ตรงเป้า
ศรรามา
หลบๆ เลี่ยงๆ ไม่ยอมรับถูกทาบทามให้ลงสมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มาหลายเดือน ในที่สุด “จูดี้” พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และอดีตเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ก็โผล่หัวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ สวมเสื้อเพื่อไทย ลงสมัครรับเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” ครั้งนี้
เพราะแม้ก่อนหน้านี้ เมื่อหลายเดือนมีกระแสข่าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นักโทษหนีคดีที่ดินรัชดาฯ พี่ชาย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เลือกให้ พล.ต.อ.พงศพัศเป็นตัวแทนพรรคเพื่อไทย และ นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ก็สนับสนุน
รวมทั้งมีข่าวว่า พล.ต.อ.พงศพัศ ก็ตบปากรับคำเรียบร้อย ด้วยเหตุผลจะได้อยู่ในใจผู้ใหญ่ แต่เจ้าตัวก็ปฏิเสธมาตลอด อ้างยังไม่มีใครทาบทาม ยังไม่มีความคิด อยากทำหน้าที่เลขาฯ ป.ป.ส.ให้ได้ที่ก่อน
สุดท้ายข่าวลือข่าวเล่าว่า ก็กลายมาเป็นข่าวจริง ทุกอย่างที่ถูกปัดถูกตอกหน้า ไปเอาข้อมูลมาจากไหน เรื่องไม่เป็นความจริง ก็สะท้อนกลับอะไรจริง อะไรลิงหลอกเจ้ากันแน่
ถึงจะลับ ลวง (แหล)...เอ้ย หลอก กันแค่ไหน ด้วยเหตุผลอะไร แต่ก็ดูเหมือนพอตั้งแต่เปิดหน้าเปิดตัวลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่วัน หลายปม หลายคำถาม ที่เคยค้างคาใจในหลายๆ กรณีเกี่ยวกับ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็ถูกจุดถูกผุดขึ้นมาให้สังคมรับรู้รับทราบกันเป็นเข่งๆ
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขโมยวิทยุที่สหรัฐอเมริกา เมื่อครั้งได้ทุนไปศึกษาวิชาอาชญาวิทยา เมื่อปี 2523 จน พล.ต.อ.พงศพัศ ต้องรีบเดินทางเข้าเคลียร์กับกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) เพื่อชี้แจงคุณสมบัติ และแสดงความบริสุทธิ์ใจ
“กรณีนี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีการตรวจสอบและยุติเรื่องนี้ไปแล้ว เมื่อปี 2543 โดยขอยืนยันว่า ผมบริสุทธิ์ และถูกให้ร้ายมานานนับสิบปี”
เช่นเดียวกับเรื่องการเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามจาก “ไพรัช”มาเป็น “พงศพัศ” เพื่อหลบเลี่ยงการขอเข้ารับพระราชทานยศ เจ้าตัวก็ต้องออกมาชี้แจง
“ได้มีการเปลี่ยนชื่อ หลังจากที่ได้รับพระราชทานยศแล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามที่มีกระแสข่าวถูกกล่าวหา”
นอกจากนี้ เรื่อง “บิ๊กขี้หลี”ที่มีชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ เข้าไปเกี่ยวข้องถึงขนาดวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ซึ่งเป็นเว็บไซต์ค้าหาข้อมูลต่างๆ มีการนำเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับคดีนี้เข้ามาอยู่รวมในการค้นหาประวัติ พล.ต.อ.พงศพัศ
เนื้อหาวิกิพีเดีย ระบุไว้ว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2548 นางสาวเกวลิน กังวานธนวัต ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี ได้ให้การในฐานะพยานจำเลยในคดีที่ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก และพวกรวม 17 คน ทั้งหมดเป็นสื่อมวลชนและนักพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ) เป็นจำเลย ในคดีแพ่ง ข้อหาหมิ่นประมาท กรณีการเสนอข่าวข้าราชการชั้นผู้ใหญ่มีพฤติกรรมลวนลามนักข่าวสาว หรือ “บิ๊กขี้หลี” ซึ่งเสนอข่าวว่า พล.ต.ท.พงศพัศ พงษ์เจริญ (ยศขณะนั้น) เข้าไปจับแขนและพาไปพบนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ โดย พล.ต.อ.สันต์ เรียกค่าเสียหาย 2,500 ล้านบาท ตามคดีหมายเลขดำที่ 3968-3977/2547
นางสาวเกวลิน กังวานธนวัต ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ ทีวี เป็นพยานปากเอกในคดี “บิ๊กขี้หลี” เปิดเผยพฤติกรรมอดีต ผบ.ตร.ระหว่างร่วมประชุม ครม.สัญจรที่ภูเก็ต-อุบลราชธานี ศาลแพ่งได้พิจารณาเห็นว่าการเสนอข่าวของสื่อมวลชนเป็นไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง จึงมีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าว
