6 เดือนแรกของนายเอนกครั้งนี้อาจจะไม่ผ่านก็เป็นได้

“ผลงานการทำงานของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มองว่านายเอนกยังไม่ตระหนักต่อภาระที่เผชิญอยู่ เห็นได้จากผลประกอบการของ อสมท ที่ลดลง ทั้งนี้ตนยืนยันได้ว่าไม่ได้มีปัญหากับนายเอนก และที่ผ่านมาจะเป็นฝ่ายเดินเข้าหาตลอด”

*** “อสมท” ยังวิกฤตเน่าใน
นายสุธรรมกล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุสำคัญของคนใน อสมท ที่กังวลใจต่อการลงทุนที่สูงถึง 480 ล้านบาทซื้อสิทธิ์ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกในครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมา อสมท อยู่ในบทบาทของผู้ให้ไลเซนส์มากกว่า อีกทั้งมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ต่ำกว่า 60% ไม่ต้องลงทุนอะไรก็สามารถอยู่ได้ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่วงการบรอดคาสติ้งเปลี่ยนไป มีการแข่งขันที่รุนแรง อสมท ก็ต้องปรับบทบาทตัวเองเพื่อให้แข่งขันได้แต่ติดที่คนในองค์กรยังมีวัฒนธรรมองค์กรอย่างที่ผ่านมา จึงทำให้เกิดปัญหาความไม่เข้าใจ กังวลใจถึงการลงทุน

“ในความเป็นจริงเรากำลังเข้าสู่ยุคการแข่งขันสู่ความเป็นคอมเมอร์เชียลทีวี เช่นสถานี โทรทัศน์ฟรีทีวีอื่นๆ การลงทุนดังกล่าวอันจะนำมาซึ่งรายได้ กำไร และเรตติ้งรายการ จึงเป็นสิ่งที่ อสมท ควรเร่งดำเนินการให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง”

“อสมท กำลังเข้าสู่วิกฤต เพราะเป็นองค์กรที่มีอำนาจของรัฐบาลเข้ามากำกับดูแล และเปลี่ยนนโยบายตามการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลแต่ละสมัย คนในองค์กรถูกปลูกฝังจากสิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ตอนนี้ อสมท กำลังอยู่ในช่วงพะอืดพะอม เพราะมีทั้งเรื่องที่ดีและไม่ดีไว้เยอะ มีโรคแทรกซึมเยอะ จึงไปต่อไม่ราบรื่น และวันนี้กำลังแสดงออกมา ไม่รู้จะไปทางไหน

ยิ่งเข้าสู่ยุคดิจิตอลทีวี มี กสทช.เข้ามากำกับดูแล และการเปลี่ยนผ่านสู่อาเซียน ทำให้ อสมท ขณะนี้ถูกบีบทั้งภายในและภายนอก สุดท้ายทำให้ภาพรวมของ อสมท ก้าวไปข้างหน้าได้ยาก และถึงแม้จะหนักใจก็พร้อมที่จะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะนำพา อสมท ไปสู่เป้าหมาย โดยต้องนำทุกส่วนมาแก้ไขร่วมกันและก้าวไปข้างหน้าสู่เป้าหมายเดียวกัน” นายสุธรรมกล่าว

นายสุธรรมกล่าวถึงแนวทางการนำ อสมท ไปสู่เป้าหมายเดียวกันต่อว่า อสมท ในปัจจุบันถือเป็นองค์กรอ่อน ต้องปรับที่คนก่อน ยิ่งผู้บริหารอ่อนก็ไปต่อไม่ได้ จึงต้องหลอมรวมสู่เป้าหมายเดียวกัน จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล 3 ส่วน คือ 1. วางเป้าหมายองค์กรร่วมกัน 2. สร้างบุคลากรสู่เป้าหมาย 3. กลไกเครื่องมือ รวมถึงจะให้แต่ละบิสิเนสยูนิตวางแผนการดำเนินงานของตัวเอง ภายใต้ข้อกำหนดร่วมกัน และแยกกันทำงาน น่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ อสมท ก้าวสู่ยุคการแข่งขันเสรีได้


กำลังโหลดความคิดเห็น