ทนายความคนเก็บขยะ กทม.เตรียมยื่นฎีกาสู้คดีขายซีดีเก่าในประเด็นข้อกฎหมาย รวมถึงเรื่องดุลพินิจการลงโทษ เพื่อขอรอการกำหนดโทษ ขณะเดียวกันฟ้องศาลปกครองในประเด็นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่กรณีตำรวจสับเปลี่ยนของกลาง
ที่ศาลอาญา วันนี้ (11 ก.ค.) นายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา พนักงานเก็บขยะ กทม. จำเลยข้อหาเก็บแผ่นซีดีเก่ามาขายโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ 2551 ที่ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ปรับ 2 แสนบาท เดินทางมาพร้อมนางส้มโอ ภรรยา กับ ด.ญ.สุกลดา อายุ 3 ขวบ ลูกสาวคนเล็กเรียนชั้นอนุบาล 3 ซึ่งป่วยเป็นโรคไข้ตัวร้อน และนายภิญโญภัทร ชิดตะวัน ทนายความ เข้าพบนายประยุทธ ศิริล้น ผอ.สำนักอำนวยการศาลฎีกา เพื่อขอคัดสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และขอเปลี่ยนหลักทรัพย์ประกันตัวจากเงินส่วนตัวของทนายความ มาเป็นเงินจากกองทุนยุติธรรม กรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม โดยนายประยุทธรับเรื่องแล้วเสนอศาลเพื่อพิจารณามีคำสั่งต่อไป
นายภิญโญภัทร ชิดตะวัน กล่าวว่า ตนเป็นเพียงทนายความในสำนักงานเล็กๆ ที่รับคดีนี้เพราะนางทองใบ อารีรอด แม่ของนายสุรัตน์เป็นแม่ค้าหาบเร่แผงลอยหน้าสำนักงาน เดินขึ้นมาขอความช่วยเหลือ หัวหน้าสำนักงานก็ส่งคดีนี้ให้ตนทำ โดยที่ตนเป็นทนายความเพิ่งได้รับใบอนุญาตว่าความ จึงมีข้อบกพร่องในการดำเนินคดีบ้าง และตนเป็นห่วงลูกความจะถูกขังจึงเอาเงินส่วนตัวสำรองประกันตัวให้ โดยเกรงว่าจะถูกมองว่าทนายความทำผิดหน้าที่ที่เอาเงินไปประกันตัวให้ลูกความ ซึ่งในวันนี้ทางกระทรวงยุติธรรมได้นำหลักทรัพย์ใหม่มาสลับแทนที่แล้ว
นายภิญโญภัทรกล่าวต่อว่า คดีนี้ตนจะดำเนินการเป็น 2 ทาง หนึ่งจะฎีกาในคดีอาญา ในประเด็นปัญหาข้อกฎหมายว่า มาตรา 64 กฎหมายอาญา ที่ระบุว่าบุคคลจะแก้ตัวว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ แม้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ออกบังคับใช้และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว และกฎกระทรวงซึ่งเป็นกฎหมายลูก ที่เป็นบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวันเวลาที่ประกาศใช้นั้น ซึ่งจำเลยไม่รู้ว่ามีกฎหมายฉบับนี้ เพราะจำเลยเป็นคนเก็บขยะไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย และจะฎีกาเรื่องดุลพินิจการลงโทษ เพื่อขอรอการกำหนดโทษก็ได้
นายภิญโญภัทรกล่าวว่า ขณะเดียวกันตนจะยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง ในประเด็นความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ กรณีตำรวจชุดจับกุมได้ละเมิดนายสุรัตน์ด้วยการสับเปลี่ยนของกลาง โดยนายสุรัตน์ยืนยันว่าของกลางซีดีแผ่นใหม่ไม่ใช่ของเขา แต่เกิดจากการสับเปลี่ยน หากศาลปกครองฟังว่าเป็นการละเมิดจริง สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
ทนายความยังกล่าวอีกว่า คดีนี้เป็นช่องโหว่ของกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา134/2 ที่ว่าในคดีโทษจำคุกก่อนตำรวจจะสอบสวน ให้แจ้งสิทธิแก่ผู้ต้องหาก่อนว่าต้องการทนายความหรือไม่ ถ้าต้องการเจ้าหน้าที่จึงจัดหาทนายให้ฟรี แต่คดีนี้เป็นคดีมีโทษปรับ จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับความช่วยเหลือด้านทนายความอย่างมาตรา 134/2 ดังนั้น นายสุรัตน์จึงจำต้องยอมรับหลักฐานพยานแผ่นซีดีว่าเป็นของตน ทั้งที่ไม่ใช่ของเขา
ด้าน นายสุรัตน์กล่าวว่า ตนถูกตำรวจสับเปลี่ยนของกลางจริง เพราะเดิมของกลางเป็นแผ่นซีดีภาพยนตร์เก่า ต่อมาตนนำความไปร้องคอลัมน์ “เพลิงมรกต” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 10 ก.ย. 2552 ทำให้ตำรวจเดือดร้อน จึงมีการติดต่อให้ตนไปพบเพื่อเคลียร์คดี ให้ช่วยพูดกับผู้บังคับบัญชาว่าข้อความที่ลงในคอลัมน์เพลิงมรกตเป็นความเท็จ แต่ตนไม่ยอม นอกจากนี้ ตำรวจยังให้ตนเซ็นรับรองของกลางเป็นแผ่นซีดีใหม่ ตนถูกหว่านล้อมและกดดันจึงยอมลงชื่อ แต่เพิ่งมารู้ว่าการยอมรับหลักฐานดังกล่าว ได้ส่งผลร้ายกับตนเมื่อศาลอุทธรณ์นำมาพิจารณาเป็นประเด็นว่าตนไม่ปฏิเสธของกลางตามหมาย จ.7 ซึ่งตนรู้สึกเสียใจ และต้องขอโทษทนายความที่ทำให้เขาต้องลำบากซักค้านพยานโจทก์ให้ และต้องมาแพ้คดี คดีนี้ทำให้นางทองใบ มารดาต้องเครียดจนล้มป่วยเป็นอัมมพาต ส่วนลูกสาวคนโตชื่อ ด.ญ.จันทิมา หรือน้องเนย ก็ป่วยเป็นเนื้องอกในกระพุกแก้ม กำลังรักษาตัวอยู่ มีค่ารักษาจำนวนมาก แต่ตนก็สู้เพราะกรุงเทพมหานครเพิ่งปรับเงินเดือนให้จาก 9,900 บาท เป็น 10,600 บาท
“การต่อสู้คดีในศาล ผมอยากให้มีการตรวจพิสูจน์ลายนิ้วมือในแผ่นซีดีของกลาง เพราะผมไม่ได้จับแผ่นดังกล่าวเลย ถ้ามีผมยินดีให้ลงโทษ แต่ถ้าไม่มีลายนิ้วมือผม ตำรวจก็ต้องรับผิด” นายสุรัตน์กล่าว
ด้าน นายเกรียงศักดิ์ วรมงคลชัย อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ และโฆษกสภาทนายความ แถลงว่า ตามที่สภาทนายความได้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่นายสุรัตน์ มณีนพรัตน์สุดา พนักงานเก็บขยะ กทม. ที่ถูกพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาโดยพิพากษาลงโทษปรับ 133,400 บาทนั้น ในเรื่องนี้คดียังไม่ถึงที่สุด นายสุรัตน์ยังมีสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาอีกครั้ง ซึ่งสภาทนายความจะได้ดำเนินการยื่นฎีกาต่อไป เนื่องจากเห็นว่า ในบางประเด็นที่ได้มีการยื่นอุทธรณ์นั้น มีความเกี่ยวข้องกับความสงบสุขและความเรียบร้อยของสังคม ซึ่งผลจากการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 นั้นไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้สุจริตโดยทั่วไป ทั้งนี้จะได้เป็นบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดถ่ายเอกสารเพื่อเตรียมยื่นฎีกาต่อไป