เสียงระฆังแห่งการชิงชัยสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม.ยังไม่ทันสั่นระฆังเริ่มชก ก็ดูเหมือนจูดี้จะต้องเผชิญกับมรสุมหลายลูก แต่กระนั้นทุกข้อสงสัย ทุกข้อครหาต่างๆ ก็ดูเหมือนจะไม่ใช่สารสำคัญแสดงตัวตนคนชื่อพงศพัศที่อาสามารับใช้คนเมืองกรุง เพราะทุกเรื่องราวล้วนมีที่มาและมีที่ไป รวมทั้งมีจุดจบหมดแล้ว
สิ่งที่จะสะท้อนตัวตนคนชื่อพงศพัศ และน่าจะมีประโยชน์ให้กับคนเมืองหลวง ได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.แห่งพรรคเพื่อไทยรายนี้ น่าจะเป็นเสียงสะท้อนจากกลุ่มผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม หรือนักข่าวสายตำรวจ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานใกล้ชิด และเห็นพฤติกรรมต่างๆ ของ พล.ต.อ.พงศพัศ มาตลอด โดยสะท้อนออกมาจากการตั้งฉายาในแต่ละปี
นั่นคือ ปฐมบทแห่งการเป็นข้อมูลในการรู้จักตัวตนคนชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ
เริ่มกันตั้งแต่ฉายาตำรวจประจำปี 2555 ปีล่าสุด สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย มีการตั้งฉายาให้กับตำรวจหลายราย และหนึ่งในนั้นก็มีชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ ได้รับฉายา “จูดี้ อีเว้นท์”
ด้วยเหตุผล เนื่องจากการจะมีโครงการออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็สามารถทำให้เป็นข่าวได้ และได้รับการนำเสนอข่าวทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี เปรียบเสมือนกับนักจัดอีเวนต์มือทอง
ย้อนหลังไปในปี 2554 คราวนี้เป็นกลุ่มสื่อมวลชนประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้ตั้งฉายานายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฉายาสำนักงานตำรวจแห่งชาติประจำปี 2554 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งฉายาเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็ติดโผได้รับฉายา “วอลเปเปอร์หลงวิก” โดยนักข่าวประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มนักข่าวที่ทำงานใกล้ชิด พล.ต.อ.พงศพัศ และเห็นตัวตนมากที่สุด ต่างให้เหตุผลอธิบายฉายา “วอลเปเปอร์หลงวิก” ไว้ ได้อย่างน่าสนใจ
“พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นนายตำรวจที่ประชาชนรู้จักมากที่สุด เนื่องจากออกสื่อได้ตรงจังหวะเวลาเสมอ จนรัฐบาลเชิญไปเป็นโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย หลังจากนั้น จะเห็น พล.ต.อ.พงศพัศ ยืนอยู่ด้านหลังของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสมอ หากความจริงแล้ว พล.ต.อ.พงศพัศ จะต้องยืนอยู่หลัง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ (ดามาพงศ์) มากกว่า เพราะเป็น ผบ.ตร.”
ปี 2553 ยุค พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็น ผบ.ตร.และมีรัฐบาลภายใต้การบริหารของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ บทบาทของ พล.ต.อ.พงศพัศ จึงไม่โดดเด่นเข้าตา จนสื่อมวลชนสายอาชญากรรมเลือกมาตั้งฉายาประจำปี
ถอยมาปี 2552 ซึ่งเป็นปีแรกที่สมาคมสมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย จัดให้มีการสะท้อนการทำงานของตำรวจผ่านการตั้งฉายา พล.ต.อ.พงศพัศ ซึงขณะนั้นยศ พล.ต.ท.และทำหน้าที่โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือเป็นผู้มีบทบาทในการทำงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่าง เพราะทำหน้าที่โฆษกให้กับองค์กรตำรวจมาหลายสมัยตั้งแต่ยุค พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา พล.ต.อ.พรศักดิ์ ดุรงควิบูลย์ พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส จนกระทั่ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ขึ้นมาเป็น ผบ.ตร.ไม่ได้ใช้บริการของ พล.ต.ท.พงศพัศ โดย ผบ.ตร.อ้างว่า โฆษกพงศพัศ เดินเร็วจนตนเองตามไม่ทัน หลังจาก พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ขึ้นมาทำหน้าที่รักษาราชการแทน ผบ.ตร. พล.ต.ท.พงศพัศ ก็กลับมาทำหน้าที่โฆษกฯ อีกครั้ง
นอกจากจะทำหน้าที่ในการให้ข้อมูลข่าวสารแถลงข่าวในเรื่องต่างๆ และดูแลบรรเทาทุกข์ให้กับประชาชนโดยส่วนรวม จนเป็นที่รู้จักของประชาชนแม้แต่เด็กตัวเล็กๆ ว่าไปแล้วไม่ต่างอะไรกับ "ดารา" ประกอบกับหน้าตาที่หล่อเหลาออกทีวีเกือบทุกวัน สื่อมวลชนจึงให้ฉายาว่า“ดาราสีกากี”