xs
xsm
sm
md
lg

ปคม.เปิดโครงการต้านค้ามนุษย์ในเรือประมง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ปคม.รณรงค์เรื่องกฎหมายค้ามนุษย์ร่วมกับผู้ประกอบการเรือประมงร่วม 100 ราย
ปคม.เปิดโครงการป้องกันและปราบปรามการการค้ามนุษย์รูปแบบหลอกลวงแรงงานในมหาชัย‏

วันนี้ (21 พ.ย.) ที่สถานีตำรวจน้ำสมุทรสาคร อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อเวลา 08.00 น. พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตต์ ที่ปรึกษา สบ 10 เป็นประธานพิธีเปิดโครงการป้องกันและปราบปรามการการค้ามนุษย์รูปแบบหลอกลวงแรงงานไปบังคับใช้ในเรือประมง โดยมี พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ ผบก.ปคม. พ.ต.อ.ประคัลภ์ แสงส่องฟ้า รอง ผบก.ปคม. พ.ต.อ.วรพงษ์ ทองไพบูลย์ รอง ผบก.ปคม. พ.ต.อ.สิทธิชัย ลีลาสวัสดิ์ ผกก.5 บก.ปคม. และผู้ประกอบการธุรกิจเรือประมงใน จ.สมุทรสาครกว่า 100 คนเข้าร่วมด้วย


จากนั้น พล.ต.อ.ชัชวาลย์ได้ทำพิธีปล่อยแถวเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจสอบเรือประมงต่างๆ ตามท่าเรือ และสะพานปลา โดยมีการประชาสัมพันธ์ให้แรงงานทราบว่าหากไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนายจ้างหรือถูกบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสก็สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ที่หมายเลข 1191 ได้ตลอดเวลา

พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติสั่งการให้เร่งปราบปรามอาชญากรรมเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ข้ามชาติ ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความเป็นสำคัญอย่างยิ่งเพราะถือว่าเป็นการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง โดยทาง ปคม.ได้จัดโครงการดังกล่าวขึ้น ซึ่งไม่ได้มุ่งเน้นการจับกุม แต่เป็นการมาขอความร่วมมือผู้ประกอบการธุรกิจประมง ให้ช่วยสอดส่องดูแล ผู้ประกอบการบางรายที่อาจะมีการหลอกลวงแรงงานต่างด้าว มาบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาส นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ทางสหรัฐอเมริกาได้สั่งห้ามนำเข้ากุ้งและอาหารทะเล จากประเทศไทย เพราะมีรายงานว่าไทยมีการใช้แรงงานเด็กและกดขี่แรงงาน จึงมาขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ตรวจสอบไต้ก๋ง ซึ่งหากพบว่ามีการรับแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่นายหน้านำมาหลอกขายให้ทำงานในเรือประมง ก็ขอให้แจ้งเบาะแสกับทางเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา

พล.ต.อ.ชัชวาลย์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากทางสหรัฐอเมริกาไม่รับซื้ออาหารทะเลของไทยเนื่องจากตรวจสอบพบว่ามีการใช้แรงงานเด็กและบังคับใช้แรงงานเยี่ยงทาสแล้ว ก็ไม่รู้ว่าผู้ประกอบการจะนำสินค้าไปขายที่ไหน เพราะแต่ละปีประเทศไทยส่งออกอาหารทะเลจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล‏ นอกจากนี้ ทางรัฐบาลจะมีการติดต่อแรงงานระหว่างรัฐต่อรัฐ เบื้องต้น น่าจะเป็น ประเทศบังคลาเทศ เวียดนาม และประเทศเพื่อนบ้านบางส่วน ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาแรงงานประมงที่ขาดแคลนได้

นายศาวงษ์ จุ้ยเจริญ ประธานชมรมอวนดำสมุทรสาคร กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวส่วนใหญ่แรงเกือบทั้งหมดที่ทำงานด้านประมง เป็นแรงงานผิดกฎหมาย เนื่องจากอุตสาหกรรมประมง ในจังหวัดสมุทรสาครยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และไม่ได้รับความสนใจจากแรงงานไทย แต่ยืนยันว่าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานส่วนใหญ่ เป็นแรงงานที่มาสมัครทำงานเอง ผู้ประกอบการเรือประมง ไม่ได้บังคับ ขู่เข็ญ และไม่ผ่านคนกลาง โดยเรือประมงในพื้นที่ก็จะเป็นลักษณะออกเรือตอนเช้าแล้วกลับเข้าฝั่งในตอนเย็น นอกจากนี้หากแรงงานคนใดต้องการจะขาด หรือจะลาออกก็สามารถทำได้ โดยไม่ได้มีการหน่วงเหนี่ยวกักขังไว้แต่อย่างใด

ด้าน นายกำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า ได้มีการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมตั้งศูนย์แก้ปัญหาแรงงานในภาคประมง โดยมีจังหวัดนำร่อง 7 จังหวัด ฝั่งอ่าวไทย 5 จังหวัด คือ ตราด ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลา และฝั่งอันดามัน 2 จังหวัด จ.สตูล จ.ระนอง โดยให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวในด้านการประมง ให้ความช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาปัญหาแรงงานในเรือประมง พร้อมทั้งเป็นการตัดวงจรการค้ามนุษย์ไปในตัวด้วย โดยศูนย์แก้ปัญหาแรงงานในภาคประมง จะเร่งดำเนินการผลักดันให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้

ส่วน นายสุวรรณ์ ดวงตา จัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมีนโยบายให้มีการจ้างแรงงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้แรงงานจังหวัดเร่งกวดขันจับกุมนายจ้างที่จ้างแรงงานต่างด้าวแบบผิดกฎหมาย จากนั้นให้ดำเนินการส่งแรงงานต่างด้าวกลับประเทศ ก่อนที่จะให้แรงงานนั้นๆ แล้วกลับเข้ามาในประเทศอย่างเป็นระบบ ด้วยการทำพาสปอร์ตและขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย


กำลังโหลดความคิดเห็น