xs
xsm
sm
md
lg

“กี้ร์-อริสมันต์” รอดคุก ศาลเมตตาให้ประกันตัวชั่วคราว

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

 นายอริสมันต์ พงศ์เรืองรอง แกนนำ นปช.และจำเลยก่อการร้าย
ศาลสั่งจำคุก 1 ปี “กี้-อริสมันต์” หมิ่น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” กล่าวหาปล้นอำนาจ สั่งทหารฆ่าประชาชน หน่วงเหนี่ยวพระราชทานอภัยโทษ “ทักษิณ ชินวัตร” ให้ล่าช้า ศาลชี้พฤติการณ์พาดพิงสถาบันจึงไม่รอลงอาญา


ที่ห้องพิจารณา 803 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วันนี้ (3 ธ.ค.) ศาลอ่านคำพิพากษาคดีดำ อ.4177/2552 ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี เป็นโจทก์ฟ้องนายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 และ 332

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 และ 17 ต.ค. 2552 จำเลยได้ปราศรัยเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและทำเนียบรัฐบาล ต่อกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงซึ่งได้มีการถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์พีเพิล แชนเนล ทำให้เข้าใจประชาชนว่าโจทก์และรัฐบาลของโจทก์ทำให้องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรอมพระทัยทรงพระประชวร ซึ่งรัฐบาลโจทก์เอาประเทศชาติไปกู้เงินมาแล้วโกง โจทก์เป็นนายกรัฐมนตรีใจอำมหิต ปล้นอำนาจจากประชาชน สั่งให้ทหารสร้างสถานการณ์โดยใช้อาวุธสงครามฆ่าประชาชน โดยรัฐบาลโจทก์ยังทุจริตคอร์รัปชันหลายโครงการ เช่น โครงการชุมชนพอเพียง โครงการไทยเข้มแข็ง รถเมล์ NGV 4,000 คัน และโจทก์ยังเป็นผู้หน่วงเหนี่ยวคำร้องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งคำปราศรัยของจำเลยเป็นความเท็จทั้งสิ้น ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ซึ่งจำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ปราศรัยและกล่าวข้อความตามที่โจทก์ฟ้องและถอดเทปจริง ซึ่งถ้อยคำนั้นมีความหมายชัดเจนที่วิญญูชนได้ฟังแล้วย่อมเข้าใจว่าข้อความที่กล่าวนั้นเป็นจริง ขณะที่โจทก์เป็นพยานเบิกความว่า ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในโครงการต่างๆ และได้มีการยุติบางโครงการ เช่น รถเมล์ NGV 4,000 คัน ซึ่งแม้ว่าจำเลยจะเป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามและไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลโจทก์และจะมีสิทธิ์วิพากษ์วิจารณ์ตรวจสอบโจทก์ในฐานะนายกรัฐมนตรีที่ถือเป็นบุคคลสาธารณะ แต่การที่จำเลยนำเรื่องการทำงานของโจทก์มาปราศรัยเชื่อมโยงเข้ากับอาการพระประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยอาศัยช่วงเวลาขณะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระอาการประชวร มากล่าวโจมตีโจทก์ทั้งที่จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระทัยห่วงในทุกเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเมือง ไม่ใช่เฉพาะแค่กรณีโจทก์ ซึ่งการกระทำของจำเลยเป็นการยืนยันข้อเท็จจริงที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ โดยจำเลยเองก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น

ส่วนคลิปเสียงที่จำเลยอ้างว่า โจทก์สั่งฆ่าประชาชนนั้น แม้โจทก์จะยอมรับว่าเป็นเสียงของโจทก์จริง แต่คลิปนั้นมีการตัดต่อเสียงจากรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายอภิสิทธิ์ ซึ่งได้มีการตรวจพิสูจน์จาก หน่วยพิสูจน์หลักฐาน สตช. และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์แล้วเมื่อเดือน ก.ย. 2552 ก่อนที่จำเลยจะนำมากล่าวอ้างเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2552 ที่เป็นเวลาเกือบ 1 เดือน ไม่ใช่ทราบเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2553 ตามที่จำเลยอ้าง จึงแสดงให้เห็นว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าอาจจะมีการตัดต่อเสียง ซึ่งจำเลยเป็นถึงนักการเมืองสามารถตรวจสอบและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยง่าย จึงควรที่จะกลั่นกรองข้อมูลก่อนที่จะนำคลิปเสียงนั้นมาปราศรัย แต่จำเลยก็ไมได้ตรวจสอบให้ได้ความจริงก่อน จึงเป็นการส่อแสดงให้เห็นเจตนาไม่สุจริตของจำเลย ขณะที่การจัดตั้งรัฐบาลโจทก์ ก็ปรากฏว่าการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของโจทก์เป็นไปตามวิถีทางในระบอบประชาธิปไตยและหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญฯ เหมือนกับการดำรงตำแหน่งของนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดังนั้นการกล่าวปราศรัยของจำเลย จึงเป็นการใช้ถ้อยคำด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ซึ่งจำเลยก็ได้ตอบคำถามค้านของทนายความว่า เคยนำประชาชนเอาเลือดไปเทที่หน้าบ้านโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปลุกปั่น ยุยงให้ประชาชนที่ได้ฟังเกิดความเกลียดชังในตัวโจทก์ ไม่ยอมรับการเป็นนายกรัฐมนตรี จนมีการชุมนุมเรียกร้องให้โจทก์ลาออกจากตำแน่งหรือยุบสภา กระทั่งเหตุการณ์บานปลายจนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และเป็นการมุ่งหวังให้เกิดผลในทางการเมืองที่เป็นประโยชน์กับพรรคการเมืองของจำเลยเอง ไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต

จึงพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดหลายกรรม ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ให้จำคุกจำเลย 2 กระทงๆ 6 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน ซึ่งพฤติการณ์ของจำเลยมีการปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักของประชาชนไทย จึงไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาย่อใน นสพ.มติชน และเดลินิวส์ เป็นเวลา 7 วันติดต่อกันโดยให้จำเลย เป็นผู้ชำระค่าโฆษณา

ภายหลังทนายความได้นำหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อไป ล่าสุดศาลอาญาได้พิจารณาแล้ว จึงอนุญาตให้ประกัน โดยตีราคาหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น