โฆษกศาลยุติธรรมเผยเตรียมพิจารณาทบทวนการตรวจสุขภาพจิตผู้พิพากษาทุก 5 ปี ชี้ที่ผ่านมาได้แต่ตรวจสุขภาพทางร่างกายอย่างเดียวจนไม่รู้ว่าคนไหนมีอาการป่วยทางจิต เผยหากตรวจพบถือเป็นผู้ป่วยแต่ไม่ต้องถึงกับให้ออกเพราะไม่ใช่การทุจริตต่อหน้าที่
วันนี้ (8 มี.ค.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายกิติ ปิ่นงาม ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายภายในบ้านพัก สาเหตุจากโรคซึมเศร้า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ตามปกติแล้วก่อนสอบเข้าเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาจะต้องมีการตรวจร่างกายและตรวจอาการทางจิตโดยจิตแพทย์ มีบางคนสอบไม่ผ่านการตรวจทางจิต แต่เมื่อเข้ารับราชการเป็นผู้พิพากษาแล้วทำงานต่อเนื่องไปจนถึงศาลฎีกา จะมีการตรวจสุขภาพร่างการกายเพียงอย่างเดียว ไม่มีการตรวจอาการทางจิต ดังนั้นจะรู้เพียงว่าผู้พิพากษาคนใดเจ็บป่วยทางกาย แต่จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าท่านใดมีอาการป่วยทางจิต หากจะถามตนว่าทำไมจึงไม่มีการตรวจอาการทางจิต ส่วนตัวมองว่าหากดูแลรักษาร่างกายให้แข็งแรงก็จะไม่กระทบสุขภาพจิตใจ และไม่กระทบการทำงานของผู้พิพากษา การป่วยทางจิตน้อยคนนักที่จะเป็นและตรวจพบยาก ไม่เหมือนการเจ็บป่วยทางร่างกายที่พบเห็นได้ อาการทางจิตหลบซ่อนอยู่ภายใน ถ้าไม่ได้เข้ารับการตรวจกับหมอเฉพาะทางไม่มีทางรู้ได้ อย่างกรณีของท่านกิติ เท่าที่ตนทราบทางภรรยาของท่านกิติก็ไม่ทราบมาก่อน และเมื่อได้สอบถามไปยังเพื่อนร่วมรุ่นผู้ช่วยผู้พิพากษารุ่นที่ 29 และเพื่อนผู้พิพากษาในแผนกคดียาเสพติดในศาลอุทธรณ์ ทราบว่าท่านกิติเป็นปกติ ไม่มีอาการเก็บเนื้อเก็บตัว ร่าเริง ไม่มีอาการส่อไปในทางที่จะป่วยทางจิต ซึ่งบรรดาผู้พิพากษาและเพื่อนๆ รู้สึกตกใจมากที่ต้องสูญเสียทรัพยากรที่มีคุณค่า ท่านกิติเป็นผู้พิพากษาที่ซื่อสัตย์ สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย อาจป่วยแบบเฉียบพลัน ซึ่งไม่ใช่คนแรกที่กระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเอง
นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า ทราบว่าขณะนี้มีผู้พิพากษาที่มีอาการเจ็บป่วยทางจิตอยู่ในศาลบ้าง แต่ทางคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ (ก.ต.) ก็ไม่จำเป็นต้องให้ออกจากราชการ เนื่องจากถือว่าเป็นผู้ป่วย ไม่ใช่กรณีทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ก็จะให้ทำงานเบาๆ แล้วไปรักษาตัว จะไม่ปล่อยให้ผู้พิพากษาที่ป่วยทางจิตไม่ปกติไปตัดสินคดีชี้เป็นชี้ตาย หรือตัดสินข้อพิพาทต่างๆ หากไม่อยู่ในวิสัยที่จะสามารถทำงานได้ก็สามารถลาป่วยไปรักษาได้ ถ้ารักษาหายเป็นปกติและสามารถพิสูจน์ตัวเองเขียนคำพิพากษาได้ ปฏิกิริยา ปฎิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเป็นปกติ ก็สามารถที่จะรับราชการต่อและได้รับการเลื่อนชั้นได้
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าอาจจะต้องนำกรณีของท่านกิติ เสนอนายไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา นำเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ดผู้บริหาร หารือทบทวนเรื่องการตรวจสุขภาพจิต ส่วนตัวเห็นว่าอาจจะมีการกำหนดให้ตรวจทุกๆ 5 ปี หรือก่อนเลื่อนตำแหน่ง อาจจะต้องทำการทดสอบสุขภาพจิต โดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาเบื้องต้นก็พอจะทราบได้ เพราะปัจจุบันผู้พิพากษาทำงานท่ามกลางความขัดแย้งของคู่ความ เผชิญความเครียดทุกวัน เปรียบเสมือนทำงานท่ามกลางมลภาวะค่อยๆ สะสมเข้าไปในร่างกาย ถึงจุดหนึ่งก็จะปรากฏอาการ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของตนเองว่ามีมากน้อยเพียงใด งานผู้พิพากษาบั่นทอนสุขภาพ ร่างกาย อายุผู้พิพากษาให้เจ็บป่วยมากขึ้น อายุยืนน้อยลง ผู้้พิพากษาศาลชั้นต้นต้องสืบพยานก็เครียด เขียนคำพิพากษาก็เครียด ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาก็ต้องตัดสินคดีเดือนละกว่า 10 คดี ก็อาจเกิดอาการเครียดไม่รู้ตัว ซึ่งผู้พิพากษาทุกคนเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าขององค์กรศาลยุติธรรม