ผบช.น. เชื่อการคัดค้านของพนักงานสอบสวน ในการลงไปปฏิบัติหน้าที่เป็นความประสงค์ของพนักงานสอบสวนที่รวมกลุ่มกันมา ลั่นเป็นตร.ต้องมีระเบียบวินัยและทำตามนโยบาย
วันนี้ (28 ธ.ค.) เวลา 10.30 น. ที่ห้องประชุมใหญ่ กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจพนักงานสอบสวนในนครบาลกว่า 100 นาย กรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางให้มีการจับฉลากเพื่อคัดพนักงานสอบสวนไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนโยบายให้พนักงานสอบสวนทั่วประเทศจำนวน 6 พันนาย ต้องจับสลากเพื่อหาคน 150 คน ลงไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่า การคัดค้านของพนักงานสอบสวนในการลงไปปฏิบัติหน้าที่เป็นความประสงค์ของพนักงานสอบสวนที่รวมกลุ่มกันมา ซึ่งเข้าใจชีวิตว่ามันต้องเปลี่ยนไปหลังจากลงไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ครอบครัวของเขาเดือดร้อนก็เข้าใจ แต่ตำรวจต้องมีระเบียบวินัยและเชื่อฟังคำสั่งของผู้บังคับบัญชา เมื่อเป็นนโยบายลงมาทางบช.น.ก็ต้องทำตามนโยบาย และมาชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่
“ผมเองก็สมัครใจออกจากกองปราบฯ ไปอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้เพื่อตั้งเป้าเป็นผู้บังคับการจังหวัดนราธิวาส เมื่อครั้งรับตำแหน่งที่นั้นชีวิตความเป็นอยู่ได้เปลี่ยนไป ทั้งการกิน การนอน การทำงาน ซึ่งเข้าใจว่าส่วนใหญ่ไม่อยากไป ขณะเดียวกันจะสอบปากคำเจ้าหน้าที่พนักงานสอบสวนว่าให้การอย่างไร ก่อนเสนอผู้บังคับบัญชาต่อไป”พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าว
พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวต่อว่า ส่วนที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกว่า พนักงานสอบสวนที่ลงชื่อคัดค้านนั้นให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ซึ่งให้ พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รอง ผบช.น. เรียกมาสอบปากคำกันทุกนาย ส่วนจะผิดจะถูกก็ว่ากันไป ยืนยันว่าให้การเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ส่วนมีผู้ใหญ่มาวิ่งเต้นว่าอย่าให้คนนี้ไป คนโน้นไป เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ซึ่งทุกคนต้องจับเหมือนกันหมด
ด้าน พ.ต.ท.มนต์ชัย ประทีปพรศักดิ์ พนักงานสอบสวน (สบ 2) สน.บางคอแหลม กล่าวว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้รวมตัวกันยื่นเรื่องร้องเรียนแต่อย่างใด เพียงแต่มาชี้แจงว่า ตนอายุมากแล้วและป่วยเป็นเส้นเลือดในสมองแตกร่างกายซีกขวาทำงานไม่ได้มากนัก เป็นมาประมาณ 4 ปี ซึ่งในวันนี้ผู้บังคับบัญชาสั่งให้มาก็ต้องมาแต่อยากให้เห็นความเป็นจริงว่าตนมีสภาพอย่างนี้ โดยคงทำได้แค่รอดูคณะกรรมการว่ามีวิธีการตรวจสอบอย่างไร แต่ยังไม่รู้ว่ามีข้อสรุปอย่างไร อีกทั้ง เชื่อว่าทุกคนที่มาต้องมีเหตุผลทุกคน ไม่ได้ต้องการคัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาแต่อย่างใด สำหรับตนถ้าหากไปอยู่ที่ภาคใต้มีผลกระทบต่อครอบครัวแน่นอน
ด้าน พล.ต.ต.อนุชัย เล็กบำรุง รองผบช. กล่าวว่า วันนี้มีการประชุมเพื่อหารือกำหนดแนวทางในการคัดเลือกพนักงานสอบสวนทั้งหมด 383 นาย ในนครบาลทั้งหมด 25 นาย ขณะนี้มีผู้สมัครใจแล้วทั้งหมด 10 ราย แต่เหลือจำนวนที่คัดเลือกผู้เหมาะสมอีก 15 ราย นอกจากนี้ จะหารือเพื่อจัดกลุ่มพนักงานสอบสวนที่ไม่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ อาทิ ป่วย หรือมีเหตุผลอันควรเหมาะสมที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ทางบช.น.จะดำเนินการจับฉลากเพื่อคัดเลือกพนักงานสอบสวนในวันที่ 3 ม.ค. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ยังมีการพูดถึงกรณีนโยบายดังกล่าวที่ออกมาว่าจะให้พนักงานสอบสวนกว่า 6,000 นาย ที่ถูกคัดเลือกลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งหมด 150 นาย เป็นระยะเวลา 2 ปี จะให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเดิมที่เคยปฏิบัติ จึงทำให้พนักงานสอบสวนหลายคนไม่พอใจ เนื่องจากเข้าใจว่าหากได้สิทธิ์ทวีคูณมาแล้วต้องกลับมาทำงานประจำอยู่ในตำแหน่งเดิมและไม่มีตำแหน่งระดับอื่นที่ดีกว่ารองรับในหน่วยงานสังกัดเดิม ภายหลังได้ไปปฏิบัติหน้าที่พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว และยังคงต้องมาดำรงตำแหน่งพนักงานสอบสวนแบบเดิม ที่จะต้องทำการสอบแข่งขันเพื่อเลื่อนขั้นขึ้นไป