xs
xsm
sm
md
lg

บช.ก.ติดเขี้ยวเล็บอบรมเทคนิคสืบสวนสมัยใหม่ครั้งแรกในไทย

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

บช.ก.จัดอบรมเทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่ครั้งแรกในประเทศไทย
พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) จัดหลักสูตรฝึกอบรมเทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้ตำรวจในสังกัด โดยมีการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing Officers) จำนวน 750 นายเข้าอบรม ซึ่งรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่ 2 ของ บช.ก.

อาชญากรมักนำหน้าตำรวจหนึ่งก้าวเสมอ คำกล่าวเสียดสีลักษณะนี้จะเป็นจริงก็ต่อเมื่อผู้พิทักษ์สันติราษฎร์หยุดการพัฒนาทักษะและเรียนรู้การสืบสวนสมัยใหม่เท่านั้น ยิ่งในยุคปัจจุบันนี้พบว่าลักษณะการก่ออาชญกรรมของคนร้ายนั้นเต็มไปด้วยความสลับซับซ้อนซ่อนเงื่อน จำเป็นที่ตำรวจยุคใหม่จะต้องมีความรู้เท่าทันกับพวกเหล่าร้าย

ด้วยเล็งเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) จึงได้จัดหลักสูตรฝึกอบรมเทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้ตำรวจในสังกัด โดยมีการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เคยผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรตำรวจผู้รับใช้ชุมชน (Community Policing Officers) จำนวน 750 นายเข้าอบรม ซึ่งรุ่นนี้ถือเป็นรุ่นที่ 2 ของ บช.ก.

พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์กล่าวถึงที่มาของหลักสูตรการอบรมดังกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่าปัญหาในการสืบสวนของตำรวจไทยนั้นมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขโดยด่วน เช่น ปัญหาการจับผิดตัว ปัญหาการสืบสวนค้นหาความจริง ซึ่งนำไปสู่การจับกุมผู้ต้องหาสำคัญซึ่งเป็นตัวการใหญ่ไม่ได้ เป็นต้น จากนั้จึงรวบรวมเทคนิคการสืบสวนสมัยใหม่ โดยร่วมกับทีมงานซึ่งเป็นตำรวจฝีมือดีจากต่างประเทศ นำเทคนิควิธีการสืบสวนสมัยใหม่มาทำเป็นหลักสูตรการฝึกอบรม ให้แก่ข้าราชการตำรวจในสังกัด บช.ก.

ส่วนเนื้อหาวิชาว่าด้วยการสืบสวนสมัยใหม่นั้น พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์บอกว่า ได้แบ่งเป็น 15 วิชาด้วยกัน เช่น การใช้วิชาการตำรวจสมัยใหม่ 5 ทฤษฎี 1 หลักการ, วิทยาศาสตร์ประยุกต์, การสืบสวนเชิงรุก, การจัดการด้านข้อมูลอาชญากรรม , ประเภทของคนร้าย, ภูมิศาสตร์อาชญากรรม, การบูรณาการและการรักษาสถานที่เกิดเหตุ, แผนประทุษกรรมและลายเซ็นอาชญากร, การสังเกตการณ์และการสะกดรอยติดตาม, การอำพราง, การวิเคราะห์พฤติกรรม, ผลวิจัยในงานตำรวจ และความรู้เรื่องเหยื่อวิทยา วิธีการล่าเหยื่อของมนุษย์ (Inside Criminal Mine) ซึ่งตำรวจควรต้องรู้ว่ามนุษย์มีธรรมชาติในการล่าเหยื่ออย่างไร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในวงการตำรวจไทยที่มีการสอนวิชาการสืบสวนสมัยใหม่นี้

พล.ต.ท.พงษ์พัฒน์บอกด้วยว่า หลักสูตรการฝึกอบรมครั้งนี้ต้องการให้ความรู้ใหม่ๆกับตำรวจ หลังตนได้ทำงานกับตำรวจประเทศต่างๆ มากมาย ได้พบเห็นเทคนิคการทำงานที่ดีและมีคุณภาพ เห็นว่าสามารถนำมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานสืบสวนให้แก่ตำรวจไทยได้ จึงรวบรวมมาเป็นหลักสูตรการฝึกอบรม เช่น การวิจัยเกี่ยวกับงานตำรวจ ซึ่งพบว่า คนร้ายจะกลัวการทักทายมากกว่ากล้องวงจรปิด การใช้รถยนต์สุ่มตระเวนตรวจไม่มีผลต่อการลดอาชญากรรม ,การศึกษาพฤติกรรมมนุษย์, ภูมิศาสตร์อาชญากรรม, ลายเซ็นอาชญากร, การบูรณาการที่เกิดเหตุ , ความรู้เกี่ยวกับคนร้าย ซึ่งตำรวจควรต้องรู้ว่าคนร้ายมี 4 ประเภท คือ 1. คนร้ายปกติทั่วไป 2. คนร้ายที่ผิดปกติทางจิต (Serial Killer) 3.คนร้ายที่ผิดปกติทางอารมณ์(Spree Killer) และ 4. คนร้ายสติแตก (Mass Murder)

“เมื่อตำรวจมีความรู้ในเรื่องในเรื่องเทคนิคการสืบสวนต่างๆแล้วจะสามารถทำการสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุตัวจริงได้ โดยไม่หลงทิศหลงทางไปจับเอาแพะเหมือนที่เคยเป็นข่าว” ผบช.ก.กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น