ศาลยุติธรรมแถลง ผลงาน ปี 2555 พิจารณาคดีแล้วเสร็จ กว่า 1 ล้านคดี มุ่งเน้น สิทธิผู้ต้องหา สร้างความเชื่อมั่น และพิพากษาคดีด้วยความรวดเร็ว ย้ำ ผู้พิพากษาทำหน้าที่อย่างซื่อตรง สร้างความเป็นธรรมใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
ที่ห้องประชุมสำนักงานศาลยุติธรรม ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (11 ม.ค.) นายสิทธิศักดิ์ วนะชกิจ โฆษกศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2555 ว่า จาการข้อมูลสถิติคดีของศาลชั้นต้นมีทั้งหมด 1,035,177 คดี โดยเมื่อรวมกับคดีที่ค้างมากับปีก่อนเป็นจำนวน 1,206,528 คดี คดีพิจารณาแล้วเสร็จ 1,046,052 คดี คิดเป็น 86.70% แยกเป็นคดีอาญา 502,807 คดี คดีแพ่ง 532,370 คดี คดีอาญาเยาวชน 25,718 คดี คดีผู้บริโภค 317,276 คดี และคดีล้มละลาย 6,827 คดี ข้อสังเกตคือ ในรอบ 3 ปีมีคดีเกิดขึ้น และฟ้องต่อศาลยุติธรรมประมาณ 3 ล้านคดีต่อปี หากประชากรของประเทศมี 70 ล้านคนเท่ากับว่า 70 คน เป็นความ 1 คน ขณะที่สถิติคดีแพ่งและคดีอาญาข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณา 1-5 อันดับ ตั้งแต่ ต.ค.2554 - ก.ย.2555 คือ ในคดีแพ่ง คือ 1.ขอจัดการมรดก จำนวน 79,031 ข้อหา 2.ละเมิด จำนวน 21,947 ข้อหา 3.ยืม จำนวน 11,933 ข้อหา 4.ซื้อขาย จำนวน 6,231 ข้อหา และ5.ขับไล่ จำนวน 5,604 ข้อหา ส่วนคดีอาญา อันดับ 1.พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 273,476 ข้อหา 2.พ.ร.บ.จราจรทางบก 132,532 ข้อหา 3.พ.ร.บ.การพนัน 49,572 ข้อหา 4.พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน ฯลฯ 32,323 ข้อหา 5.ความผิดฐานลักทรัพย์ 28,127 ข้อหา
ส่วนสถิติของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาในปี 2555 คดีที่มีการอุทธรณ์ทั้งหมด 10 ศาล จำนวนคดี 45,875 คดี คิดเป็น 4.45% ของคดีทั้งหมด ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีแล้วเสร็จ 53,719 คดี คิดเป็น 71.79% ของคดีที่มีการยื่นอุทธรณ์เข้ามา คงคดีค้าง 21,109 คดี ส่วนศาลฎีกา มีการฎีกาคดีสู่ศาลฎีกาในปี 2555 มีจำนวนคดี 13,294 คดี คิดเป็นร้อยละ 28 ของคดีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาทั้งหมด มีการพิจารณาแล้วเสร็จ 17,639 คดี คงคดีค้าง 33,616 คดี
ซึ่งการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นภารกิจหนึ่งตามกฎหมายและตามแผนยุทธศาสตร์ของศาลยุติธรรม ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้ดุลพินิจ หรืออำนาจหน้าที่ของบุคคลหรือองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่กระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ซึ่งสถิติการปล่อยตัวชั่วคราวในปี 2555 มีคำร้องที่ยื่น 238,074 คำร้อง มีการอนุญาตให้ปล่อยทั้งหมด 221,167 คำร้อง คิดเป็น 92.89% ไม่อนุญาต 16,907 คำร้อง
ขณะที่การออกหมายจับ มีคำร้องที่ยื่นทั้งหมด 51,879 คำร้อง อนุญาตให้ออกหมายจับ 49,263 คำร้อง คิดเป็น 94.95% จับได้ 3,239 คำร้อง จับไม่ได้ 1,153 คำร้อง ไม่ได้รายงาน 44,820 คำร้อง ส่วนการขอออกหมายค้น มีคำร้องที่ยื่น 57,837 คำร้อง ศาลอนุญาต 55,964 คำร้อง คิดเป็น 96.76% ไม่อนุญาต 1,866 คำร้องคิดเป็น 3% ค้นได้ 12,061 คำร้อง ค้นไม่ได้ 15,732 คำร้อง ไม่ได้รายงาน 28,171 คำร้อง
ส่วนเรื่องการระงับข้อพิพาท นั้นศาลยุติธรรมชั้นต้นใช้รูปแบบพิจารณาต่อเนื่อง โดยนัดคดีแต่เริ่มฟ้องถึงตัดสินคดี ระหว่าง 1-2 ปี ดังนั้น ระหว่างรอคดีเข้าสู่การพิจารณา ศาลยุติธรรมจึงใช้กระบวนการไกล่เกลี่ยสมานฉันท์ มาเป็นทางเลือกในการอำนวยการความยุติธรรมแก่คู่ความ ทั้งนี้ โดยมีผู้ประนีประนอมประจำศาลยุติธรรมชั้นต้นทุกแห่ง มาทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลยุติธรรมในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท โดยตั้งแต่ ต.ค.54 -ก.ย.55 มีคดีแพ่งเข้าสู่การไกล่เกลี่ย จำนวน 172,920 คดี ซึ่งไกล่เกลี่ยสำเร็จ 129,952 คดีคิดเป็น 75.37% ของคดีทั้งหมดไม่สำเร็จ 17,278 คดีคิดเป็น 24% จำหน่ายคดี 17,276 คดี โดยทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 236,980,651,439.01 บาท ขณะที่ศูนย์สมานฉันท์และสันติวิธีคดีอาญา มีจำนวนคดีไกล่เกลี่ย 10,335 คดี ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 5,813 คดี ไม่สำเร็จ 2,235 คดี จำหน่ายคดี 1,353 คดี ถอนฟ้อง 5,205 คดี ยอมความ 10,256 คดี
การนำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาใช้ในศาล โดยปัจจุบันศาลชั้นต้นและศาลสูงได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการทำงานของผู้พิพากษา ข้าราชการศาล และบริการประชาชน อาทิ ศาลทั่วประเทศมีบัญชีนัดความที่ดูผ่านโทรทัศน์จอ LED มีระบบจอ Touch screen ที่คู่ความหรือประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลคดีของตนเองได้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์บางภาคกับศาลชั้นต้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ทางไกลผ่านจอภาพ) และมีระบบการผัดฟ้องฝากขังผ่านโทรทัศน์เทคโนโลยีสมัยใหม่ระหว่างศาลกับเรือนจำไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหาจำเลยมาศาล
ด้านการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพของพลเมืองในจังหวัดชายแดนใต้ ที่เมื่อเกิดความไม่สงบเรียบร้อยยังมีอยู่ และมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้เกิดคดีความเป็นจำนวนมากขึ้นและเป็นคดีอุกฉกรรจ์ นโยบายของศาลยุติธรรมจึงเน้นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดีด้วยการกำหนดให้มีผู้พิพากษาที่มีอาวุโสอายุงาน 10-15 ปี อยู่ในพื้นที่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดี สั่งประกันให้คู่ความเกิดความมั่นใจกว่า ผู้พิพากษาเจ้าของคดีมีทั้งความรู้และประสบการณ์ สามารถใช้ดุลพินิจได้ถูกต้อง แม่นยำ และเที่ยงธรรม โดยยังได้มีมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาความปลอดภัยในจังหวัดชายแดนใต้ ให้มีเครื่องมือตรวจอาวุธ ตรวจหาวัตถุระเบิดใต้ท้องรถยนต์ และให้มีกล้องวงจรปิด บันทึกเหตุการณ์ ในบริเวณศาล ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของคู่ความและประชาชนที่มาศาล
โดยโครงการศาลยุติธรรมเพื่อประชาชน เป็นการเปิดทำการศาลนอกเวลาราชการ (วันเสาร์ - อาทิตย์ และภาคค่ำ) เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่คู่ความและประชาชนที่ไม่สามารถมาศาลได้ในวันเวลาราชการ เนื่องจากต้องทำงานหาเลี้ยงชีพ ซึ่งปัจจุบันมีศาลชั้นต้นที่เข้าร่วมโครงการ 131 ศาล โดยผลสำเร็จเป็นที่หน้าพอใจ ซึ่งที่ผ่านมามีคดีที่เข้าร่วมโครงการแล้วเสร็จจำนวน 72,903 คดี
การให้ประชาชนประชาชนเข้าถึงศาลและกระบวนการยุติธรรม ในปี 2556 โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1 เม.ย.2556 ศาลยุติธรรม จะเปิดทำการศาลจังหวัดหัวหิน ที่แยกออกมาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และศาลจังหวัดเวียงสระ ที่แยกออกมาจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อบริการประชาชนในท้องที่ ที่มีการคมนาคมที่ห่างไกล ไม่สะดวก
นโยบายสำคัญของศาลยุติธรรมในปี 2556 1.ยึดถือตามนโยบายของประธานศาลฎีกา คือ ผู้พิพากษาต้องพิจารณาพิพากษาคดีให้รวดเร็ว เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ 2.เสริมสร้างพัฒนาจิตสำนึกและคุณภาพในการให้บริการประชาชนของข้าราชการศาล 3.ให้ดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต หนักแน่น มีคุณธรรมจริยธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ 4.การรับจ่ายเงินในคดีผ่านบัญชีธนาคาร การจ่ายเงินรางวัลทนายความที่ปรึกษากฎหมายให้รวดเร็วขึ้น 5.โครงการเผยแพร่ความรู้กฎหมายสู้เยาวชนในสถานศึกษาและประชาชน 6.โครงการเยาวชนไทยหัวใจเดียวกัน (จังหวัดชายแดนใต้) 7.บัลลังก์แบบไม่เผชิญหน้าระหว่างจำเลยกับผู้เสียหาย 8.ดูแล คุ้มครองสวัสดิภาพ สตรี เด็ก เยาวชน สิทธิตามกฎหมายและหลักการสากล
ทั้งนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยเป็นไปตามนโยบายของประธานศาลฎีกา ขณะนี้มีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดย ก.บ.ศ.มาดูแลระบบการศาลเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 สิ่งที่ศาลยุติธรรมได้ดำเนินการไว้แล้ว อาทิเช่น 1.การประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างเจ้าหน้าที่สถานฑูตในประเทศอาเซียน 2.ศาลชำนัญพิเศษมีการเตรียมความพร้อมเชิญวิทยากรต่างประเทศมาสนทนาแลกเปลี่ยนประเด็นทางกฎหมายและระบบที่ต้องปรับเปลี่ยน 3.โครงการอบรมล่ามอิสระ 4.คู่มือการแนะนำศาลทั่วราชอาณาจักรเป็นภาษาอังกฤษ 5.เว็บไซต์ศาลชื่อศาลเป็นภาษาอังกฤษ 6.อบรมภาษาอังกฤษ ภาษาท้องถิ่น เช่น ยาวี แก่ข้าราชการศาลทั่วประเทศ 7.จัดประชุมกับผู้นำหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ระบบใหม่ 8.มีทุนฝึกอบรมสำหรับข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม