ตรงเป้า
ศรรามา
หลังจากงัดข้อเอาเป็นเอาตาย เรื่องส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.ในที่สุดก็ตกลงกันได้ ที่ประชุมพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2556 ลงมติให้ พล.ต.อ.พงศพัศ พงศ์เจริญ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานป้องกันปราบปรามยาเสพติด เป็นตัวแทนพรรคลงชิงชัย
แม้ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรค ยังอุบชื่อ พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่ยอมเปิดเผยกับสื่อ แต่ก็เป็นที่รู้กันมานาน ถ้าเพื่อไทยไม่ส่ง คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ก็ต้องเป็น พล.ต.อ.พงศพัศ เพราะทอดสายตาไปทุกซอกหลืบของเพื่อไทย ไม่มีใครที่เหมาะสมไปกว่านี้แล้ว
ก่อนหน้านั้น มีชื่อ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งคนกรุงเทพฯ ไม่เคยรู้จักมาก่อนแม้กระทั่งชื่อ จู่ๆ โผล่มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม แค่ชั่ววูบก็ทะยานขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ นายชัชชาติ รู้ตัวดีว่า ถูกส่งไปขึ้นเขียงชัดๆ เลยชิ่งหนีไปอาศัยร่มเงาบ้านจันทร์ส่องหล้า ผู้มีพระคุณอันสูงสุด เจ้าแม่ไลน์อิตัลไทย
ก็ นายชัชชาติ นี่แหละที่รัฐบาลหลับหูหลับตา แต่งตั้งเป็นประธานแก้ไขปัญหาการจราจรเมืองหลวง มีนักข่าวไปถามว่า รถคันแรกนับแสนนับล้านคัน เป็นปัญหาการจราจรและจะแก้กันอย่างไร รัฐมนตรีตาชั้นเดียวแต่เป็นลูกพลตำรวจเอกตอบว่า “ไม่เกี่ยวกัน” แหม....ถ้าลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.จะได้คะแนนซักกี่หมื่น
อันที่จริงคนที่ชี้ขาดว่าใครสมควรจะได้เป็นตัวแทนพรรคนั้น ไม่ใช่ยักษ์หรือเทวดาหน้าไหนในเพื่อไทยทั้งสิ้น เพราะอยู่ที่ประกาศิตของเขาคนเดียว “ทักษิณ ชินวัตร” ผู้มีชนัก “นักโทษหนีคุก” ปักกลางหลัง
ทักษิณส่งสัญญาณมาถึงบริวารทั้งหลายทั้งปวง รวมทั้งขี้ข้าทุกกลุ่มก๊วนแล้ว ระบุชัดเจน พล.ต.อ.พงศพัศ มีความเหมาะสมมากกว่าคุณหญิง สุดารัตน์ เป็นการชี้ขาดตัดปัญหาความขัดแย้งอย่างสิ้นเชิง วันต่อมาเพื่อไทยจึงประชุมพรรคลงมติเลือก พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นตัวแทน
พล.ต.อ.พงศพัศ ต้องลาออกจากตำแหน่งทางราชการ ต่อไปนี้ไม่อาจ “แอบแฝงหาเสียง” เหมือนพฤติกรรมที่ผ่านมาในตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส.ถ้าจะอ้างว่าเป็นการทำงานในหน้าที่ก็อ้างได้ แต่ พล.ต.อ.พงศพัศ ย่อมรู้ดีแก่ใจตัวเอง
แม้กระทั่งการนำเงิน 1 แสนบาท ไปให้มูลนิธิไทยรัฐ มีรูปลงหน้า 4 หรา ชาวประชาเลยข้องใจใคร่ถาม “หนึ่งแสนบาทนั้นเป็นเงินส่วนตัวหรือเปล่า” ถ้าเป็นเงินส่วนตัวก็ไม่ว่าอะไร เพราะหนึ่งแสนก็คุ้มค่ากับได้ลงรูปหน้า 4 ไทยรัฐ หรือว่าเป็นเงินของ ป.ป.ส. เพราะเห็นมีบิ๊กสีกากีอย่าง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ยืนเคียงข้างเป็นสักขีพยาน ถ้าเป็นเงินหลวงไม่แคล้วถูกประชาธิปัตย์ทะลวงไส้แน่นอน
อันที่จริง พล.ต.อ.พงศพัศ ก็จัดอยู่ในหมวดหมู่ “ตำรวจน้ำดี” ไม่มีประวัติเสื่อมเสียเรื่องรีดไถ ส่วนเรื่องอื่นก็ว่ากันไปเท่าที่แต่ละคนรับรู้รับทราบ
พล.ต.อ.พงศพัศ หรือ ไพรัช ในอดีต เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 31 รุ่นเดียวกับ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.เรืองศักดิ์ จริตเอก ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศ
พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นนายเวรคู่บุญบารมีของ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ ยาวนาน ตั้งแต่ พล.ต.อ.แสวง เป็นผู้บัญชาการนครบาล ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ รองอธิบดีกรมตำรวจ และอธิบดีกรมตำรวจ จากนั้นเป็นอาจารย์วิชาทหารและการฝึก ร.ร.นายร้อยตำรวจ, ผู้กำกับการวิจัย กองวิจัยและวางแผน, รองผู้บังคับการศูนย์ข่าวสาร, รองผู้บังคับการกองวิชาการ ร.ร.นายร้อยตำรวจ, กลับมาเป็นรองผู้บังคับการศูนย์ข่าวสารอีกครั้ง
เป็นผู้บังคับการกองสารนิเทศ เมื่อเดือนตุลาคม 2538 แต่ตัวเองยังครองยศพันตำเรวจเอกไม่เต็มขั้น จึงเป็นแค่ผู้รักษาการในตำแหน่งผู้บังคับการ เลื่อนเป็นผู้บังคับการศูนย์ข่าวสาร ตุลาคม 2542, ผู้ช่วยผู้บัญชาการสำนักงานแผนงาน, รองผู้บัญชาการสำนักงานนโยบายและแผนงาน, รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง,
ตุลาคม 2547 เป็นพลตำรวจโท ตำแหน่งผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ทำหน้าที่ประสานงานนายกรัฐมนตรี กับกระทรวงมหาดไทย, ผู้บัญชาการ ร.ร.นายร้อยตำรวจ, ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ที่ปรึกษา สบ10, รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเป็นเลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด มีกำหนด 1 ปี
ว่ากันตามตรง โดยเนื้อแท้แล้ว พล.ต.อ.พงศพัศ ไม่อยากลงสมัคร เพราะต้องลาออกจากราชการ ทั้งๆ เก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นอยู่รำไร ปลายปี 2557 พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เกษียณอายุราชการ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาวุโสอันดับ 1 ก็เกษียณ เหลือตัวเอง กับ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญ
ชาการตำรวจแห่งชาติ ที่อาวุโสเท่ากันและเกษียณพร้อมกันในปี 2559 แต่ พล.ต.อ.พงศพัศ มีภาษีเหนือกว่าเยอะ ด้วยใกล้ชิดกับพรรคเพื่อไทย จัดอยู่ในกลุ่มก้อน
“มีวันนี้เพราะพี่ให้”
ทำไมทักษิณไม่เอาคุณหญิง สุดารัตน์ เพราะทักษิณรู้ดีว่าคนกรุงเทพฯ รู้จัก “หญิงหน่อย” ไม่ด้อยกว่า พล.ต.อ.พงศพัศ แต่เมื่อดูทิศทางลมแล้ว ทักษิณไม่มั่นใจ ด้วยคุณหญิง สุดารัตน์ นั้น เคียงคู่เคียงข้างทักษิณมายาวนาน ถ้าเจ๊หน่อยปราชัยในสนามเลือกตั้งแห่งนี้เป็นครั้งที่สอง ก็หมายความว่า เจ๊หน่อยไม่ต้องหวนกลับมาสู่แวดวงการเมืองอีก ทักษิณคงยังเห็นคุณค่าของคุณหญิง สุดารัตน์ จึงเก็บไว้ใช้งานในรัฐบาลชุดนี้ โดยให้คำมั่นสัญญากับบริวารเจ๊หน่อย เตรียมเก้าอี้รัฐมนตรีไว้ให้ ในโอกาสปรับรัฐมนตรีคราวหน้า หรืออาจเป็นเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีก็ได้
ทางด้าน พล.ต.อ.พงศพัศ แม้จะรู้ว่าตัวเองเป็น “หุ่นเชิด” ของพรรคเพื่อไทย แม้จะรู้ผลการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ก็ต้องจำยอมรับสภาพนั้น โดยปลอบใจตัวเอง “อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด” รวมทั้งได้เจรจากับ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เรียบร้อยแล้ว
ถ้าสอบได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าสอบตกจะกลับไปสวมเครื่องแบบตามเดิม อายุรับราชการมันก็ไม่ต่อเนื่อง แล้วจะได้ตำแหน่งอะไร สุดท้ายทักษิณก็ยกเก้าอี้รัฐมนตรีมาล่อเป็นกำลังใจ
พล.ต.อ.พงศพัศ จึงกลายเป็น “หนังหน้าไฟ” ของทักษิณไปโดยปริยาย ซึ่งคำว่าหนังหน้าไฟนี้ ก็เป็นที่รู้กันทั่วว่า ย้อนยุคกลับไปซัก 50 ปี ก่อนการเผาศพเศรษฐีผู้มีอันจะกิน จะมีหนังกลางแปลงให้ชาวบ้านดู พล.ต.อ.พงศพัศ รู้ไหม.